เวลาลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจแล้วพ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น รู้มั้ยคะว่านั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความอิจฉาเล็กๆ ในใจของเด็กๆ เลยค่ะ
เด็กตั้งแต่วัย 3 ขวบ รู้จักอารมณ์ต่างๆ แล้วนะคะ ซึ่งอารมณ์ของการแข่งขันและความอิจฉาของลูกจะมีอยู่สูง หากพ่อแม่ส่งเสริมเรื่องการแข่งขัน โดยเฉพาะการเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกที่อยากจะเอาชนะ แพ้ไม่เป็น ยอมไม่ได้ และแบ่งปันให้ใครไม่เป็น บางครั้งลูกก็อาจจะพาล เช่น ถ้าพี่ถูกเปรียบเทียบกับน้อง พี่ก็อาจจะไม่ชอบน้อง ซึ่งถ้าเขามีโอกาสอยู่กับน้องตามลำพัง เขาอาจกลั่นแกล้งน้องได้
และหากลูกถูกเปรียบเทียบบ่อยๆ ก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกกลัว โมโห โกรธ หรือไม่พอใจ ผลกระทบที่ตามมาก็คือสมองและสติปัญญาของลูกจะไม่พัฒนา ส่งผลให้ความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ถูกระงับไป และลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา และเจ้าอารมณ์ในที่สุด
ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าถ้าไม่เปรียบเทียบลูกอาจไม่มีต้นแบบ แต่การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นยิ่งเป็นการด้อยค่าในตัวเขา ทำให้ลูกรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้นพ่อแม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ดังนี้
เลิกเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือ เด็กคนอื่นๆ เลิกเด็ดขาด
พาลูกไปทำกิจกรรมที่ชอบ ให้ลูกค้นหาศักยภาพในตัวเอง สนับสนุนลูกให้ทำในสิ่งที่เขาถนัด
ให้กำลังใจลูก ในสิ่งที่ลูกพยายามทำ กล่าวชื่นชม เช่น "แม่ดีใจที่หนูช่วยแม่พับผ้า ถ้าทำบ่อยๆ เดี๋ยวหนูก็จะพับได้เรียบร้อยค่ะ" “ดีมากเลยที่ลูกเป็นเพื่อนเล่นกับน้อง หนูเป็นพี่สาวที่น่ารักมากเลย”
ทำยังไงเมื่อลูกถูกเปรียบเทียบ
แม้พ่อแม่จะไม่เคยพูดเปรียบเทียบลูกเลย แต่ถ้าเขาต้องไปโรงเรียนหรืออยู่ในสังคมที่มีแต่การเปรียบเทียบ เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
สังเกตและพร้อมรับฟังลูกเสมอ ควรซักถามหรือพูดคุยกับลูกเพื่อที่อย่างน้อยการเล่าก็เป็นการระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา และเมื่อระบายออกมาแล้ว ลูกก็จะรู้สึกดีขึ้นค่ะ
ช่วยลูกจัดการกับความรู้สึก ถ้าลูกกำลังโกรธ ก้าวร้าว หงุดหงิด โมโห พ่อแม่ต้องเข้าไปถามความรู้สึกของลูกทันที เช่น หนูกำลังโกรธอยู่ใช่มั้ย โกรธเรื่องอะไร โกรธที่ผู้ใหญ่พูดแบบนี้ใช่มั้ย จากนั้นจึงค่อยอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังอีกครั้ง ว่าการที่ผู้ใหญ่พูดแบบนี้นั้น เป็นเพราะเขาหวังดีกับลูก เพียงแต่ผู้ใหญ่บางคนไม่รู้จะพูดกับลูกอย่างไรดี เพื่อให้เขาได้เข้าใจความคิดของผู้ใหญ่และสามารถจัดการกับความรู้สึกในใจของตัวเขาเองได้
สวมบทบาทสมมติสะท้อนความรู้สึกลูก บางครั้งการอธิบายเหตุผลให้ลูกเพียงอย่างเดียวอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่ถ้าลองให้ลูกได้เล่นบทบาทสมมติดู เช่น ให้ลูกเล่นเป็นคุณครูที่โรงเรียน จากนั้นพ่อแม่ถามความรู้สึกของลูกดู “ถ้าหนูเป็นคุณครูหนูรู้สึกอย่างไร” เพื่อให้ลูกได้ตอบและสัมผัสความรู้สึกที่อยู่ในใจลึกๆ ของผู้ใหญ่
เด็กบางคนอ่อนไหวกับคำพูดของคนอื่น หากพ่อแม่รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกแล้วช่วยกันแก้ไข เขาจะแยกแยะได้ว่า ภาพที่คนอื่นมองนั้นเป็นเพราะไม่รู้จักเขา แต่จริงๆ แล้ว ถ้าลูกเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง เชื่อมั่นในความดีของเขา อีกทั้งพ่อแม่ให้คุณค่ายืนยัน สนับสนุนและยอมรับในสิ่งที่ลูกทำ ปัญหาลูกขี้อิจฉาจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ