ลูกหวงของ สอนลูกอย่างไรให้รู้จักแบ่งปัน
“ของหนูนะ”
“ถ้าหนูอยากได้ มันก็คือของหนูนะ”
“ถ้าหนูแย่งมาได้ มันก็คือของหนูเหมือนกัน”
“ถ้าหนูวางทิ้งได้ มันก็คือของหนู ห้ามใครมาเล่น”
“ของของหนู ก็คือของของหนู ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม”
“ถ้าเราเล่นต่อหรือประกอบอะไรด้วยกันสักอย่างเสร็จ ทั้งหมดนั้นคือของหนู”
“ถ้ามันหน้าตาเหมือนของหนู แปลว่ามันคือของของหนู”
นี่คือความเข้าใจจริงๆ ของเด็กต่ำกว่า 3 ขวบคะ ไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ตลก และไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่ได้สอน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลุ้มใจถ้าลูกจะเป็นเช่นนี้ มันคือพัฒนาการปกติ ... ไว้ไม่ปกติแล้วค่อยตกใจค่ะ
สอนลูกแบ่งปัน
‘ต้องรู้จักหวงของถึงจะแบ่งปันเป็น’ อาจฟังดูสับสนแต่เด็กๆ ต้องรู้จักความต้องการของตนเองก่อนจึงจะเข้าใจความต้องการและความรู้สึกของผู้อื่นแล้วถึงจะแบ่งปันเป็นค่ะ เด็กจะเริ่มเข้าใจการแบ่งปันจริงๆ ตอนอายุประมาณ 6 ปี ตอนเด็กกว่านี้ที่เขาแบ่งปันเป็นเพราะเราสอนค่ะ และเราต้องสอนอย่างถูกวิธีจึงจะเกิดเป็นนิสัย สำหรับวิธีสอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน แอนนี่มีหลักการง่ายๆ มาแนะนำคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
- อย่าบังคับ : ค่อยๆ สอน ค่อยๆ อธิบาย เราเป็นผู้ใหญ่ยังหวงของที่มีค่ากับเราเลย สำหรับเด็กอย่ามองว่าเป็นแค่ของเล่นหรือแค่ขนม เพราะมันคือของมีค่าสำหรับเขาเช่นกัน ลองบอก “หนูจะเล่นอีกกี่นาทีดี แล้วแลกกันนะ” หรือ “รอเพื่อนเล่นเสร็จก่อนเราค่อยเล่น ตอนนี้เล่นอันนี้ก่อนดีไหมคะ” ของเล่นใหม่ๆแปลกๆ มักจะล่อความสนใจได้เสมอ
- ห้ามดุหรือลงโทษ : การดุหรือลงโทษไม่สามารถสอนเด็กได้ มีแต่จะก่อความรู้สึกทางลบให้กับเด็กต่อการแบ่งปัน หรือแม้แต่การเข้าไปแย่งสิ่งของนั้นออกมาจากมือลูกก็ไม่ควรทำ เพราะคุณกำลังสอนให้ลูกเข้าใจว่า การแย่งของไปจากมือคนอื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ ใช้น้ำเสียงจริงจัง บอกให้ลูกวางของลงแล้วหยิบออกไป “ถ้าแย่งกันคุณแม่ขอนะ ไว้แบ่งกันได้เมื่อไรค่อยเอามาเล่นกันนะคะ”
- ทำให้ลูกเห็น : เด็กๆ เรียนรู้จากการเห็นและเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้เห็น ถ้ามีใครมายืมอะไร ให้ยืมแล้วพูดให้ลูกได้ยิน “คุณแม่ให้เพื่อนยืมปากกาแท่งโปรดของคุณแม่ด้วย” หรือจัดฉากขึ้นก็ได้ (เด็กๆ ไม่รู้หรอกคะ) เช่น “พ่อคะแม่แบ่งขนมให้นะ” “ขอบใจจ๊ะแม่ เดี๋ยวพ่อให้แม่ยืมอ่านหนังสือของพ่อเล่มนี้นะ”
- เรียนรู้ผ่านเกม : เด็กๆ ชอบเล่นเกมและจะสนใจสิ่งที่เราพูดโดยไม่ต้องบังคับ อาจจะใช้ตุ๊กตามาวางหลายๆตัว “นี่ค่ะ หนูเอาบล็อกสีแดงให้พี่หมี สีเขียวให้พี่หมู สีชมพูให้พี่หมา ของหนูสีอะไรดีคะ” หรือเอาขนมมาถุงหนึ่ง “ลูกขา ชิ้นนี้วิ่งไปให้คุณพ่อ ชิ้นนี้ให้พี่ ชิ้นนี้ของหนู” แล้วสลับให้คนอื่นให้ลูกบ้าง โดยเฉพาะระหว่างพี่น้องนั้นการแบ่งพ่อแม่ค่อนข้างเป็นเรื่องคับข้องหมองใจ เราต้องพยายามหากิจกรรมสนุกๆ เล่นร่วมกัน และสอนการแบ่งปันไปด้วย เช่น “อ้าว เล่นโยกเยกกันดีกว่า พี่นั่งขานี้ของพ่อ น้องนั่งขาอีกข้างนะ โยกเยกๆ” ทำขาขึ้นลงสลับกัน เป็นต้น
- เคารพสิทธิในของของลูก : ยอมรับว่านี่คือของของลูกและลูกหวง เพราะมันคือของมีค่าของเขา เราไม่ต้องการให้ใครมายุ่งกับของมีค่าของเราเช่นใด ลูกก็คิดเช่นนั้น เวลาจะหยิบจับของที่ลูกหวง บอกลูกด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่า ทำไมต้องขออนุญาตลูกด้วย แต่เรากำลังสอนเขาเช่นกันว่าถ้าเขาจะหยิบจับของๆ ผู้อื่นก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน
การรู้จักตัวตนของตัวเองกับพฤติกรรมการหวงของของเด็กวัยนี้จะทับซ้อนกันอยู่ เป็นพัฒนาการของการเรียนรู้ที่จะให้เกียรติหรือยอมรับตนเองและผู้อื่นในฐานะปัจเจกบุคคล ความเข้าใจในตัวตนของตนเองกับการแบ่งปันและความโอบอ้อมอารีจะพัฒนาไปควบคู่กัน
ในฐานะคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและระลึกไว้เสมอว่า เราไม่สามารถสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันหรือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้เลย ถ้าเขาไม่รู้จักความเป็นเจ้าของค่ะ