เวลาบอกลูกให้ทำอะไรแล้วลูกไม่ยอมทำตาม พ่อแม่อาจมองว่าลูกเป็นเด็กขี้เกียจ แล้วทำให้หงุดหงิดลูกไปเลย จริงๆ ที่ลูกไม่ยอมทำตาม ไม่ได้แปลว่าลูกขี้เกียจ แต่เป็นพัฒนาการตามวัย เป็นพฤติกรรมปกติที่เจอได้ในวัย 3-6 ปีค่ะ
แต่ว่าถ้าปล่อยให้ลูกเป็นเด็กขี้เกียจจนเคยตัว นานวันเข้าอาจทำให้ลูกเป็นเด็กขี้เกียจจริงๆ ก็ได้ เรามาหาทางแก้ไขกันเถอะค่ะ
1. ใจเย็น ตั้งสติ มองข้ามท่าทีที่ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ต้องสนใจกับคำว่า “ไม่” หรือพฤติกรรมที่ลูกทำ แต่จัดการด้วยท่าทีที่สงบ เช่น เมื่อบอกให้ลูกไปอาบน้ำ แต่ลูกตอบกลับมาว่า“ไม่” พ่อแม่ควรบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูไม่อยากอาบน้ำ แต่ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ถ้าอาบน้ำเสร็จเราค่อยมาเล่นต่อนะคะ” ทำเช่นนี้ ลูกจะรู้สึกว่าเราเคารพในความรู้สึกของเขา ขณะเดียวกันพ่อแม่ยังคงยืนหยัดในสิ่งที่ลูกต้องทำได้ด้วย
2. ทำให้เป็นเรื่องสนุก ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร ควรเน้นให้ลูกรู้สึกสนุก หรืออยากทำด้วยตัวเองก่อนบังคับ เช่น แม่อาจจะพูดว่า “เรามาเล่นเกมแข่งเก็บของเล่นดีกว่า ดูซิว่าใครจะเก็บของเล่นได้เก่งที่สุด” ควรพูดด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เชื้อเชิญดูน่าสนใจ น่าสนุก การพูดเพียงเท่านี้เด็กก็ยอมทำแล้ว เพราะเขาเห็นว่าเป็นการเล่น ไม่ใช่เป็นกิจกรรมน่าเบื่อที่ต้องทำตามผู้ใหญ่สั่ง
3. เตือนล่วงหน้า หรือตกลงกันก่อน การที่ลูกกำลังทำอะไรที่สนุกอยู่ แล้วพ่อแม่บอกให้หยุดทันที ลูกคงรู้สึกไม่พอใจ ดังนั้นถ้าสามารถเตือนหรือบอกล่วงหน้าก่อนได้ ควรบอกก่อน อาจจะเตือนล่วงหน้าเล็กน้อย ประมาณ 5 นาที และ 3 นาทีก่อนถึงเวลา เพื่อให้ลูกเตรียมใจ แต่ไม่ควรเตือนเกิน 3 ครั้ง เพราะการเตือนที่เกินกว่านี้ อาจทำให้พ่อแม่เริ่มหงุดหงิดแทน และลูกก็คิดว่าเราไม่เอาจริงด้วย
4. เข้าถึงตัวลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่ มักใช้วิธีบอกให้ลูกทำโดยพูดเพียงอย่างเดียว ซึ่งลูกมักไม่ยอมทำตาม จนสุดท้ายต้องขึ้นเสียงหรือทะเลาะกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่งในเด็กเล็กอายุ 2-3 ปี ยังไม่สนใจกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ ดังนั้นขณะที่บอก ลูกอาจไม่ได้สนใจคำพูดของเรา
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิด ถ้าไม่ลุกไปทำทันที อาจเพราะรู้สึกว่ากำลังได้ต่อเวลา หรือยืดระยะเวลาที่ต้องไปทำตามที่เราบอก และเมื่อพ่อแม่จบด้วยการโมโห ลูกอาจไม่ต้องทำสิ่งนั้นก็ได้ เพราะผู้ใหญ่มักจะตัดรำคาญโดยการทำเอง
ดังนั้นวิธีที่จะช่วยได้ก็คือ เข้าถึงตัวและจับมือทำเลย เช่น ถ้าจะให้ไปอาบน้ำก็จับมือจูงไปอาบ หรือถ้าจะให้เก็บของเล่นก็จับมือลูกนำเก็บก่อน บางครั้งเมื่อเราเริ่มนำจับมือเก็บของเล่นไปสัก 2-3 ชิ้น ลูกก็จะเริ่มเก็บเองได้
5. ใช้สิ่งล่อใจ พ่อแม่อาจหาอะไรมาเป็นสิ่งล่อใจเล็กๆ น้อยๆ เช่น บอกลูกว่า “ถ้าหนูช่วยเก็บของเล่นจนเสร็จเราจะได้ไปปั่นจักรยานด้วยกัน” หรืออาจให้รางวัลเป็นสติ๊กเกอร์ หรือดาวก็ได้ รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถึงแม้มูลค่าไม่มาก แต่ได้ผลทางใจกับลูกมากเลยทีเดียว
6. เมื่อทำดีก็ต้องชม เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดีด้วยตัวเอง เช่น เล่นของเล่นแล้วเก็บเข้าที่โดยที่ไม่ต้องบอก อย่าลืมชมลูกด้วยเพื่อลูกจะได้มีกำลังใจ
7. ให้ลูกมีตัวเลือก วัยนี้ไม่ชอบถูกบังคับ พ่อแม่อาจไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมที่ต้องทำ แต่ให้ตัวเลือกที่ลูกเลือกได้แทน เช่น เมื่อจะบอกให้อาบน้ำ บอกว่า “ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว หนูจะเอาของเล่นอะไรไปเล่นดี ระหว่าง...กับ...” การบอกแบบนี้บางครั้งลูกจะลืมไปเลยว่าไม่อยากอาบน้ำ เพราะมัวแต่สนใจเลือกของเล่นแทนและยอมไปอาบน้ำแต่โดยดี การให้ตัวเลือกควรเป็นอะไรที่มั่นใจว่าจะให้ลูกได้ เรื่องที่ไม่อาจให้เลือกได้ไม่ควรถาม เช่น ไม่ควรถามว่า “หนูจะไปอาบน้ำหรือยัง” เพราะลูกจะรู้สึกว่าเลือกที่จะยังไม่อาบก็ได้
8. การลงโทษ สุดท้ายถ้าลูกไม่ยอมทำตามจริงๆ คงต้องมีการลงโทษที่เหมาะสมตามวัย แต่ต้องไม่ใช่การตีหรือใช้ความรุนแรงค่ะ เช่น งดเล่นของเล่น งดดูการ์ตูน เป็นต้น
การพูดบอกให้ลูกทำอะไร ควรเป็นเพียงการบอกไม่ใช่การบังคับ จะทำให้ลูกรู้สึกดีกว่า และร่วมมือมากขึ้น รวมถึงท่าทีของพ่อแม่ต้องให้ความสนใจลูกจริงๆ ลูกจะได้รู้ว่าเราต้องการให้เขาทำจริงๆ
ถ้าลูกไม่ยอมทำตามสิ่งที่พ่อแม่บอก อย่าปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้ผ่านไป เพราะยิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งแก้ไขยากมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกขาดระเบียบวินัย พ่อแม่ก็จะหงุดหงิดง่าย ควบคุมลูกไม่ได้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ยอมทำอะไรจริงๆ