สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องระวัง ไม่พูดคำหยาบให้เด็กได้ยินเป็นอันขาด เพราะลูกจะไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่พูดได้ แต่เด็กพูดแล้วกลับถูกลงโทษ อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนไม่มีเหตุผลในอนาคตได้ ลองหาแหล่งที่มาของคำหยาบเหล่านั้น แล้วพยายามกันลูกออกจากคน หรือแหล่งนั้นๆ เพราะสิ่งแวดล้อมมีผลกับพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ เลือกรายการโทรทัศน์ที่เหมาะกับเด็กเล็ก หรือควรเลือกดูรายการที่ไม่มีคำสบถหรือคำไม่สุภาพแทน
เด็กยังไม่รู้ว่าคำไหนหยาบหรือไม่หยาบ ดังนั้นเมื่อลูกพูดคำหยาบคุณพ่อคุณแม่ต้องชี้เป็นคำๆ ไปว่าคำนี้พูดไม่ได้ และสอนด้วยว่าควรใช้คำใดแทน แล้วให้ลูกหัดพูดตาม เช่น หากลูกคำว่า “ตีน” อาจสอนลูกว่าคำนี้ไม่เพราะ พูดแล้วไม่น่ารักเลย พูดแล้วพ่อแม่ไม่ชอบ ให้พูดคำว่า “เท้า” แทน แล้วสอนให้ลูกพูดตาม
อย่าเผลอหัวเราะชอบใจเมื่อเด็กพูดคำแปลก ๆ ที่เป็นคำหยาบออกมา ยิ่งคนรอบข้างหัวเราะชอบใจ เป็นการเสริมพฤติกรรมให้เด็กพูดอีกเพราะคิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว
บางครั้งลูกเรียนรู้ว่าการใช้คำหยาบเป็นการระบายอารมณ์ เพราะเห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่หรือจากเด็กคนอื่นที่เวลาไม่พอใจก็สบถคำหยาบออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กใช้คำอื่นที่น่าฟังกว่าแทน เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พูดว่า “โกรธแล้วนะ” แทน
หากลูกพูดคำหยาบเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงสีหน้าตกใจหรือไปจ้ำจี้จ้ำไชดุด่าลูก หรือลงโทษรุนแรงจะทำให้ลูกเสียความเชื่อมั่นในตนเอง บางครั้งย้ำคิดแต่คำนั้น และเลิกพูดคำนั้นไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่ดุมากยิ่งเลิกพูดไม่ได้
สำหรับเด็กเล็ก ๆ การพูดคำหยาบเป็นการทดสอบอำนาจของคำนั้น และเด็กกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจของถ้อยคำ หากรู้ว่าลูกกำลังทดสอบอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจทำเป็นเพิกเฉย ให้เขารู้สึกว่าคำหยาบไม่มีความหมายสำหรับพ่อแม่ แล้วลูกจะเลิกพูดไปเอง เช่น หากลูกเรียกคุณพ่อคุณแม่ด้วยคำหยาบไม่ควรหันไปมอง เด็กจะเรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่มีใครสนใจ
อย่าทำให้ลูกเครียด โดยการไปคอยกังวลถามย้ำ คาดคั้นให้ลูกสัญญาว่าจะไม่พูดอีก การย้ำและการห้ามลูก ยิ่งเป็นการไปเพิ่มความสนใจในคำนั้นให้แก่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกจดจำและพูดคำนั้นอยู่เรื่อยๆ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องปล่อยวาง และลองเพิกเฉยกับคำนั้น ลูกจะค่อยๆ เลิกพูดได้เอง