กว่าจะปราบให้เจ้าตัวน้อยยอมอาบน้ำได้แต่ละทีเล่นเอาคุณแม่เหงื่อท่วมตัวเลยทีเดียว พอเจ้าตัวน้อยเริ่มโตขึ้น พูดเก่งมากขึ้น ก็เริ่มปฏิเสธเป็นแล้วแถมบางครั้งดื้อหัวชนฝาอีกต่างหาก แล้วคุณแม่จะทำอย่างไรให้ลูกรักยอมอาบน้ำอย่างง่ายดาย วันนี้ Momypedia มีเทคนิคมาฝากค่ะ
1. ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน การสร้างนิสัยให้ลูกรักการอาบน้ำเป็นเรื่องที่ดีนะคะ นอกจากจะช่วยให้ลูกเนื้อตัวสะอาดปราศจากแบคทีเรียแล้วยังสร้างนิสัยความมีวินัยให้ลูกอีกด้วย เช่น คุณแม่อาจปล่อยให้เขาได้เล่นกิจกรรมต่างๆ ไปก่อน อาจมีการตกลงกันล่วงหน้าก่อนว่า
"คุณแม่ให้เล่นได้ 10 นาที แต่หลังจากเล่นเสร็จแล้วต้องอาบน้ำให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน"
2. อย่าใจอ่อนกับเสียงร้องไห้ของลูก แน่นอนว่าหลังจากลูกกำลังได้เล่นอย่างสนุกสนานนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องอาบน้ำแล้ว ไม่มีเด็กคนไหนที่จะยอมลุกขึ้นเดินตรงไปที่ห้องน้ำอย่างโดยดี ส่วนใหญ่นั้นมักต่อรองของเล่นอีกนิดหน่อย หรือไม่ก็ใช้วิธีร้องไห้โยเยซะเลย ดังนั้นคุณแม่ต้องไม่ใจอ่อนจนยอมให้ลูกไม่อาบน้ำเด็ดขาดนะคะ เพราะเขาจะรู้สึกว่าการอาบน้ำเป็นเรื่องที่ผลัดผ่อนก่อนไปได้ คุณแม่อาจใช้วิธีพูดดีกับเขาแทนก็ได้ค่ะ เช่น
"เราตกลงกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าคุณแม่จะยอมให้ลูกเล่นได้ก่อน ตอนนี้ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ทำให้คุณแม่ได้ไหมคะ" เพราะการไม่ใจอ่อนไม่ใช่การไม่อ่อนโยนกับลูกนะคะ คุณแม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เมื่อพูดกันด้วยเหตุผลที่อ่อนโยน เด็กจะสามารถรับรู้ความรู้สึกของแม่ได้เอง อีกทั้งยังไม่ดื้อรั้นอีกด้วย
3. สร้างแรงจูงใจในการอาบน้ำ หากคุณแม่สามารถกล่อมลูกจนมาถึงห้องน้ำได้แล้ว ต่อมาก็ถึงเวลาพาอาบน้ำ ก่อนอื่นคุณแม่อาจสร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกอยากอาบน้ำมากขึ้นเช่น การทำฟองสบู่ในน้ำ ของเล่นในน้ำรูปสัตว์ต่างๆ ที่ลูกชื่นชอบ หากลูกยังงอแงอยู่ คุณแม่เพียงหาสิ่งรอบข้างมาเป็นตัวอย่างได้ เช่นพี่เป็ดยังอาบน้ำเลย หนูอาบน้ำเป็นเพื่อนพี่เป็ดได้ไหมคะ เป็นต้น
4. ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการอาบน้ำ เด็กวัยนี้กำลังหัดเรียนรู้ หัดพูดสิ่งต่างๆ รอบตัว การตกแต่งห้องน้ำก็เป็นส่วนช่วยให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลินได้เหมือนกัน เช่น ผนังในห้องน้ำตกแต่งเป็นรูปสัตว์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการให้ลูกได้เลือกแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่อาบน้ำเอง จะทำให้ลูกมีความรู้สึกที่อยากอาบน้ำมากขึ้น
5.ลูกกลัวตรงไหนแก้ไขตรงนั้น บางครั้งเด็กๆ มักมีสิ่งที่กลัวหรือคิดไปเอง เช่น กลัวเสียงเปิดน้ำเสียงดังๆ กลัวเสียงน้ำไหลลงไปในท่อ กลัวการลงอ่างอาบน้ำกว้างๆ คุณแม่สามารถสังเกตอาการกลัวเหล่านี้ได้ ว่าเมื่อไหร่ที่ลูกมีพฤติกรรมกลัวจะทำให้ลูกไม่ยอมอาบน้ำ ดังนั้นคุณแม่อาจเริ่มอธิบายให้เขาเข้าใจว่าไม่มีอะไรน่ากลัวให้เขารับรู้ว่ามีคุณแม่อยู่ข้างๆ ตลอด หรือถ้าไม่หายก็แก้ไขตรงจุดเลยค่ะ เช่น หากลูกกลัวเสียงเปิดน้ำดังๆ คุณแม่อาจเปิดน้ำรอไว้เลย แล้วมาเติมลูกเล่นด้วยของเล่นที่ลูกเลือกเอง เท่านี้ลูกน้อยก็จะรักการอาบน้ำได้ไม่ยากเลยค่ะ