เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ
อารมณ์ไม่มั่นคงพา (หัวใจ) ป่วย
ร่างกายของเราล้วนเชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกันทุกส่วน ไม่เว้นแม้แต่พัฒนาการด้านอารมณ์ ถ้าหากไม่ได้รับการตอบสนองและพัฒนามาอย่างมั่นคงตั้งแต่แรกเกิด จะส่งผลกระทบไปถึงสภาพจิตใจ บุคลิก การแสดงออกกับผู้อื่น หรือแม้แต่หัวใจดวงเล็กของหนูๆ ด้วยค่ะ
อารมณ์วัยซนพัฒนาจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัย 1-3 ปี เป็นช่วงที่ต่อเนื่องมาจากวัยแรกเกิดถึง 1 ปี นั่นคือ เด็กต้องมีความรักใคร่ผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment) กับพ่อแม่ตั้งแต่วัยเบบี้ หากช่วงวัยที่ผ่านมาเด็กรักใคร่ผูกพันกับพ่อแม่แบบไม่มั่นคง ก็จะแสดงออกในลักษณะที่ไม่เข้าหาคุณพ่อคุณแม่ หรือไม่ก็ติดคุณพ่อคุณแม่จนไม่กล้าเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ตรงกันข้ามถ้าเด็กมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงจะส่งผลให้มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ มั่นคงตามมา
เด็กๆ วัยนี้มักแสดงออกถึงความต้องการที่จะทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง (Autonomy) จนอาจเหมือนต่อต้านคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ซึ่งทางที่ดีก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเองบ้าง เช่น กินข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ใส่เสื้อสีอะไร จะเล่นที่ไหน จะเล่นอะไร แต่ก็ต้องมีขอบเขตที่เหมาะสม เช่น ไม่อนุญาตให้ทำเรื่องที่เป็นอันตรายหรือส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงการเริ่มกำหนดกฎกติกาเบื้องต้น (ช่วงเวลานอนหรือกิน) เพราะหากคุณพ่อคุณแม่บังคับหรือตามใจลูกทุกอย่าง ก็จะส่งผลต่อการไม่รู้จักควบคุมตัวเอง จนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ในที่สุด
พัฒนาการทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมไม่ได้หมายถึงเด็กที่อารมณ์ไม่ดีบ้างเวลา มีสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจมากระทบ อย่างเช่น หงุดหงิด โมโห โกรธหรือเสียใจ เพราะอารมณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดได้กับคนทุกวัยอยู่แล้ว แต่พัฒนาการทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมจะหมายถึงการที่เด็กควบคุมและจัดการกับ อารมณ์ไม่ได้ หวาดกลัว หงุดหงิด หรือวิตกกังวลมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมนั่นเองค่ะ
หัวใจป่วยจากอารมณ์
เด็กที่รักใคร่ผูกพันกับผู้เลี้ยงดูแบบไม่มั่นคง เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ตึงเครียด มักมีหัวใจที่เต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้นมากกว่าเด็กที่รักใคร่ผูกพันกับผู้เลี้ยงดูแบบมั่นคง ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจหรือความดันที่สูงขึ้นนั้นจะลดลงได้ช้ากว่าเด็ก อีกกลุ่ม โดยการเต้นของหัวใจเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่เราไม่สามารถควบ คุมให้ทำงานหรือหยุดทำงานได้ ระบบประสาทอัตโนมัติพัฒนาตั้งแต่วัยทารก
หากได้รับการเลี้ยงดูและตอบสนองอย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลต่อการทำงานของระบบนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่จนเกิดความ ผูกพันที่มั่นคงหรือไม่ หากเด็กๆ เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วบ่อยเป็นประจำ ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกาย ที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจได้ในอนาคตค่ะ
นอกจากนี้ ความรักใคร่ผูกพันทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคงยังส่งผลกระทบต่อจิตใจที่จะทำให้ เด็กๆ มีแนวโน้มวิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มีความมั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง หรือมีความก้าวร้าวได้ และยังทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ไม่กล้าเล่นหรือออกไปสำรวจโลก ก็จะทำให้ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทสัมผัส หรือไม่รู้จักวิธีแสดงออกกับผู้อื่นเพราะยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง จนไม่อาจเรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่นตามไปด้วย และจะเกิดปัญหาการเข้าสังคมเมื่อเติบโตขึ้นค่ะ