คุณคิดและรู้สึกอย่าง ไรคะเวลาได้ยินข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในเด็ก ไม่ว่าเด็กจะเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ถูกกระทำหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเหล่านั้นโดยทางอ้อม !
นับวันข่าวคราวทำนองนี้ในบ้านเราจะมีมากขึ้น เกิดกับเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ และดูเหมือนขีดขั้นของความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่มีใครอยากให้เจ้าตัวน้อยของเราเข้าไปอยู่ในวังวนของเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ และไม่มีใครปฏิเสธว่าจุดเริ่มของการตัด ลดทอนความรุนแรงของปัญหาอยู่ที่การอบรมเลี้ยงดู ลูกที่บ้าน ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กระนั้นปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น
อะไรเป็นสาเหตุ ?..
เพราะพ่อแม่ไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจอย่างนั้นหรือ ?
เพราะสิ่งกระตุ้นจากสังคม ?
เพราะพ่อแม่เองไม่รู้ว่าแต่ละวันๆ ที่ผ่านไป ตัวเองได้บ่มเพาะให้ลูกคุ้นชินกับความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว ?
อะไร อย่างไร และเราพ่อแม่จะป้องกันแก้ไขได้อย่างไร ?
อย่างนี้ใช่ “ความรุนแรง”กับลูกหรือเปล่า
ไม่ใช่แค่การตี การทำร้ายทางกายเท่านั้นนะคะ ที่เรียกว่าเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ยังมีการกระทำอื่นที่เราอาจคิดไม่ถึงเลยว่าเป็นการสร้างความรุนแรงต่อเด็ก หรือลูกที่เรารักด้วย
การทำร้ายทางใจ เช่น การเลี้ยงลูกอย่างลำเอียง รักพี่หรือน้องมากกว่า การใช้คำพูดที่กระทบกระเทือนใจไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น ประโยคประเภทเกิดมาทำไม ทำไมชอบทำให้พ่อแม่ลำบาก เหล่านี้สามารถสะสมจนเกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ ขาดความมั่นคงทางจิตใจ เพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก นานวันเข้าก็อาจแสดงออกด้วยการกระทำที่รุนแรงจากน้อยแล้วค่อยพัฒนาไปหามากได้
การปล่อยปละละเลย เป็นข้อที่คนไม่ค่อยนึกถึงกันค่ะ ทั้งที่เกิดขึ้นในหลายครอบครัว โดยพื้นฐานเด็กทุกคนต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ การปล่อยปละละเลยนี้ทั้งจงใจหรือละเลยโดยไม่รู้ตัวจึงเป็นการทำร้ายเด็ก อย่างหนึ่ง เช่น ไม่มีเวลาให้ลูก หรืออยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้ใส่ใจลูกอย่างที่ควรจะเป็น อาจเพราะเหนื่อยจากงาน สนใจเรื่องตัวเองมากกว่า ยกหน้าที่ให้คนอื่นดูแลไปแล้ว คิดว่าให้สิ่งที่ดีและสำคัญกับชีวิตลูกแล้ว
คุณเป็นอีกคนที่กำลังมอบสิ่งเหล่านี้กับลูกอยู่หรือเปล่า ?
การเลี้ยงดู วัคซีนป้องกันลูกไกลห่างความรุนแรง
สิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูตลอดจนทัศนคติของพ่อแม่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทาง บุคลิกภาพของลูกมากค่ะ เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เล็กๆ จะมีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่เกิดกับตัวเอง รู้จักการปรับตัวกับสถานการณ์ ปัญหาและผู้คน และมีอารมณ์ที่มั่นคง การเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็กจึงส่งผลต่อพฤติกรรม บุคลิกภาพของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่พูดกันอย่างลอยๆ นะคะแต่สามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ว่า สมองส่วนที่ควบคุมดูแลเรื่องอารมณ์เริ่มทำงานตั้งแต่แรกเกิด เด็กที่ได้รับการดูแลอย่างอ่อนโยน ได้รับการโอบกอดสัมผัส มีการตอบสนองที่ดีก็จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสมองส่วนนี้
การอบรม เลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงวัย 6 ขวบจึงไม่ได้มีส่วนต่อพฤติกรรมของเด็กเท่านั้น แต่มีส่วนในการกำหนดโครงสร้างและการทำงานของสมองที่ดูแลเรื่องอารมณ์ด้วย ขณะที่เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างละเลย ด้วยความรุนแรง สมองก็จะเรียนรู้การกระทำที่ถูกละเลย การกระทำที่ก้าวร้าวหรือรุนแรงนั้น และรับรู้หรือเข้าใจสังคมในทางบวกได้ยาก ฉะนั้นทางออกของปัญหาเรื่องความรุนแรง จึงต้องเริ่มต้นที่การดูแลปัจจัยแวดล้อมในบ้านไม่ให้ลูกคุ้นเคยกับความรุนแรงค่ะ
เตรียมตัวเองให้พร้อม คือพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องเงินทองเท่านั้น แต่หมายถึงการเตรียมตัวเองให้พร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม วางแผนการมีลูกทั้งคนแรกและคนที่สอง เพราะการมีลูกในจังหวะที่ไม่เหมาะและไม่ได้มีการเตรียมพร้อมก็อาจสร้างความ วิตกกังวลทั้งกับตัวเองและลูกได้ เช่น การมีลูกติดๆ กัน โดยทั่วไปคุณหมอแนะนำให้มีลูกห่างกันประมาณ 2-3 ปี เพราะเด็กอายุ 3 ขวบเริ่มดูแลตัวเองได้มากแล้ว เริ่มสนใจเล่นกับเพื่อน ไม่เกาะติดพ่อแม่มากเหมือนก่อน เมื่อมีน้องความรู้สึกก็ไม่กระทบกระเทือนมากเท่าไหร่ และคนน้องเองก็จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
อย่าให้ลูกขาดรัก เด็กทุกคนต้องการเป็นที่รักและต้องการมีคนที่เขารัก เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงทางใจให้เกิดขึ้นกับใจดวงน้อย ขณะเดียวกันพ่อแม่เองนอกจากต้องให้ความรักกับลูกแล้วยังต้องรักลูกให้เป็น เพื่อไม่ให้รักนั้นหวนกลับมาทำร้ายลูก
บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าวิธี รักของพ่อแม่ก่อปัญหาพฤติกรรมและบ่มเพาะความรู้สึกบางอย่างให้ลูก เช่น รักอย่างตามอกตามใจเต็มที่ลูกก็จะเติบโตมาเป็นเด็กที่ปรับตัวยาก ขาดความอดทน หรือถ้ารักอย่างที่เข้าไปกะเกณฑ์จุกจิกลูกก็จะเติบโตเป็นเด็กที่รู้สึกว่า ตัวเองมีปมด้อย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับตัวลูกเลย
ฉะนั้น รักของคุณควรยืนอยู่บนความมีเหตุมีผลและให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเขา เองด้วย แม้ลูกในวัยนี้จะยังเด็กก็ควรให้เขาเริ่มเรียนรู้ขอบเขตของการกระทำ วินัยบ้างได้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยตามใจไปเสียทุกเรื่อง
ใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์ ถึงวัยที่ลูกเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากทดลอง อยากเอาชนะ ออกอาการที่เรียกว่าดื้อ ซนให้เห็นอยู่ตลอดวัน และเนื่องจากยังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้มากนักจึงแสดงความรู้สึก ความต้องการของตัวเองด้วยการกระทำ เช่น ตี หยิก ดึงเมื่อไม่พอใจ หยิบคว้าทันทีเมื่อต้องการสิ่งใด บ่อยครั้งทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดอารมณ์ได้ง่ายๆ และหากไม่เข้าใจลักษณะพัฒนาการตามวัยนี้ของลูกด้วยแล้ว โอกาสที่จะนำไปสู่วิธีการจัดการ การดูแลที่ไม่ถูกต้อง หรือลงเอยด้วยการลงโทษจึงมีสูง
ดังนั้นจึงควรสอนให้ลูกรู้ว่าจะแก้ ปัญหายังไง โดยพยายามทำความเข้าใจกับพัฒนาการตามวัยของลูก ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดีก่อน เมื่อลูกออกอาการดื้อ พูดไม่ฟังแทนที่จะตอบโต้ด้วยการตวาด ดุ หรือทำโทษ ก็พาลูกออกจากสิ่งนั้นแล้วอธิบายเหตุผลด้วยท่าทีสงบ เช่น ถ้าลูกอยากได้ของเล่นแล้วลองไปนอนดิ้นกับพื้น แทนที่จะตีก็ต้องทำให้เขาสงบอารมณ์ลงแล้วอธิบายกับเขา แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจเหตุผลมากนัก แต่อย่างน้อยลูกก็รับรู้ได้ถึงปฏิกิริยาการแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อเขา และเรียนรู้วิธีปฏิบัติของพ่อแม่เมื่อเจอปัญหาไปด้วยในตัว
พ่อแม่ ต้นแบบคนสำคัญ ในวัยที่พร้อมซึมซับและเรียนรู้จากการเลียนแบบ โดยเฉพาะจากคนที่อยู่ใกล้ตัวทั้งพ่อแม่และคนในครอบครัว การปฏิบัติตัวของพ่อแม่ทั้งที่ปฏิบัติต่อลูก หรือปฏิบัติต่อกันเองหรือกับผู้คนในบ้านเป็นเหมือนฉากละครที่ลูกจะต้องได้ เห็นและสัมผัสอยู่ทุกวัน พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลต่อคำพูด ท่าที การกระทำและวิธีคิดของลูกมาก
ถ้าคุณเป็นคนที่รักและเอื้ออาทรกับสัตว์ลูกก็จะเรียนรู้วิธีนั้นจากคุณ
ถ้าคุณเป็นคนที่เห็นสัตว์เดินผ่านมาแล้วต้องขอดึงหางสักหน่อย เตะสักที ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะเล่นกับสัตว์เช่นนั้น
ถ้าคุณเป็นคนที่ใครขับรถปาดหน้า พูดจาไม่เข้าหูก็พร้อมสบถ ต่อว่า ตะคอกและปฏิบัติตอบด้วยวิธีเดียวกัน ลูกก็จะเรียนรู้วิธีเหล่านั้น
ถ้า คุณขัดใจ ขัดแย้งกันแล้วตัดสินด้วยการมีปากเสียง ลงไม้ลงมือลูกก็จะเรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาด้วยวิธีเดียวกัน เพราะพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ต่างอะไรจากพฤติกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่ลูกสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ที่พบเห็นไม่ว่าจากประสบการณ์ตรงหรือ ประสบการณ์ทางอ้อม
ปลูกหัวใจเกื้อกูล เอื้ออาทรให้ลูก ในสังคมเราทุกวันนี้ปลูกฝังแต่เรื่องของการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันจนแทบจะ เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตกันแล้ว เราอาจต้องทานกระแสเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และรู้จักกับการดูแล แบ่งปันและนึกถึงผู้อื่นทั้งที่เป็นมนุษย์ด้วยกันและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย แม้วันนี้ที่ลูกยังเล็กจะยังไม่เห็นภาพชัด แต่อย่างน้อยการได้เริ่มต้นสั่งสมสิ่งเหล่านี้ในหัวใจลูกก็เป็นพื้นฐานที่ ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้งอกงามไปพร้อมกับการเจริญเติบโตทางกาย
สื่อ...กระตุ้น สร้างความคุ้นชิน เราไม่สามารถไปกำหนดหรือกะเกณฑ์สื่อได้มากนัก ขณะเดียวกันสื่ออันหลากหลายในปัจจุบันก็บุกมาถึงห้องนอนได้ หนทางที่เราจะทำได้คือการเลือกสรร คัดกรองสื่อที่ดีมีประโยชน์ ไม่ยั่วยุ หรือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงกับลูก เพราะการที่ได้เห็นภาพ ได้ยินเสียงการต่อสู้ ยิง เตะ ต่อย อยู่ทุกวันๆ จะเกิดเป็นความเคยชิน วันนี้อาจเลียนแบบเพื่อความสนุกสนาน แต่วันหนึ่งข้างหน้าวิธีการต่อสู้ การเข้าปะทะซึ่งเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในวันนี้ก็อาจเป็นสิ่งที่เขาเลือกจะ แสดงออกเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีการปะทะก็เป็นได้
และในวัย 1-3 ปีที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้โลกภายนอกเช่นนี้ ควรแนะนำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนากล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว มากกว่าที่จะปล่อยให้ลูกนั่งอยู่หน้าจอ
เล่น ของเล่น เด็กเรียนรู้จากการเล่น เราคงไม่อยากให้ลูกเราเรียนรู้เรื่องความรุนแรงจากของเล่นที่เราหวังใช้เป็น สื่อในการเรียนรู้ของลูกใช่มั้ยคะ ดังนั้นของเล่นที่จะนำเด็กไปสู่การเล่นที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะปืนของเล่น ดาบของเล่นไม่ควรจะให้ลูกได้เล่นมาก แต่ไม่ถึงกับห้ามเสียทีเดียว หากสิ่งที่ต้องทำคือต้องบอกและสอนว่าอันไหนเล่นได้ ไม่ได้อย่างไร อันตรายยังไง วิธีเล่นแบบไหนไม่ควรเล่น และต้องมีกลวิธีในการยับยั้ง
ห้าม ปรามเมื่อลูกรบเร้าจะเอาของเล่นเหล่านี้ และชักจูง เชิญชวนให้ลูกอยากลองเล่นของเล่นที่จะช่วยสร้างเสริม พัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเขา เช่น บล็อกไม้ ตุ๊กตา เกมสนุกๆ แป้งปั้น เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว
อุดช่องว่างของตัวเอง
วิธี อบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากลักษณะเฉพาะของลูก สภาพแวดล้อมในครอบครัว เช่น เศรษฐกิจ เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หรือแม้แต่ลักษณะของตัวพ่อแม่เอง ซึ่งหากเราสามารถควบคุมทุกปัจจัยให้เอื้อต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับ ลูกได้ก็เป็นเรื่องที่ดีและควรทำควบคู่กันไป แต่การควบคุมปัจจัยภายนอกอาจเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นขณะที่คุณกำลัง พยายามควบคุมปัจจัยภายนอกอื่นๆ อยู่นั้น ลองเริ่มต้นควบคุมปัจจัยภายในจากตัวเองก่อน ว่าเรามีช่องว่างใดที่อาจนำความรุนแรงไปสู่ครอบครัวได้ แล้วปรับให้ตัวเองพร้อมเผชิญกับการมีครอบครัวและเลี้ยงดูลูกท่ามกลางกระแส การเปลี่ยนแปลงที่เราต้องสร้างความเข้มแข็งทางอารมณ์และจิตใจตัวเองและลูก
การปรับตัวเองนี้ไม่ได้ดีต่อลูกและครอบครัวเท่านั้นแต่ยังเป็นผลดีกับตัวเองด้วยค่ะที่ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเอง
- ลักษณะ สภาพอารมณ์ของตัวเองและคู่ เช่น ถ้าเป็นคนอารมณ์ร้อนก็ต้องหาวิธีควบคุมอารมณ์ตนเอง เตือนสติซึ่งกันและกัน
- ความสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไร เพราะความสุขในชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ การปฏิบัติต่อกันของพ่อแม่ด้วยความรักความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุข
- ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก อย่าให้ประสบการณ์เหล่านั้นมาทำร้ายลูก แต่ใช้ประสบการณ์เหล่านั้น บวกกับความรัก ความเข้าใจที่คุณมีต่อลูกแล้วสร้างสรรค์เป็นวิธีการเลี้ยงดูลูกในแบบฉบับของ ตัวคุณเอง สิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำคุณรู้ได้ด้วยหัวใจตัวเองอยู่แล้ว เพราะคุณเองก็เคยมีหัวใจของความเป็นลูกอยู่ในตัวนี่นา
สิ่งที่ถูก บ่มเพาะในหัวใจลูกเราในวันนี้เป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจ พลังผลักดันหรือแรงกดดันให้เกิดพฤติกรรมได้ทั้งดีและไม่ดีในวันข้างหน้า เรามาทำให้ทุกวันในวัยเด็กของลูกวันนี้เป็นแรงบันดาลใจในการกระทำสิ่งดีใน วันข้างหน้ากันเถอะค่ะ