แม่รักน้องมากกว่า พ่อรักพี่มากกว่า แม้ลูกจะไม่พูดออกมาแต่จากการสังเกตพฤติกรรมแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่าลูกกำลังรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียงอยู่ หากไม่รีบแก้ไข สิ่งเหล่านี้อาจจะติดอยู่ในใจลูกไปจนโตและกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้นะคะ
ผลเสีย เมื่อลูกคิดว่าพ่อแม่ลำเอียง
1. เกิดความคับข้องใจ
เหตุการณ์ที่พ่อหรือแม่ลำเอียง จะติดอยู่ในหัวใจลูกและแน่นอน เด็ก ๆ ความจำดีมาก อาจทำให้เก็บกดแบบสะสม และนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวในที่สุด
2. เรียกร้องความสนใจ
ในกรณีลูกไม่แสดงออกโดยการโวยวาย อาละวาด หรือก้าวร้าว ตรงกันข้ามเขาจะใช้ความอ่อนแอขอความเห็นใจแทน เช่น ดูท่าทางเป็นเด็กไม่แข็งแรง ป่วยง่าย มีอาการปวดหัวบ่อย ๆ
3. ไม่เห็นคุณค่าตนเอง
ลูกจะเติบโตมาโดยที่เชื่อว่า น้องดีและเก่งกว่าตัวเองเสมอ หรือพี่ดีกว่าและเก่งกว่ามาตลอด ยิ่งถ้าพ่อแม่ละเลยลูกจะกลายเป็นคนขี้ใจน้อย และทำในสิ่งที่เรียกว่าไม่รักตัวเองได้ง่าย
7 วิธี คลายปมในใจลูก
- บอกคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และทุก ๆ คนในครอบครัว ว่าห้ามแสดงออกว่ารักใครมากกว่า จะให้ของขวัญอะไรต้องให้เหมือนกัน
- เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก ด้วยท่าทางสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้ว่าคุณยังรักแกอยู่ เช่น โอบกอด หอมแก้มก่อนนอน หรืออื่น ๆ ที่เคยทำเป็นประจำ
- ให้คำชมเชยเมื่อลูกทำอะไรได้เอง เพื่อป้องกันพฤติกรรมถดถอย
- อย่าพูดเล่าความผิด หรือเรื่องหน้าแตกของลูกต่อหน้าคนอื่น ๆ และเห็นเป็นเรื่องตลกประจำวงสนทนา เพราะลูกจะเก็บมาคิดได้
- เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความในใจ โดยไม่เอาเรื่องเหตุผลและความถูกต้องมาเป็นเครื่องปิดกั้น เช่น ถ้าลูกบอกเกลียดคุณปู่ ก็ถามว่าทำไมเกลียด หากแกใช้คำไม่สุภาพบ้าง อย่าขัดจังหวะหรือเทศนาช่วงนี้ ปล่อยให้ลูกพูดให้หนำใจก่อน
- คุ้ยภาพถ่ายสมัยลูกยังเป็นขวัญใจประจำบ้านมาเป็นหลักฐาน พร้อมอธิบายว่า "เด็กเล็กแรกคลอด ต้องมีการรับขวัญเป็นธรรมดา ตอนหนูเกิดทุกคนก็รับขวัญหนูนะ"
- อย่าสอนพี่ให้ยอมน้อง ด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นน้อง แต่ควรมีคำพูดอื่นด้วยเช่น "น้องยังทำเองไม่เป็น ถ้าลูกช่วยน้อง อีกหน่อยน้องต้องทำเองเป็น" และคุณควรแสดงบทตุลาการบ้าง เมื่อน้องเป็นคนทำผิดเสียเอง