จะให้ลูกเล่นให้เหมาะสมตามวัยได้อย่างไร
นิยามของเล่นในมุมมองของคนทั่วไปมักจะนึกถึงแต่ของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการ เด็กทั่วๆ ไป เช่น ของเล่นเพื่อเสริมจินตนาการอย่างเลโก้ ของเล่นเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือเช่นแป้งโดว์ หรือของเล่นเพื่อฝึกการคิดอย่าง Puzzles แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าของเล่นชนิดเดียวกัน ประเภทเดียวกันนั้น ถ้าเพียงแต่เปลี่ยนวิธีเล่นกลับขยายขอบเขตสามารถช่วยพัฒนาเด็กกลุ่มพิเศษ และเด็กถูกทำร้ายได้
ประโยชน์ของการเล่น
* ด้านร่างกาย การที่ลูกได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ได้กระโดดโลดเต้น หรือปีนป่ายต้นไม้ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงและช่วยเรื่องการทรงตัว นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องการทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ด้วย เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา มือ และการประสานการทำงานระหว่างมือและตา เช่น ปั้นแป้งโดว์ พับกระดาษ เพ้นท์สี เป็นต้น
* ด้านสติปัญญา ช่วงเวลาที่ลูกได้เล่น เช่น กำลังเล่นต่อไม้บล็อกลูกจะได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่าจะต่อเป็นรูปทรง อะไรดี รวมทั้งลูกจะได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหา คิดวางแผน และทักษะการตัดสินใจช่วงขณะที่กำลังเล่นอยู่ ทักษะเหล่านี้ถ้าใช้และฝึกฝนบ่อยๆ จะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องค่ะ
* ด้านสังคม ถ้าเราให้โอกาสลูกได้เล่นกับเพื่อนข้างบ้าน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน นอกจากลูกจะได้เรียนรู้ที่จะรอคอยเพื่อนคนอื่นๆ เขายังรู้จักที่จะให้ และรับอย่างเหมาะสม แถมยังรู้จักที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ค่ะ
* ด้านอารมณ์ เวลาที่ลูกเราไม่สบายใจ กลัดกลุ้ม หรือคับข้องใจอะไรอยู่ และการเล่นจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และลืมความกังวลใจดังกล่าวไปได้ บางครั้งถ้าลูกอารมณ์เสียหรือโกรธ ลูกจะมีโอกาสระบายความรู้สึกคับข้องใจออกไปด้วยวิธีการที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
* ด้านจริยธรรม การเล่นต่างๆ จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ และเวลาที่ลูกได้เล่นลูกจะเรียนรู้กฎเกณฑ์และเรื่องของจริยธรรมไปด้วยในตัว
* ด้านภาษา เวลาที่ลูกเล่นกับเพื่อน ลูกต้องใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกันในการบอกความต้องการให้เพื่อนรู้ นอกจากนั้นลูกยังได้ฝึกความเข้าใจภาษา เช่นภาษาท่าทาง และภาษากายระหว่างที่เล่นอีกด้วย
ของเล่นกับวัยของหนู
การเลือกของเล่นสำหรับเด็กแล้ว ถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องตามวัยค่ะ
* เด็กวัย 0-1 ปี วัยนี้เป็นวัยที่ลูกต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เพราะฉะนั้นถ้าเราตอบสนองความต้องการลูกได้อย่างเหมาะสม นอกจากจะทำให้ลูกเป็นเด็กมีความเชื่อมั่นแล้ว ลูกยังรู้สึกไว้วางใจโลกภายนอกเป็นอย่างดีด้วย ฉะนั้นของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้สามารถเป็นแค่เพียงนิ้วมือของเราที่ให้ลูกจับ เล่น หรือโมบายสีสันสดสวย หรือกล่องเพลง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้ลูก
* เด็กวัย 1-3 ปี เด็กเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ ควบคุมการเดิน การพูด การขับถ่าย และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนเลี้ยงดู ฉะนั้นของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้อาจจะเป็นลูกฟุตบอลเพื่อให้ลูกได้ออกไปวิ่ง เล่นในสนามนอกบ้าน หรือเราอาจจะปล่อยให้เขาได้เล่นกับของเล่นตามธรรมชาติอย่างใบไม้ ก้อนหิน ดิน ทราย น้ำ ฯลฯ ก็ได้ค่ะ
* เด็กวัย 3-5 ปี เด็กวัยนี้เริ่มอยากรู้อยากเห็น ช่างซักช่างถาม มีจินตนาการสูง มีพัฒนาการทางอารมณ์ซับซ้อนมากขึ้น เริ่มเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันได้ดีขึ้น ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้เขาได้เล่นกับเพื่อน อย่างเล่นตุ๊กตาด้วยกัน เล่นต่อไม้บล็อก หรือปั้นแป้งโดว์เป็นรูปสัตว์ต่างๆด้วยกัน ฯลฯ จะช่วยพัฒนาการทางสังคม พัฒนาการทางภาษาได้เป็นอย่างดีค่ะ
เด็กพิเศษ..สำคัญที่วิธีเล่น
คุณครูสุขจันทร์ สุขประกอบ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กที่ต้องการช่วยเหลือ พิเศษโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และโรงเรียนเพลินพัฒนาบอกว่า แม้ของเล่นของเด็กปกติกับเด็กพิเศษจะเหมือนๆกัน แต่ต่างกันตรงที่ "วิธีการเล่น"ค่ะ ซึ่งเด็กพิเศษแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการในการเล่นต่างกัน และความถนัดไม่เหมือนกัน เราจึงต้องดูว่าเด็กพิเศษคนนั้นๆสนใจอะไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร
ดังนั้นถ้าจะเลือกของเล่นให้เด็กกลุ่มนี้ควรเลือกให้ตรงตามความถนัดและความ สนใจของเขาเป็นหลัก เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การใช้มือไม่แข็งแรง การประสานสัมพันธ์ของมือและตา และการเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงควรพิจารณาเลือกใช้ของเล่นที่ใช้วัสดุและขนาดที่ไม่หลุดมือได้ง่าย
เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาในระดับหนัก ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว อาจจะชอบหรือสนใจเสียงดนตรี จึงควรเลือกใช้กล่องเพลง หรือของเล่นที่มีเสียงกระตุ้นเร้าความสนใจให้เด็กมีการตอบสนอง ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นก็ต้องการของเล่นที่มีเสียงเช่นเดียว กัน
ครูสุขจันทร์เล่าว่า ของเล่นสำหรับเด็กพิเศษสามารถเป็นของเล่นที่เราประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ หรือของเล่นตามธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย ใบไม้ หรือของเล่นที่ซื้อหาได้ตามท้องตลาด ทั้งนี้อาศัยแค่เพียงความเข้าใจและใช้เทคนิควิธีการสอนด้วยการใช้ของเล่น เป็นสื่อการสอนสำหรับเด็กพิเศษแต่ละคนให้เหมาะสมเท่านั้น
"สมมติว่าเด็กคนหนึ่งกล้ามเนื้อมือเขาไม่ค่อยแข็งแรง ตรงนี้เราต้องมาดูว่าของเล่นอะไรบ้างที่จะช่วยฝึกเรื่องกล้ามเนื้อมือให้เขา พอคิดขึ้นได้ว่ามีพวกดินเหนียว แป้งโดว์ ทราย ฯลฯ เราก็มานึกต่อว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นเกิดการเรียนรู้อย่างกระตือ รือร้น
ดังนั้นเราอาจจะเอาของเล่น เช่น เรือลำเล็กๆของเล่นที่เป็นไม้ หรือพลาสติกมาลอยน้ำแล้วให้เขาลองหยิบของเล่นที่ลอยน้ำนั้นขึ้นมาดู เขาจะรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ และจะได้รับการฝึกเรื่องกล้ามเนื้อมือไปด้วยในตัว
นอกจากจะนำของเล่นมาลอยน้ำแล้ว เรายังสามารถนำของเล่นชิ้นดังกล่าวไปลองใส่ลงในทราย หรือข้าวสารที่ใส่อยู่ในกะละมัง ต่อจากนั้นให้เด็กใช้มือควานหาของเล่น เขาจะรู้สึกสนุกที่จะหา เกิดการเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส และยังได้ฝึกกล้ามเนื้อมือไปด้วยในตัว ฉะนั้นของเล่นจะเป็นอะไรก็ได้ขอเพียงแต่เราต้องรู้เสียก่อนว่าเขามีความ บกพร่องในด้านใด แล้วเราต้องการพัฒนาทักษะด้านใด และที่สำคัญจะต้องให้เขาเรียนรู้อย่างมีความสุข"
เด็กที่มีพัฒนาการเป็นปกติ เมื่อเห็นของเล่นก็จะหยิบมาเล่นอย่างมีจินตนาการ หรือเล่นบทบาทสมมติได้ตามวัย แต่สำหรับเด็กออทิสติกนั้นมีความผิดปกติทางพัฒนาการในด้านสังคม ภาษา และการสื่อสาร มีความผิดปกติทางด้านการเล่น และจินตนาการ เช่น ไม่มีจินตนาการในการเล่น เล่นสมมติไม่เป็น ไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องสมมติ ชอบเล่นคนเดียว ไม่ชอบเข้ากลุ่ม เขาอาจจะเล่นของเล่นที่แตกต่างไปจากเด็กอื่นๆ เช่น หยิบของเล่นมาส่องดู จ้องมองนานๆ หยิบของเล่นหมุนไปหมุนมา ครูจึงต้องชักชวนหรือสอนให้เล่นของเล่นเป็น
ส่วนเด็กที่มีสมาธิสั้นก็อาจจะเล่นของเล่นแต่ละอย่างได้ไม่นาน วิ่งไปหยิบจับสิ่งของต่างๆรอบตัวตลอดเวลาจึงไม่สามารถเล่น หรือทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้สำเร็จได้ ดังนั้นการนำของเล่นอย่างการร้อยลูกปัด การต่อจิ๊กซอว์ การปั้นดิน การเล่นทราย เล่นน้ำ ฯลฯ จะช่วยฝึกเรื่องสมาธิให้เขาได้ เขาจะเริ่มจดจ่ออยู่กับของเล่นที่ชอบและสนใจได้นานมากขึ้น และเมื่อเขาทำได้สำเร็จ อย่าลืมให้คำชมเชยหรือการกอด เพื่อจะช่วยเป็นกำลังใจและรางวัลที่ดีให้เขาได้ทางหนึ่ง
"จากประสบการณ์การสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบันได้ใช้ของเล่นต่างๆไม่ว่าจะเป็นของเล่นที่ประดิษฐ์ ขึ้นเอง ของเล่นจากธรรมชาติ หรือของเล่นที่ซื้อหาได้ตามท้องตลาด เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนในการฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งเสริมพัฒนาการ ขณะนี้เขาสามารถวาดรูปได้สวยมาก อ่านออกเขียนได้ และพูดสื่อสารได้
มิติของของเล่นชิ้นหนึ่งๆ มิได้มีเพียงจุดประสงค์เดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ไม้บล็อก เราสามารถนำมาเล่นเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ หรือฝึกเรื่องสี เรื่องขนาด และจำนวนก็ได้ สมมติว่าลูกของเราสนใจที่จะต่อไม้บล็อก เราสามารถชักชวนให้ต่อไม้บล็อคเป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งอาจจะชวนให้วาดรูปไม้บล็อกที่ต่อแล้วนั้น หรือเอาไม้บล็อคมาสอนเรื่องสี ขนาด รูปทรง หรือถ้วยเรียงลำดับขนาดต่างๆ ดังนั้นเราสามารถให้ลูก ตัก ตวง เทข้าวสาร น้ำ ทราย หรือจับคู่สี ขนาดของถ้วยน้ำ ซึ่งการเล่นที่หลากหลายแบบนี้เป็นการขยายความคิดให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ มากขึ้นด้วย"
PLAY THERAPY
Play Therapy หรือการบำบัดจิตด้วยการเล่น ถือเป็นการรับรู้ความในใจของเด็กผ่านการที่ให้เขาได้เล่น ซึ่งเด็กทุกคนที่มีเรื่องราวค้างคาในใจโดยเฉพาะเรื่องขุ่นข้องหมองใจ เช่น รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้ายทางร่างกายมา ฯลฯ ทั้งหมดจะเปิดเผยออกมาขณะที่เขากำลังเล่นอยู่
ถ้าเราไปถามว่าลูกรู้สึกคับข้องใจอะไร บางครั้งเด็กในวัยเล็กๆ จะไม่สามารถอธิบายความกังวลนี้ออกมาเป็นคำพูดได้เหมือนผู้ใหญ่ ผศ.พญ.สุวรรณี พุทธิศรี จิตแพทย์เด็กประจำรพ.รามาธิบดี ให้คำแนะนำว่า การปล่อยให้เด็กได้เล่น เช่น วาดรูป หรือเล่นตุ๊กตา หรือเล่นของเล่นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้จินตนาการ เช่น หุ่นมือ บ้านตุ๊กตา บทบาทสมมติ กะบะทราย ฯลฯ จะช่วยบอกความในใจได้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอะไรอยู่
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ มีเด็กคนหนึ่งถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาด้วยอาการก้าวร้าว พอปล่อยให้เด็กได้เล่น และนั่งวาดรูปไปได้สักพัก รูปวาดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเด็กคนนั้นถูกทำร้ายมา โดยรายละเอียดในรูปจะเป็นลักษณะบ้านที่มีบันไดขึ้นไปบนบ้าน ซึ่งถ้ามองในมุมมองของจิตแพทย์แล้วสามารถตีความรูปนั้นๆ ออกมาได้ว่าเป็นรอยแตกร้าวของบ้าน หรือบันไดบ้านก็ได้ และเมื่อปล่อยให้เด็กคนนั้นวาดรูปต่อไปเรื่อยๆ โดยคุณหมอได้ถามถึงที่มาที่ไปของรูปนั้นๆ ในท้ายสุดจึงได้ความว่าเด็กถูกทำร้ายด้วยหัวเข็มขัดจากพ่อของตัวเอง
จากตัวอย่างดังกล่าวคุณหมอสุวรรณีสรุปว่า การเล่นของเด็กคนหนึ่งนอกจากจะช่วยให้เรารู้ความในใจที่อาจทำร้ายเขาอยู่ แล้ว ยังช่วยให้เขาได้เยียวยาบาดแผลของตัวเองออกไปจากตัวด้วยค่ะ
"การเล่นของเด็กถือเป็นการเปิดใจ คือเปิดเผยว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ อย่างเด็กคนหนึ่งอาจจะไปหาหมอแล้วถูกหมอฉีดยา พอกลับไปบ้านอาจจะเล่นตุ๊กตาโดยคราวนี้ตัวเองเป็นหมอแทนบ้างแล้วฉีดยาคนไข้ ตรงนี้เด็กผันตัวเองจากผู้ถูกกระทำเป็นผู้กระทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่คั่งค้างในใจเขา และเมื่อเขาได้เล่นนั่นเท่ากับเป็นการรักษาไปในตัว"
คุณหมอสุวรรณียังได้ยกตัวอย่างเด็กซึ่งไม่ได้ถูกทำร้ายทางด้านร่างกาย แต่ถูกทำร้ายจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากกว่าด้วยว่า การเล่นจะเข้ามาช่วยบำบัดเขาได้อีกทางหนึ่ง เช่น เด็กคนหนึ่งมารับการรักษาด้วยเหตุผลของความก้าวร้าว ซึ่งขณะที่บำบัดคุณหมอได้เฝ้าสังเกตดูว่าเด็กคนนั้นจะเล่นตุ๊กตา โดยมีเหตุการณ์ซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น ตุ๊กตาที่ว่ามีด้วยกัน 5 ตัวคือพ่อแม่และลูกทั้งสามคน ซึ่งขณะที่ตุ๊กตาพ่อและแม่ยุ่งกับธุระส่วนตัวของตัวเองอยู่ ตุ๊กตาลูกคนโตจะพยายามเล่นกับตุ๊กตาน้องคนกลาง แต่ตุ๊กตาน้องคนกลางไม่อยากเล่นด้วยจึงไปเล่นกับตุ๊กตาน้องคนเล็กแทน ทำให้ตุ๊กตาคนโตถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวอยู่อย่างนั้น
จุดนี้คุณหมอพอจะคาดเดาจากเหตุการณ์ได้ว่า เด็กคนที่กำลังเล่นตุ๊กตาอยู่อาจจะรู้สึกถูกทอดทิ้ง ด้วยเหตุนี้จึงลองพูดกับเด็กว่าควรจะทำอย่างไรกับตุ๊กตาตัวพี่ เด็กเขาจะพยายามหาคำตอบด้วยตัวเองผ่านการชี้แนะเล็กๆ น้อยๆจากคุณหมอว่า ตุ๊กตาตัวพี่น่าจะไปเล่นกับตุ๊กตาตัวน้องๆ ทั้งสอง ซึ่งหลังจากที่เด็กได้เล่น และหลังจากที่คุณหมอแนะนำให้พ่อแม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกเสีย ใหม่ ความน้อยอกน้อยใจดังกล่าวก็คลี่คลายลงได้
"แม้การเล่นจะเป็นการเยียวยาแผลใจ หรือเรื่องค้างคาใจของเด็กได้ แต่หมอไม่อยากจะให้พ่อแม่วิเคราะห์เอาเอง เพราะอาจจะวิเคราะห์ผิดก็ได้ ทางที่ดีลองปล่อยให้ลูกได้เล่นตามอิสระที่เขาอยากจะเล่น แต่ถ้าเมื่อใดเขายิ่งเล่น และไม่ได้รู้สึกดีขึ้นจากการเล่น ที่สำคัญการเล่นนั้นๆเป็นการเล่นที่ซ้ำไปซ้ำมาอยู่ อย่างนี้แสดงว่าเริ่มมีอะไรที่รุนแรงอยู่ในใจลูก ตรงนี้ควรพามาหาหมอดูได้"
ของเล่น จึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ แต่ยังช่วยคลี่คลายปมปัญหา ทั้งช่วยพัฒนากาย ใจ สติปัญญา ให้เด็กเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าเด็กคนนั้นๆจะเป็นเด็กปกติ เด็กพิเศษ หรือเด็กที่เจ็บป่วยก็ตาม
ตัวอย่างของเล่นเพื่อเด็ก 3 กลุ่ม
เด็กปกติ : ไม้บล็อก เลโก้ ตุ๊กตา ดิน ทราย น้ำ รถยนต์ของเล่น
เด็กพิเศษ : ไม้บล็อกขนาดใหญ่เพื่อง่ายกับการหยิบจับ สมุดนิทานที่เพิ่มหน้าพลาสติกเข้าไปแทรกระหว่างหน้าปกติเพื่อง่ายกับการหยิบ จับ ของเล่นที่ติดตีนตุ๊กแก (ติดเวลโก้)
เด็กถูกทำร้าย : ตุ๊กตาหุ่นมือ บ้านตุ๊กตา กระดาษพร้อมดินสอสี อุปกรณ์บทบาทสมมติ เช่น เข็มฉีดยาของเล่น ชุดนางพยาบาล ชุดหมอ
การแบ่งประเภทของของเล่นโดยทั่วไป
* Instructional Materials ของเล่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสอน เช่น เบ็คบอร์ด หรือหมุดที่ปักกระดาน เป็นต้น เป็นของเล่นเพื่อฝึกให้มือตาประสานกัน ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกทักษะทางภาษา Puzzles ฯลฯ
* Constructional Materials ของเล่นเพื่อเสริมจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ เช่น เลโก้ โดมิโน ฯลฯ
* Toys ของเล่นที่เลียนแบบของจริง เช่น ตุ๊กตาสัตว์ ตุ๊กตาคน รวมทั้งเสื้อผ้า สร้อยคอ ตุ้มหูของตุ๊กตา ชุดเครื่องครัวของเล่น รถยนต์ของเล่น ฯลฯ
* Real Objects หรือของจริงที่ใช้เล่นเป็นของเล่น เช่น ทราย น้ำ ไม้ โคลน เสื้อผ้า กะทะของจริง จาน ชามของจริง
ขณะนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าของเล่นเช่น มีด ปืน หรือที่เลียนแบบอาวุธต่างๆ เป็นของเล่นที่ทำให้เด็กก้าวร้าวหรือไม่ ซึ่งข้อสรุปมีออกมาว่าของเล่นดังกล่าวเป็นแค่เพียงเหตุปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด แต่สาเหตุที่ใหญ่ไปกว่านั้นก็คือถ้าผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวให้เด็กเห็น เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่าที่จะก้าวร้าวเพราะของที่เขาเล่นอยู่ ค่ะ
เคล็ดลับ..เลือกของเล่นให้ลูก
* ดูความปลอดภัย เช่น ไม่ควรซื้อของเล่นที่แตกหักง่าย หรือมีชิ้นส่วนเล็กๆ แหลมคมที่ลูกอาจหยิบแล้วกลืนลงไปในท้อง
* เหมาะสมกับวัย คือไม่ควรเลือกของเล่นที่ยากเกินไปสำหรับลูกที่จะเล่น เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะรู้สึกล้มเหลวและไม่อยากเล่นต่อ นอกจากนั้นไม่ควรเลือกของเล่นที่ง่ายเกินไป เพราะลูกอาจเบื่อและไม่รู้สึกท้าทายที่จะลองเล่นเรื่อยๆ
* แบ่งตามเพศ โดยปกติเรามักจะมีความคิดอยู่ในหัวว่าถ้าเป็นลูกสาวควรเล่นตุ๊กตา หรือลูกชายควรจะเล่นหุ่นยนต์ หรือของเล่นแบบผู้ชายๆ แต่จริงๆ แล้วของเล่นไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศกันมากมายอะไรหรอกค่ะ ทั้งลูกชายและลูกสาวสามารถเล่นตุ๊กตาได้เหมือนๆ กัน
* ความสามารถเฉพาะตัวของลูก ถ้าเป็นเด็กพิเศษ เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การหยิบจับไม่สะดวกเราสามารถหาของเล่นที่มีตีนตุ๊กตากำมะหยี่มาช่วยให้เกิด การหยิบจับง่ายขึ้นก็ได้ค่ะ
อนึ่ง เรื่องของสิ่งแวดล้อมในการเล่นก็สำคัญไม่แพ้กันเลยนะคะ เช่น เราควรเลือกของเล่นที่หลากหลายให้ลูกได้เล่น บวกกับปริมาณของของเล่นที่มากพอในระดับหนึ่ง และมีความซับซ้อนอยู่บ้าง นอกจากนั้นของเล่นควรมีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำซากจำเจ และที่สำคัญมีพ่อแม่ร่วมเล่นกับลูกด้วยในยามที่ลูกต้องการ ทั้งหมดจะช่วยพัฒนาการที่หลากหลายให้ลูกได้ค่ะ
เด็กพิเศษทั้ง 5
พ.ญ.นลินี เชื้อวณิชชากร คุณหมอเด็กประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ศาลายา บอกว่าเด็กพิเศษหรือเด็กที่มีความต้องการดูแลที่พิเศษนั้นมีด้วยกัน 5 กลุ่มค่ะ
1. เด็กพัฒนาการล่าช้า ( Global Developmental Delays) จะมีรูปแบบการเล่นที่เหมือนเด็กปกติเพียงแต่พัฒนาการบางด้าน เช่น ภาษา หรือกล้ามเนื้อมืออาจจะล่าช้ากว่าเด็กปกติ เช่นเด็กอาจจะเดินได้ช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป หรือพูดช้ากว่าเด็กปกติคนอื่นๆ ในรายที่รุนแรงจะเรียกว่าเป็นเด็กพัฒนาการล่าช้ารุนแรง (Severe Developmental Delays) เด็กเหล่านี้จะมีพัฒนาการล่าช้า แต่วิธีการเล่นของเขาจะซ้ำๆ กันอยู่อย่างนั้น เช่น จับของเล่นมาเคาะกันซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น หรือเอาของเล่นมาหมุนซ้ำไปซ้ำมาอยู่แค่นั้น
2. เด็กออทิสติก การเล่นของเด็กออทิสติกจะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทั้งไม่สื่อความหมายใดๆ เช่น เอารถของเล่นมาเรียงกันเฉยๆ หรือเอารถของเล่นมาจับหงายท้องแล้วหมุนเล่นอยู่อย่างนั้น หรือเอาตุ๊กตามาเล่นเพื่อจะจิ้มเข้าไปที่ลูกตาแต่เพียงเท่านั้น
3. เด็กที่มีปัญหาทางสายตา มักจะมีข้อจำกัดในการเลียนแบบเพื่อน ดังนั้นปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนจึงไม่ค่อยสมวัยนัก การเล่นจะเป็นลักษณะสำรวจเป็นหลัก เช่น เด็กจะสำรวจว่าของเล่นนี้เล่นอย่างไรมากกว่าจะหยิบของเล่นมาเล่นอย่างตั้งใจ
4. เด็กที่มีปัญหาทางการได้ยิน เด็กจะพูดได้ช้า หรือพูดไม่ค่อยได้ทั้งๆ ที่ถึงวัยที่ควรจะพูดได้แล้ว เพราะไม่ได้ยินเสียงพูดจากผู้อื่นนั่นเอง เขาจึงไม่สามารถเลียนเสียงและนำคำพูดออกมาสื่อความต้องการของตัวเองได้
5. เด็กที่มีปัญหาทางกาย (Physical Disability) เช่น กล้ามเนื้อไม่ดี ก็จะไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวตัวเองสักเท่าไหร่ ดังนั้นเขาจึงไม่ค่อยอยากจะเล่นกับเพื่อน หรือไม่ค่อยอยากจะเคลื่อนไหวไปทำอะไร การนั่งเฉยๆ จึงเป็นพฤติกรรมที่เราเห็นเด็กกลุ่มนี้ทำอยู่เป็นประจำค่ะ
เด็กพิเศษทั้ง 5 กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อเอื้อต่อการพัฒนา ให้ดียิ่งๆขึ้นไป และสิ่งแวดล้อมดังกล่าวก็คือ
1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เราควรจัดให้ลูกได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ เช่น พื้นที่โล่งกว้าง
2. สิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราๆจะเป็นผู้สร้างบรรยากาศนี้ให้เกิดขึ้น เช่นเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กปกติ
3. เลือกของเล่นที่ลูกสนใจ และชอบ
4. ทุกครั้งที่จะเล่นของเล่นกับลูกพิเศษ เราควรจะนำเสนอรูปแบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น จัดของเล่นให้ลูกได้เล่นทีละอย่าง หรือทุกครั้งที่เล่นเสร็จลูกต้องเก็บของเล่นเอง
ห้องสมุดของเล่น
เราอาจจะรู้จักแค่เพียงห้องสมุดที่มีหนังสือให้ยืมออกมาได้ใช่ไหมคะ แต่เดี๋ยวนี้มีห้องสมุดของเล่นเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ โดยเราสามารถแบ่งห้องสมุดของเล่นออกเป็น 4 แบบด้วยกัน
1. Toy Library จัดโดยชุมชนเอง โดยของเล่นจะเป็นชุมชนหามาเอง หรือได้รับจากการบริจาค
2. ห้องสมุดของเล่นสำหรับเด็กพิเศษ ของเล่นในนั้นจะผลิตขึ้นมาเฉพาะเพื่อเด็กพิเศษจริงๆ
3. ห้องสมุดของเล่นพื้นบ้าน (จะมีมากแถบๆประเทศทางยุโรป) ซึ่งจะเน้นการประดิษฐ์เอง ทำเอง
4. ห้องสมุดที่มีคนมาบริจาค มีอาสาสมัครมาซ่อมแซมของเล่นที่ใช้ไม่ได้แล้วให้
ในประเทศไทย ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาได้มีการจัดตั้งห้องสมุดของเล่นขึ้นมา โดยเบื้องต้นเอื้อประโยชน์เฉพาะกับเด็กที่เข้ามาใน "ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย" ของทางสถาบันฯ
ของเล่นพื้นบ้านช่วยพัฒนาการลูกได้
ยุคสมัยของการบริโภคทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นของเล่นพื้นบ้าน ที่เด็กรุ่นก่อนๆ เคยเล่นกันมา แม้ของเล่นเหล่านี้จะดูไม่ทันสมัย ไม่ไฮเทคแต่ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆ ได้แบบที่ไม่ต้องฟุ่มเฟือยด้วยค่ะ
* สัตว์กะลา เช่น หนู เต่า กระต่ายที่ทำมาจากกะลามะพร้าว ของเล่นชิ้นนี้ช่วยลูกเรื่องพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมือ และการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ
* จานบิน ใบพัด หรือคอปเตอร์ไม้ไผ่ ช่วยลูกเรื่องการกะระยะทิศทาง รวมทั้งกล้ามเนื้อมือและการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ
* ก๊อปแก๊ป ซึ่งทำจากกะลามะพร้าวที่หั่นตรงกลางเป็นสองซีก แล้วเจาะรูเพื่อร้อยเชือกเข้าไป เล่นโดยให้เด็กใช้นิ้วเท้าหนีบเส้นเชือกแล้วเดินเล่น ของเล่นชิ้นนี้ช่วยในเรื่องการทรงตัว ฝึกกล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อมือ
* นกหวีดไม้ไผ่ ของเล่นชิ้นนี้ช่วยลูกฝึกกล้ามเนื้อมือ และนิ้วมือได้เป็นอย่างดี
* กำหมุน เป็นของเล่นที่เด็กต้องใช้มือหนึ่งจับกำหมุนเอาไว้ โดยมืออีกข้างหนึ่งดึงเชือกเพื่อให้ใบพัดหมุนไปมาอย่างรวดเร็ว กำหมุนช่วยลูกเรื่องการกะระยะทิศทาง กล้ามเนื้อมือ และการประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ
* ลูกข่างสะบ้า ของเล่นชนิดนี้ช่วยลูกเรื่องการกะระยะทิศทาง กล้ามเนื้อมือและการทำงานประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อมือ