เวลาที่เด็กอายุไม่กี่ขวบ พบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปสู่สิ่งใหม่ แกจะเป็นอย่างไรกันบ้างนะ แล้วเราคนเป็นพ่อแม่ควรเตรียมลูกให้รับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไรให้กระทบ กับหัวใจดวงกะจิดริดนี้ให้น้อยที่สุด เรื่องสำคัญแบบนี้ต้องเตรียมการกันหน่อยค่ะ
เข้าโรงเรียนใหม่
บางบ้านลูกๆ ก็เริ่มถึงวัยที่จะต้องจากบ้านไปเข้าโรงเรียน หรือเนิร์สเซอรี่กันแล้ว แต่เด็กเล็กๆ บางคนก็ติดคนที่บ้าน และไม่ค่อยคุ้นกับคนแปลกหน้า หรือสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ฉะนั้นในวันเปิดเทอมก็อาจจะมีการร้องไห้ น้ำหูน้ำตาไหลกันได้ ก็ต้องมีมาตรการเตรียมการกันก่อนค่ะ อาจจะเริ่มด้วยการ ค่อยๆ พาลูกไปเยี่ยมชมโรงเรียนให้คุ้นเคยตั้งแต่ที่แรก พาไปเจอคุณครูประจำชั้น และลองให้คุณครูชวนคุยให้เด็กคุ้น ในกรณีของวัยประถม ถ้าโรงเรียนนั้น มีช่วงซัมเมอร์ให้ไปลองเรียนก่อน ก็ลองส่งลูกไปเรียนชิมลางดูก่อนก็ได้ค่ะ พอถึงวันเปิดเทอมใหญ่จริงๆ จะได้ไม่มีปัญหาไม่ยอมไปโรงเรียน
ถ้าพ่อ(แม่)จากไป
เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากไปด้วยเหตุเสียชีวิตหรือหย่าร้าง หากจากไปด้วยประการแรก ตัวคุณเองแม้จะเศร้าโศกแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติต่อลูกเหมือนเคย เพราะแม้ลูกจะดูเหมือนไม่เข้าใจภาวะที่เกิดขึ้นนัก แต่ที่แน่ๆแกสัมผัสได้ถึงอารมณ์เศร้าหม่นของคุณ ที่สำคัญอย่าเผลอระบายความเครียดหรือความหงุดหงิดไปที่ลูก
แต่ถ้าการจากไปเป็นเพราะหย่าร้าง สิ่งสำคัญคือ อย่าขู่หรือบอกลูกว่า "พ่อ(แม่)ไม่รัก" ลูกควรมีภาพที่ดีในฐานะที่คุณเป็นพ่อแม่ของแก โดยคงความสัมพันธ์ของพ่อหรือแม่ที่มีต่อลูกไว้ให้สม่ำเสมอที่สุด อย่าทำให้ลูกรู้สึกสูญเสียคนใดคนหนึ่งไป โดยเฉพาะในวัยนี้ที่แกกำลังฟอร์มบุคลิกภาพ และต้องการแบบอย่างจากทั้งพ่อและแม่ การเปิดโอกาสให้อีกคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับลูก ได้มีเวลาร่วมกิจกรรมกับลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อภาวะจิตใจ ของลูกในวัยนี้ค่ะ
เมื่อมี...พี่เลี้ยงคนใหม่
ควรมีการวางแผนล่วงหน้าสัก 1-2 เดือนเพื่อทำให้ลูกรู้สึกค่อยๆคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงคนใหม่ ก่อนที่จะต้องมอบหน้าที่นี้ให้พี่เลี้ยงอย่าง เต็มตัว แต่ตัวคุณแม่ยังต้องสงวนสิทธิในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเกี่ยวกับตัวลูก บางอย่างไว้และทำอย่างสม่ำเสมอนะคะ เช่น กอด หอมลูกก่อนนอน เล่านิทานให้ฟัง
สิ่งที่ต้องย้ำเป็นพิเศษก็คือ ไม่ควรเปลี่ยนพี่เลี้ยงให้ลูกบ่อย เพราะมีผลทำให้การพัฒนาของเด็กชะงักไปได้ เนื่องจากลูกต้องใช้เวลานานในการต้องปรับตัว ปรับอารมณ์ ปรับความรู้สึกให้คุ้นเคย
น้องใหม่ ร้ายบริสุทธิ์..ตามมาแล้ว
ไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลยถ้าบ้านไหนที่มี เจ้าตัวน้อยๆวัยอุแว้อีกคน แล้วพบว่าเจ้าคนพี่เกิดอาการถดถอย งอแง ทำอะไรไม่เป็น อ้อนแม่เป็นลูกแหง่ นั่นแหละค่ะอาการอิจฉาน้องและเรียกร้องความสนใจของเขาล่ะ
สถานการณ์อย่างนี้ต้องเตรียมเจ้าคนพี่พอ สมควร รวมทั้งเตรียมทุกคนในบ้าน ตั้งกติการ่วมกันว่าห้ามพูดห้ามล้อ ห้ามขู่ว่าจะไม่รักคนพี่หรือกลายเป็นหมาหัวเน่าไปแล้วก็ห้ามพูดค่ะ ที่ เคยกกเคยกอดคนโตก่อนนอนยังไงก็ยังคงต้องทำเหมือนเดิม ที่สำคัญแม้จะเหนื่อยจากการต้องกลับมาเป็นแม่ลูกอ่อนอีกครั้ง แต่อารมณ์ฉุนเฉียวหรือเคร่งเครียดก็ไม่ควรแพร่งพรายให้คนพี่สัมผัสได้ เพราะแกอาจเหมาไปว่า เพราะน้องทำให้แม่เปลี่ยนไป
ถึงคราว "ป่วย"
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกคือพัฒนาการด้าน การปรับตัวให้เข้ากับสังคมของลูกจะหยุดชะงักลงทันที แกจะกลับมาพึ่งพิงพ่อแม่มากเหมือนตอนวัยอุแว้ รู้สึกไม่มั่นคง กลัวถูกทอดทิ้ง จะอ้อนและงอแงมากกว่าปกติ การดูแลเอาใจใส่ลูกเป็นพิเศษจะช่วยสร้างความไว้วางใจและเรียกความมั่นคงทาง ใจกลับมาได้อีกครั้ง
ถ้าเจ็บป่วยถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล พ่อแม่อาจต้องเตรียมความพร้อมลูกพอสมควรค่ะ ถึงเวลาไปโรงพยาบาล ก็ควรพาลูกไปสำรวจสถานที่(ในที่ๆได้รับอนุญาติแล้ว)และชวนพูดคุย ทำความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่พยาบาล รวมถึงการปล่อยให้ลูกได้วิ่งเล่นบ้าง จะทำให้ลูกคุ้นได้ง่าย
กรณีที่ลูกต้องนอนโรงพยาบาล พ่อแม่ควรอยู่กับลูกตลอดเวลา ถ้าเลี่ยงใส่ชุดของโรงพยาบาลได้ก็ดี เพื่อลดความรู้สึกเครียดและกังวลกับการแปลกสถานที่ของลูกไงคะ ของเล่นชิ้นโปรดของลูกห้ามลืมเด็ดขาด และถ้าทำได้คุณควรเป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆให้ลูกเอง เช่น อาบน้ำ ชงนม ป้อนข้าว แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่พยาบาลได้ทำความคุ้นเคยกับลูกด้วย สำหรับลูกเล็กแล้ว คุณแม่อาจขออนุญาติเป็นผู้ป้อนยาให้ลูกเองเพราะจะทำให้ลูกอุ่นใจขึ้นเป็นกองค่ะ
และไม่ว่าในแต่ละวันจะมีสถานการณ์ใดๆ เข้ามา ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่หันกลับมามองเจ้าตัวเล็ก อุ้มชูดูแลสภาวะจิตใจของแกไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาเรื่องราวต่างๆ ไม่ปล่อยปละละเลยความรู้สึกของลูก หรือเห็นว่าลูกเป็นเพียงมนุษย์ตัวน้อยที่เอาแต่เล่นสนุกทั้งวัน