ที่ไหนมีน้ำขัง ที่นั่นก็มียุง และไข้เลือดออกก็จะตามมา
โรคร้ายที่มีอันตรายต่อสุขภาพของหนูๆ โดย พ.ญ. สุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อเตือนภัยให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงอาการ รวมถึงวิธีป้องกันให้ลูกรักพ้นภัยจากโรคร้ายนี้ครับ
ปัจจุบันสถานการณ์โรคนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ?
มี ผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมีมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการขยายตัวของชุมชนค่ะ ซึ่งจะพบมากในฤดูฝน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กจะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่าอายุ 15 ปีค่ะ พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมากที่สุด
ส่วนในเด็กแบเบาะนั้นพบว่ามีการติดเชื้อ เหมือนกัน หากถูกยุงที่มีเชื้อโรคกัด หรืออาจจะติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ คือในหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากแล้ว และป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก เชื้อโรคก็สามารถส่งผ่านถึงลูกได้ เมื่อลูกคลอดออกมาก็จะเป็นโรคไข้เลือดออก แต่ในหญิงที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ เมื่อได้รับการรักษาทันท่วงที เด็กในครรภ์ก็ไม่ติดเชื้อค่ะ
ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมามีการแพร่ขยายไปในอเมริกาใต้ ในประเทศเวเนซูเอล่า บราซิล คิวบา ซึ่งแพร่จากประเทศแทบเอเชียอาคเนย์ โดยผ่านทางการค้าขายยางรถยนต์เก่าที่มีไข่ยุงลายติดไป หรือว่ายุงอาจจะแฝงไปตามยานพาหนะ เช่น เรือสินค้า เป็นต้น และโรคนี้เริ่มแพร่กระจายไปในประเทศที่มีภูมิอากาศเขตร้อนมากขึ้นค่ะ
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อโรคอะไรครับ ?
โรคไข้เลือดออกนั้นพบว่าเริ่มระบาดครั้งแรกในฟิลิปปินส์ เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาและระบาดเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.2501 โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เชื้อเดงกิ ( Dengue Virus ) โรคนี้จึงชื่อว่า Dengue hermorrhagic Fever ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะมี 4 ชนิด แบ่งเป็น Den -1 ถึง Den-4 ซึ่งมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกันไปในด้านลักษณะยีน หรือ ดีเอ็นเอ
ซึ่งถ้าสมมุติว่าเกิดติดเชื้อ Den -1 พอได้รับการรักษาแล้ว ร่างกายก็จะเกิดภูมิคุ้มกันก็จะไม่ติดเชื้อ Den-1 ไปตลอดชีวิต และร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันไวรัส Den-2 ถึง Den -4ขึ้นมาด้วย แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันในช่วงสั้นๆ คือในช่วง 6-12 เดือนเท่านั้น พอหลังจากนั้นไปผู้ป่วยก็สามารถติดเชื้อไวรัส Den-2 ถึง Den - 4 ได้ ซึ่งการติดเชื้อไข้เลือดออกจากไวรัสแต่ละชนิดนั้น จะมีอาการเหมือนกันค่ะ
พาหะนำโรคก็คือ ยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน โดยเกิดจากยุงตัวเมียที่ดูดเลือดของคนเพื่อเป็นอาหารก่อนที่จะไปวางไข่ เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่แล้วไปกัดคนที่ไม่ป่วย ก็จะแพร่เชื้อไข้เลือดออกได้ ซึ่งยุงลายนั้นมักจะไข่ในภาชนะที่คนทำขึ้น เช่น ไห โอ่ง หรืออะไรที่มีน้ำขังไว้ภายใน 7 วัน และไข่ยุงลายนั้นสามารถอยู่ในความแห้ง ความร้อนได้ถึง 1 ปี แม้น้ำตรงนั้นจะแห้งไปแล้วก็ตาม ซึ่งพอมีน้ำมาขังใหม่ ไข่ก็จะเพาะกลายเป็นลูกน้ำและเติบโตเป็นยุงลาย นี่เป็นสาเหตุที่เราจำเป็นต้องควบคุมโรคนี้ค่ะ
จะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อไข้เลือดออกครับ ?
โรคไข้เลือดออกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จะมีอาการของโรคเหมือนกัน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะค่ะ
1. ระยะไข้สูง คือ มีไข้สูงขึ้นมาอย่างกะทันหัน ในช่วง 2 -7 วันหลังติดเชื้อ ซึ่งช่วงที่มีไข้นี้จะเป็นช่วงที่พบเชื้อไวรัสในเลือดมากที่สุด ในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการชักร่วมด้วย ใบหน้าจะแดงมาก ไม่ค่อยไอ ไม่มีน้ำมูก ตัวร้อน เบื่ออาหาร จะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณกระบอกตา มีอาการตับโต หากกดบริเวณตับคนไข้จะมีอาการเจ็บ ถ้าตรวจดูตามร่างกายก็จะมีจุดแดงๆ เล็กๆ ตามข้อพับค่ะ ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตตามซอกรักแร้ หรือบริเวณสะบักหลังของเด็กจะเห็นจุดแดงได้ชัดเจนกว่าค่ะ
2. ระยะวิกฤติ คือ ระยะหลังจากที่มีไข้สูงขึ้น โรคไข้เลือดออกนั้นหากวินิจฉัยพบได้ในระยะแรก โอกาสที่จะหายมีมากค่ะ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปล่อยไว้ให้อาการของโรครุนแรง ก็จะเข้าสู่ภาวะนี้ เด็กจะมีอาการถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือดสีดำ เกิดภาวะเลือดออกในสมอง และช็อกได้ ซึ่งอาการช็อกนั้นจะเกิดหลังจากระยะไข้ขึ้นสูงแล้ว 1-2 วันค่ะ โดยเด็กจะมีอาการกระหายน้ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเบา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาการก็จะแย่ลง และจะเสียชีวิตภายในเวลา 12 - 24 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีภาวะช็อกค่ะ แต่หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธีแล้วก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
3. ระยะฟื้น คือ หลังจากที่ได้รับการรักษาเรียนร้อยแล้ว ซึ่งระยะนี้อาการจะดีขึ้น ความดันโลหิตจะกลับเป็นปกติ ตับที่โตจะลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ค่ะ และจะเริ่มกลับมากินอาหารได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีผื่นแดงและคันอยู่ค่ะ
มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้ไหมครับ ?
สำหรับ วัคซีนขณะนี้อยู่ในช่วงที่มีการศึกษาทางห้องทดลอง กำลังคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสไข้เลือดออกกันอยู่ค่ะ โดยนำเชื้อไวรัสเดงกิทั้ง 4 ชนิดมาทำให้อ่อนแอลงแล้วฉีดเข้าไป แต่ขณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
พ่อแม่สามารถดูแลอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ไหมครับ ?
ใน การรักษาเบื้องต้นนั้น พ่อแม่อาจจะดูอาการเด็กอยู่ก่อนได้ โดยสังเกตอาการสักวันหนึ่ง เช็ดตัวเพื่อให้ไข้ลด ให้เด็กได้ดื่มน้ำมากๆ ซึ่งอาจจะเป็นพวกน้ำผลไม้ และให้ยาลดไข้อย่าง พาราเซตามอล แต่อย่าให้กินมากนัก ควรให้เป็นครั้งคราว
หากเด็กมีอาการที่บ่งว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก ก็ไม่ควรซื้อยาพวกยาลดไข้แรงๆ เช่น แอสไพรินมาให้ลูกกินค่ะ ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโดยด่วนจะดีกว่า เพราะหากซื้อยาลดไข้ที่มีฤทธิ์ยาแรงๆ มาให้เด็กกิน อาจเป็นอันตรายได้เพราะยาบางตัวจะมีผลต่อลำไส้ กระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้มีผลต่อการทำงานของตับด้วยค่ะ ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลงได้
แล้วมีวิธีรักษาโรคนี้อย่างไรครับ ?
การ รักษาโรคนี้จะเป็นไปในแบบรักษาตามอาการของโรคและประคับประคอง เพราะยังไม่มียารักษาโรคนี้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาเด็กมาหาหมอในช่วงที่เด็กมีไข้สูง หมอก็จะให้ยาลดไข้ตามอาการเป็นครั้งคราวค่ะ ซึ่งเด็กอาจจะไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ได้ สามารถกลับไปที่บ้านได้
หลังจากนั้นก็จะตรวจระดับเกล็ดเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาว และพลาสมาในเลือดของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการเสียพลาสมาในเลือด เราจะตรวจดูว่ามีระดับพลาสมาในเลือดลดลงไหม หากลดลงแสดงว่ามีการรั่วของพลาสมาในเลือด ซึ่งเริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤติแล้ว ต้องรักษาโดยการให้น้ำเกลือแร่ เกลือโซเดียม และสารที่มีลักษณะเหมือนพลาสมาผ่านเข้าทางเส้นเลือด ซึ่งหากรักษาถูกวิธีเมื่อไข้ลดลง เชื้อไวรัสในเลือดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง และอาการของเด็กก็จะดีขึ้น ในบางรายก็ต้องให้เลือดถ้ามีเลือดออกในช่องท้องและปอดแต่พบน้อยมากค่ะ
แล้วจะป้องกันลูกไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออกได้อย่างไรครับ
ต้อง กำจัดแหล่งที่ยุงลายอาจจะไปวางไข่ เช่น ยางรถยนต์เก่าที่มีน้ำขัง กระป๋องเก่าที่ไม่ได้ใช้ หรืออาจจะกำจัดลูกน้ำโดยการใส่ไซด์อะเบทในแจกันหรือ โอ่งน้ำ เพื่อเป็นการทำลายลูกน้ำ ปิดฝาโอ่งทุกครั้งหลังใช้แล้ว เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ค่ะ
ในเด็กเล็กนั้น คุณแม่ควรหามุ้งกันยุงมากางให้ลูกเวลานอน พาเขาออกไปเล่นในที่มีลมโกรก ไม่ควรไปในที่มุมอับเพราะยุงจะอยู่ในซอกมุมหรือหลืบต่างๆ มาก แต่ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคไข้เลือดออกคือ พยายามอย่าให้มียุงลายค่ะ โดยวิธีทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงค่ะ