สมดุลของร่างกายก็คือ การที่คนเราสามารถยืน นั่ง เคลื่อนไหว ได้อย่างเป็นปกติ ไม่ล้มไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงการที่เราสามารถทรงตัวอยู่ได้ด้วยขาเดียว เดินขึ้นบันได กระโดดโลดเต้น สิ่งเหล่านี้คือความสมดุลของร่างกายที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนมาตั้งแต่ยังเด็กนั่นเอง
ความสมดุลของอวัยวะ
ความสมดุลของคนเราเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อลำตัว รวมไปถึงหูชั้นในซึ่งเชื่อมโยงกับการทรงตัว (อย่างที่เคยได้ยินว่าน้ำในหูไม่เท่ากันก็อาจจะส่งผลทรงตัว) นอกจากนี้สมองก็เป็นส่วนสำคัญ สมองบริเวณท้ายทอยระหว่างซีรีบรัม คอร์เท็กซ์ กับเบรนสเต็ม ทำหน้าที่ควบคุมช่วยให้กล้ามเนื้อสัมพันธ์เมื่อเคลื่นไหว แล้วยังช่วยเกี่ยวกับการรับรู้และจดจำตำแหน่งสถานที่ การเคลื่อนไหว การทรงตัว และการรักษาสมดุลของร่างกาย ซึ่งทั้งหมดต้องทำหน้าที่สอดประสานกันถึงจะเรียกว่าสมดุล
พัฒนาการสร้างความสมดุลนั้นเริ่มตั้งแต่ในท้องเลยค่ะ การที่เจ้าหนูเตะหรือกลับตัวในท้องถือเป็นการฝึกความสมดุลอย่างหนึ่ง หลังคลอดพัฒนาการความสมดุลก็จะเห็นได้ชัดขึ้น เริ่มตั้งแต่ชันคอ พยายามตั้งศีรษะให้ได้ จากนั้นเจ้าหนูก็จะพยายามตั้งลำตัวให้ตรงเพื่อที่จะนั่งได้ แล้วยิ่งเข้าสู่วัยเตาะแตะอย่างนี้ สมดุลของขาก็จะตามมาจากการเริ่มยืนตั้งไข่ ฝึกเดิน การย่งโย่ยงย่ก หรือปีนป่ายนี่ล่ะนั่นล่ะถือเป็นการฝึกวิทยายุทธเพื่อค้นหาความสมดุลและฝึกฝนให้ตัวเอง แต่ไม่เฉพาะกล้ามเนื้อเหล่านี้เท่านั้นนะคะ พัฒนาการทางสายตาและมือก็ต้องสัมพันธ์กันด้วย ถึงจะเรียกว่าสมดุลอย่างแท้จริง
สนุกนี้...ช่วยสร้างสมดุล
1. ขยับกายสบายชีวี
การกระโดดโลดเต้น ไปตามเสียงเพลง จะช่วยให้ร่างกายได้ฝึกการทรงตัว ขณะที่เรากระโดดหรือจะขยับเอียงซ้ายไปขวา ร่างกายจะต้องพยายามทรงตัวให้ยืนด้วยสองขาให้ได้ หมั่นฝึกร่างกายก็จะทรงตัวได้ดีขึ้น แถมยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่อีกด้วย
Be Balance
กระโดดขึ้นลงไปมา ขณะลงนี่ล่ะเจ้าหนูต้องพยายามทรงตัวยืนให้ได้ ถือเป็นการฝึกฝนให้ทรงตัวขณะเคลื่อนไหวดีทีเดียว แถมการยังช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่า มิดเบรน (Mid brain) แล้วยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก แล้วขณะเคลื่อนไหวร่างกายนี่ล่ะวงจรไฟฟ้าในสมองเบ่งบานดีเชียว
2. โยคะ
ท่าโยคะง่ายๆ เช่น ท่าต้นไม้ ท่ากระต่าย ท่างู จะช่วยฝึกเรื่องการทรงตัว ไม่ต้องเข้าคอร์ส แบบจริงจัง รู้ท่าแล้วก็แข่งกันดูสิว่าใครยืนได้นานที่สุด หรือจะเล่นแปลงกายเป็นงู พ่อแม่ลูกจะได้ไม่เบื่อไงคะ
Be Balance
การยืนขาเดียวร่างกายด้านบนจะต้องพยายามทรงตัว เพื่อให้ยืนขาเดียวได้ซึ่งต้องอาศัยทั้งร่างกายส่วนบนและร่างกายส่วนล่าง วิธีนี้เป็นการเช็กว่าลูกมีน้ำในหูเท่ากันหรือเปล่า แล้วท่าโยคะช่วยกระตุ้นต่อมไทรอยด์เพื่อหลั่ง Growth Hormone ฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงกับการเจริญเติบโตของเด็ก
3. เจ้าหนูไต่ราว
หาเชือกหรือไม้กระดานมาวางให้เจ้าหนูไต่ไปตามกระดานไม้ หรือใช้เชือกเส้นยาวให้เจ้าหนูเดินก้าวไขว้เท้าขวาสลับไปซ้ายของเชือก เท้าซ้ายสลับมาด้านขวาของเชือก ให้เจ้าหนูเดินไปจนสุดปลายทางของเชือก
Be Balance
เท้าซ้ายขวาที่เดินสลับกันไปมาจะช่วยให้สมองซีกซ้าย-ขวาได้ฝึกการทำงานให้ประสานงานกัน
4. ลากๆ จูงๆ
เป็นการบาลานซ์ผ่านของเล่นลากจูง เช่น รถลาก หุ่นยนต์ จักรยานสามล้อ นอกจากจะสนุกยังช่วยให้ให้เจ้าหนูได้เรียนรู้เรื่องสมดุลผ่านการควมคุมทิศทางด้วย
Be Balance
ถึงแม้จักรยานหรือรถลากจะมีล้อแต่ก็ต้องอาศัยการบังคับให้เป็นไปในทิศทางตามที่ต้องการ ซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์ของสายตา มือ แขน และขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลให้กับร่างกาย
การฝึกฝนเรื่องทรงตัวสำหรับวัยนี้สำคัญค่ะเพราะเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มต้นของการเดิน หากคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลและเปิดโอกาสให้ได้ทำอย่างสม่ำเสมอ อีกไม่นานนักจากมือใหม่หัดทรงตัวก็จะกลายเป็นมือโปรสุดคล่องในที่สุดค่ะ
Concern
- สำหรับหนูๆ ที่ยังควบคุมร่างกายได้ไม่เก่ง คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยระวังเรื่องอุบัติเหตุมากเป็นพิเศษ รวมถึงหาวิธีป้องกันเสริม เช่น การปูพื้นยางนิ่มๆ ลดแรงกระแทกในจุดที่ลูกเล่น การป้องกันมุมโต๊ะที่แหลมคม เป็นต้น
- หากเห็นว่าลูกมีปัญหาเรื่องการทรงตัว ควรพาไปพบคุณหมอพัฒนาการเพื่อแก้ไขและกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม