“โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักไว้นะคะ เพราะเด็กเสี่ยงเป็นได้ทุกคน ให้หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยของลูกอย่างใส่ใจ เพราะลูกน้อยอาจจะเป็นโรคนี้อยู่ก็ได้ค่ะ
สาเหตุของโรค
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือ Juvenile Idiopathic arthritis (JIA) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก สามารถเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอและบริเวณขากรรไกร
อาการ
1. ข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดกับลูกน้อยในตอนเช้าหรือในช่วงที่อากาศเย็นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการว่า ลูกน้อยมีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่หรือการเดินกะเผลกในช่วงเช้า รวมไปถึงการสังเกตอาการเจ็บปวดต่างๆ จากสีหน้าท่าทางของลูก เช่น เจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขา หรือข้อเท้าเวลาเดิน ฯลฯ
2. เป็นไข้สูงวันละครั้ง อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ หากเป็นช่วงเย็นมักจะเป็นช่วงเย็นของเวลาเดียวกันและในช่วงไข้สูงเด็กจะมีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี ซึ่งต่างจากการติดเชื้อทั่วๆ ไปที่เด็กมักจะไข้สูงตลอดทั้งวัน
3. มีอาการของผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้นและเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไปอีกด้วย
การรักษา
1. จะต้องให้ตัวยาที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่มแตกต่างกันไป
โดยการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดเม็ด ยาตัวแรกที่เด็กที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบทุกคนจะได้รับ ซึ่งยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็วแต่อาจทำให้ปวดท้อง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร บางรายอาจจะต้องทานยาโรคกระเพาะร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลไม่ให้ลูกขาดน้ำ
2. ใช้ยากดภูมิคุ้มกันในกลุ่มสเตียรอยด์
มักใช้กับผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นข้ออักเสบทั่วร่างกายหรือมีอาการรุนแรง และรักษาด้วยยากลุ่มสารชีวภาพที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามหรือให้ทางน้ำเกลือเป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วและประสิทธิภาพสูง สามารถจับสารที่ก่อให้เกิดข้ออักเสบได้โดยตรงแต่ราคาค่อนข้างแพง อาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบและวัณโรคได้
3. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ
เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่ต้านการอักเสบได้ดีมากจึงให้ผลเร็ว ตรงจุด และผลข้างเคียงน้อยสุด แต่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้ออักเสบเพียงข้อเดียว โดยยาแต่ละชนิดที่ใช้ในการรักษาสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ข้อของเด็กถูกทำลายและลดความเสี่ยงจากการพิการได้
วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อช่วยฟื้นฟูลูกน้อย
1. ให้ลูกออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสมและเน้นที่การบริหารข้อต่างๆ ของร่างกาย เช่น การวิ่งช้าๆ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น
2. บริหารข้อ เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติด เช่น หากจะบริหารข้อเข่า ก็อาจทำท่าหมุนหัวเข่า หากจะบริหารนิ้วมือบริหารด้วยการกำมือแบบหลวมๆ
3. ฝึกบีบลูกบอล หากจะบริหารข้อเท้า อาจจะบริหารด้วยการยืนเขย่ง หรือกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง
4. ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือเทควันโด