รู้จัก Asperger syndrome
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจ และมีวิธีสังเกตอาการที่ปรากฏของแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม อย่างถูกต้อง นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ซึ่งใกล้ชิดและดูแลผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์มาตลอด มีคำแนะนำค่ะ
แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เป็นความบกพร่องของพัฒนาการ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกรูปแบบหนึ่ง โดยบกพร่องทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกหมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการเรียน การทำงานและการเข้าสังคม เขาสามารถพูดคุยสื่อสารปกติ แต่จะไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน มุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ
อาการที่คล้ายๆ ออทิสติก (อยู่ในกลุ่มการวิจัยโรคที่เรียกว่า PDDs เหมือนกัน) แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเกียว คือพัฒนาการด้านภาษาจะดีกว่าออทิสติก และจะมีระดับสติปัญญาปกติหรือสูงกว่าปกติ ปัจจุบันเปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ ออทิสติก และพีดีดีอื่นๆ รวมกันประมาณ 1:1,000 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น พบว่ามีการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติ แต่บอกไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด แม้ว่ามีงานวิจัยหลายชิ้น แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แนวโน้มปัจจุบันเชื่อว่าเกิดความบกพร่องของสาร พันธุกรรม ซึ่งความผิดปกติทางพันธุกรรมก็ยังบอกไม่ได้อีกเหมือนกันว่าเกิดจากการถ่าย ทอดจากรุ่นต่อรุ่นค่อยๆ สะสมความผิดปกติมาจนแสดงออกในรุ่นหนึ่งหรือว่าเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่ง ยังต้องศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่งครับ
สังเกตพฤติกรรมลูกเป็น แอสเพอร์เกอร์ (Asperger syndrome) หรือไม่
เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ จะมีความบกพร่องของพัฒนาการทางสังคม
ปกติเวลาที่พบเจอกันก็จะมีการทักทายกัน มีการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะเข้าเรื่อง แต่สำหรับคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไร ก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการทักทาย ไม่มีการเกริ่นนำ จะถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา
การพูดจาหรือการทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น เวลาเขาเห็นอะไรหรือรู้สึกอะไร อยากได้อะไร เขาก็จะบอกตางๆ ซึ่งในบางสถานการณ์อาจจะไม่เหมาะสม อาจจะทำให้คนอื่นเกิดความไม่พอใจ เช่น เด็กคนหนึ่งอยู่โรงเรียน เห็นแม่คนหนึ่งกำลังดุลูก เขาก็จะเข้าไปบอกทันทีว่า ไม่ควรดุลูกนะ คุณแม่ควรพูดจาเพราะๆ กับลูก ก็อาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่พอใจได้ หรือกินข้าวร้านนี้แล้วมันไม่อร่อย เวลาเดินผ่านก็จะพูดดังๆ ขึ้นมาตรงนั้นเลยว่า "ข้าวร้านนี้ไม่อร่อย" ซึ่งถามว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือเปล่า ก็ถูกในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมของความรู้สึกของเขา แต่ไม่เหมาะสมในแง่มุมความรู้สึกของคนอื่น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ คือคนรอบข้างไม่เข้าใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ เพราะมักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ทำให้เด็กไม่รู้กาละเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่พยายามสอนเต็มที่ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์
คน รอบข้างไม่เข้าใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มักจะถูกตำหนิ คนอื่นจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่บอก ทำให้เด็กไม่รู้กาลเทศะ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็พยายามสอน แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวเด็กด้วยว่าเขาไม่เข้าใจ
แอสเพอร์เกอร์กับออทิสติก แตกต่างกันอย่างไรคะ
อาจจะมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่จุดที่แตกต่างกันคือเรื่องของภาษา ถ้าเป็นออทิสติกจะมีปัญหาด้านภาษาที่ชัดเจนกว่า คือ พูดช้า พูดไม่ชัด พูดเป็นภาษาของตัวเองมาก แต่แอสเพอร์เกอร์พัฒนาการด้านภาษาจะปกติ พูดคุยสื่อสารได้รู้เรื่อง เพียงแต่ลูกเล่นของภาษาที่มีปัญหา จะไม่เข้าใจความหมายลึกๆ ที่แฝงอยู่ ไม่เข้าใจนัยของภาษา เช่น ไม่เข้าใจมุกตลก คำเปรียบเทียบ ประชดประชันต่างๆ จะเข้าในลักษณะตรงไปตรงมาตามตัวอักษร ไม่มีสีสันของภาษา ไม่มีลูกเล่นของคำ แต่ก็จะมีบางอย่างที่ลักษณะคล้ายๆ กับออทิสติก เช่น เรื่องการไม่ค่อยสบตา ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว เข้ากับเพื่อนไม่ได้เวลาพูดก็จะพูกเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่ได้สังเกตดูว่าคนที่ฟังอยู่นั้นจะสนใจหรือเปล่า คือเขาจะมีลักษณะที่ไม่ระวังในเรื่องของทักษะทางสังคมซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพราะว่าเขาไม่เข้าใจ แต่ในด้านของสติปัญญา เด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์นั้นจะมีสติปัญญาในระดับปกติหรือสูงกว่าปกตินะครับ
หากลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ มีวิธีแก้ไขอย่างไร
ทุกคนในครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันดูแล ต้องมานั่งคุยกันว่าใครจะช่วยเหลือเด็กเรื่องอะไรบ้าง จะต้องทำความเข้าใจกับปัญหาแล้วก็ต้องศึกษาวิธีที่จะแก้ปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการแก้ปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
ในขณะเดียวกันก็จะต้องถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ไปสู่คนอื่นๆ ในครอบครัววิธีแก้ไขต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายครับ ทั้งจากครอบครัว จากการแพทย์ จากการศึกษา และสังคมรอบข้าง
ขั้นแรกเราจะต้องเข้าใจสภาพปัญหาของเด็กก่อน ไม่ใช่เพราะเด็กไม่สนใจ หรือนิสัยไม่ดี แต่เป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจ คือต้องเรียนรู้ธรรมชาติของโรคว่าคืออะไร ปัญหามีอะไรบ้าง พอเข้าใจธรรมชาติของโรคแล้ว ก็สอนให้เขาเรียนรู้ด้วยวิธีการที่เข้มข้นขึ้น อะไรที่ขัดขวางการเรียนรู้ก็ต้องพยายามแก้ไข เช่น การที่เด็กบางคนจะชอบสะสมขวดแชมพู ขวดยา ซึ่งเป็นการสะสมที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือชอบดูพัดลมหมุน ชอบดูโลโก้สินค้า ก็ต้องดึงเด็กออกมาแล้วหากิจกรรมอย่างอื่นเสริม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ เช่น ชอบไดโนเสาร์ พ่อแม่สามารถสอนเรื่องอื่นสอดแทรกไปได้ เช่น เรื่องชีววิทยา ธรรมชาติประวัติศาสตร์ เป็นต้น คือเน้นการใช้เรื่องที่เขาสนใจเป็นฐานแล้วก็ขยายความสนใจออกไป เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้
สำหรับเรื่องทักษะสังคมเป็นเรื่องที่ต้องคอยสอนคอยชี้แนะอยู่ตลอด ต้องสอนกันเกือบทุกเรื่อง เช่น เวลาเจอเพื่อนจะทักทายอย่างไร อยากเข้าไปเล่นกับเพื่อนต้องทำอย่างไร อย่าไปคาดหวังว่าเดี๋ยวก็รู้เอง แต่ถ้าสอนแล้วเด็กจะทำได้ในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราเป็นแอสเพอร์เกอร์
เด็กจะเป็นแอสเพอร์เกอร์มาตั้งแต่เกิด แต่ช่วงยังเล็กๆ จะดูยากมาก เพราะลักษณะภายนอกดูปกติ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าจะมีปัญหา ข้อที่ชวนสงสัย คือ สังเกตว่าเด็กไม่ค่อยตอบสนอง เวลาอุ้มจะไม่อยากให้อุ้ม ไม่ค่อยโต้ตอบ ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบหรือแสดงท่าทีดีใจเวลามีคนเล่นด้วย มีพฤติกรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น
สำหรับพ่อแม่สิ่งที่ยากในการสังเกตก็คือ ถ้าไม่เคยมีลูกมาก่อนหรือไม่คุ้นเคยกับโรคจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง หรือแยกความแตกต่างได้ค่อนข้างยาก เพราะมีจุดเหลื่อมที่แตกต่างกัน และไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างแอสเพอร์เกอร์กับคนปกติที่มีปัญหาเรื่อง บุคลิกภาพบางอย่างไม่เหมาะสม หรือว่าบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องบุคลิก บางอย่างไม่เหมาะสม หรือว่าบางรายที่เป็นแอสเพอร์เกอร์กับออทิสติกที่มีความสามารถสูงก็ยังแยก ยาก
การพาเด็กมาพบหมอมักจะมาก็ต่อเมื่อเกิดปัญหามากแล้ว ดังนั้นแค่เริ่มสงสัยก็สามารถมาตรวจประเมินได้ ซึ่งหมอจะพิจารณาประวัติทุกด้าน ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ และสังเกตพฤติกรรมบางอย่างประกอบกัน ดูว่าเข้าเกณฑ์ของแอสเพอร์เกอร์หรือเปล่า ถ้าใช่ก็ต้องช่วยเหลือให้เร็วที่สุด อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกเป็นอะไร เพราะการที่ลูกเสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า
เบื้องต้นจิตแพทย์จะประเมินดูก่อนว่าเด็กควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมอะไร และไปฝึกกับใครบ้าง เช่น พาไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกสมาธิ ฝึกทักษะสังคม ฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว หรือไปพบกับนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม กระตุ้นพัฒนาการหรือทำทั้งสองอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ
เด็กบางคนอาจมีปัญหาสมาธิสั้นร่วม ซึ่งสมาธิสั้นจะพบร่วมได้ในหลายๆ โรค ถ้าเป็นสมาธิสั้นอย่างเดียวไม่มีโรคอื่น เราเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ถ้าสมาธิสั้นร่วมกับออทิสติกหรือแอสเพอร์เกอร์ ก็เรียกตามโรคหลักของเด็ก เด็กเป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น
รับมืออย่างไรเมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์
คงต้องทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน คือทำความเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วก็ยอมรับว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ ให้เชื่อว่าสิ่งที่ลูกเป็นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ มีการวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันชัดเจนว่า เด็กที่เข้ากระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม กับเด็กที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งแง่ของการพัฒนาทางด้านสังคม หรือการเรียน เพราะเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาเรียนจบถึง มหาวิทยาลัย หรือสูงกว่า ดังนั้นเราต้องเชื่อมั่นด้วยว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ และถ้าพ่อแม่ไม่ทำอะไรปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็ยิ่งเป็นปัญหาสะสม
ในการสอนบางอย่างต้องใช้เทคนิคเข้าช่วย ซึ่งจะมีเทคนิคเฉพาะในการสอน พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้เทคนิคนั้น ส่วนจะเป็นเทคนิคอะไรก็ต้องดูเด็กเป็นหลัก ดูว่าในสถานการณ์แต่ละแบบจะต้องใช้เทคนิคไหน ซึ่งพ่อแม่ต้องมีเทคนิคหลากหลายเหมือนกัน
เด็กแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะสมองดี ถ้าเขาไม่มีปัญหาอะไรที่ขัดขวางการเรียนตั้งแต่แรก เช่น ไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น หรือไม่มีเรื่องของพฤติกรรมรุนแรง หลายคนเรียนได้ครับ เด็กที่หมอดูแลอยู่สอบได้ที่ 1 ทุกปีก็ยังมีครับ
ถึงการเรียนจะไม่มีปัญหาแต่จะมีปัญหาคือการเข้ากับเพื่อน จะเล่นกับเพื่อนไม่เป็น เล่นแรงบ้าง เล่นไม่เหมาะสมบ้าง ไม่เล่นตามกติกา ฉะนั้นก็จะถูกปฏิเสธจากเพื่อน ปัญหาที่ตามมาคือ พอจะเล่นกับเพื่อนแล้วถูกปฏิเสธเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาจะหาวิธีการเล่นที่แหวกแนวยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการเล่นที่ไม่รบกวนคนอื่นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ารบกวนคนอื่น หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็อาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงได้
เป็นแอสเพอร์เกอร์มีโอกาสหายขาดไหม
สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้มากครับถึง แม้ว่าจะไม่หายขาด ถ้าเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลือเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องทักษะการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน และฝึกฝนในทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่องก็จะพัฒนาไปได้ดี ปัญหาที่ยังคงเหลือ อยู่จะถูกมองเป็นเรื่องของบุคลิกภาพมากกว่า แต่ถ้าได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือเขาจะดีขึ้นตามความสามารถที่ควรจะเป็น
ปัญหาบางอย่างที่หลงเหลือยู่ เช่น เรื่องของทักษะสังคม การพูดจาไม่เหมาะสม การเข้ากับเพื่อน ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เขาอยู่มากกว่า คือเมื่อเขาโตขึ้นแล้วได้ทำงานที่เหมาะกับตัวเขา หรือในบางที่ที่ยอมรับ ก็จะไม่มีปัญหา ก็คือเขาสามารถใช้ความสามารถของเขาได้เต็มที่ เด็กแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาสนใจ เขาจะรู้จริง และรู้ลึกมากกว่าคนอื่นครับ
อยากฝากคุณพ่อคุณแม่ในเรื่อของการหาข้อมูลว่า สิ่งสำคัญคือจะกรองข้อมูลอย่างไร เพราะขณะนี้มีข้อมูลที่สามารถค้นได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต เพราะข้อมูลที่เราได้รับอาจจะเหมาะกับเด็กคนหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับเด็กอีกคน และการรักษาที่หมอยืนยันว่าได้ผลดี อาจจะเป็นแค่งานวิจัยแค่ชิ้นเดียว หรือข้อมูลบางชิ้นที่เคยเชื่อว่าเป็นแบบนี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะมีงานวิจัยที่ลบล้างความเชือนี้แล้ว วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องศึกษาข้อมูลจากหลายๆ ที่ หรือพูดคุยกับกลุ่มพ่อแม่ด้วยกัน หรือปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่ เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกวิธีครับ