อีกแล้วค่ะ เจ้าตัวน้อยสุดที่รักของดิฉันร้องไห้งอแงเสียงดัง แถมยังลงไปนอนดิ้นเร่าๆ ที่พื้น แบบไม่สนใจใครต่อใครอีก เฮ้อ..ออกนอกบ้านทีไรเป็นอย่างนี้ทุกทีเลย
ลูกอาละวาดในที่สาธารณะ พฤติกรรมนี้จัดการได้!
ลูกมักงอแงเวลาพาไปไหนมาไหนนอกบ้านเพราะ...
ถ้าคุณกำลังเจอปัญหานี้อยู่ อยากให้ทำความเข้าใจที่ตัวลูกก่อนค่ะ ว่าเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้หรือเปล่า
-เพราะลูกยังไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว หรือเหนื่อย หรืออารมณ์ไม่ดี เพราะทักษะทางสังคม และการสื่อสารของเด็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบลงมานี้ยังอยู่ระหว่างพัฒนาให้เชี่ยวชาญ ทำให้เขาแสดงความไม่สบายใจออกมาด้วยการงอแง จนบางครั้งถึงขั้นที่เรียกว่าวีนแตก
-เพราะทักษะในการควบคุมตนเอง และการแสดงออกด้านอารมณ์ Self-Control หรือ Emotional-Control ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้ไม่สามารถควบคุมการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม เมื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือผิดหวังก็จะตอบสนองทันที ซึ่งเด็กแต่ละคนจะเป็นมากน้อยแตกต่างกันไป
-เพราะลูกยังไม่รู้ว่าการงอแงนั้นเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี โดยการเรียนรู้ของเด็กว่าจะทำพฤติกรรมนั้นต่อหรือไม่ ขึ้นกับการตอบสนองของพ่อแม่ค่ะ นั่นคือ เมื่อลูกทำพฤติกรรมในครั้งแรกๆ แล้วได้รับการตอบสนองทั้งในแง่บวก (เช่น ตามใจ) หรือแง่ลบ (เช่น ดุว่า) เขาก็จะแสดงพฤติกรรมนั้นต่อไป รวมถึงการงอแงเมื่อออกไปข้างนอกบ้านด้วย
-สาเหตุเบื้องต้นเป็นไปตามพัฒนาการเด็ก ซึ่งมักพบว่าคุณพ่อคุณแม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ หรือถึงแม้จะรู้ แต่ก็ขาดทักษะในการอบรมเลี้ยงดู เช่น การสังเกตลูก วิธีพูดกับลูก เทคนิคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก จึงมักใช้ ”อำนาจ” ของความเป็นพ่อแม่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บงการ ดุว่า หรือตามใจ
รับมือ แก้ขาวีน
การตอบสนองที่เหมาะสมจะทำให้อาการงอแงค่อย ๆ หายไป แต่ต้องใช้เวลาค่ะ โดยวิธีมีดังนี้
ตกลงกันก่อนออกนอกบ้าน
พูดคุยกับลูกก่อนว่า วันนี้เราจะไปทำอะไร ที่ไหน จะเจอใครบ้าง และหากคุณพ่อคุณแม่วางแผนไปซื้อของ ให้ร่วมคิดกับลูกว่าจะซื้ออะไร พร้อมทั้งจดไว้ในกระดาษ (อย่าลืมต่อรองหากคุณไม่อนุญาตให้ลูกซื้อสิ่งที่อยากได้) แม้ว่าลูกจะยังอ่านไม่เป็น และเมื่อซื้อสิ่งใดให้ลูกช่วยทำเครื่องหมายในกระดาษ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกร่วมมือดีขึ้น อย่าคาดหวังว่าลูกจะทำตามข้อตกลงร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ แต่การตกลงไว้ก่อนจะช่วยป้องกันลูกงอแงเมื่อออกนอกบ้านได้
หาสาเหตุและช่วยเหลือลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เขางอแง เช่น เขาง่วง หรือเหนื่อย หรือรู้สึกหิว และควรแก้ไขที่สาเหตุ แต่ถ้าสาเหตุของการงอแงเป็นเพราะลูกยังควบคุมตนเองไม่ได้เมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกฝนเทคนิกปรับพฤติกรรม คือ ทำเป็นไม่สนใจ ไม่พูด ไม่ดุ ไม่ว่า และทำเป็นไม่มองนะคะ เพราะหากเราพูด ดุว่า หรือแม้แต่จ้องมอง ก็ถือเป็นการตอบสนองและให้ความสนใจต่อลูกแล้วค่ะ ซึ่งจะทำให้ลูกยังคงพฤติกรรมนั้นต่อไป (เพราะได้รับความสนใจ)
ในช่วงแรก ลูกอาจร้องเสียงดังหรือดิ้นแรงมากขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจและเอาชนะ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สงบ ไม่ตอบสนองเขาๆ จะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล ก็จะร้องเบาลงๆ และเมื่อลูกสงบลง คุณจึงค่อยเข้าไปคุยกับลูก แต่ให้เปลี่ยนเรื่อง ไม่คุยเรื่องเดิมค่ะ
เมื่อเปลี่ยนเป็นทำร้ายตัวเอง
ถ้าอาการ “วีนแตก” ของลูกรุนแรงขึ้นถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือคนอื่น หรือทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว เพราะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที โดยจับมือหรือเท้าของลูกไว้ ด้วยท่าทีที่สงบ พูดห้ามลูกด้วยน้ำเสียงที่นิ่ง เอาจริง (ไม่ตะเบ็งหรือตะคอกหรือเสียงอ่อย ๆ) แสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เอาจริง
ถ้าลูกมีพัฒนาการด้านภาษาดี คุณอาจพูดว่า “หนูรู้สึกโกรธที่แม่...... แต่ลูกตีแม่หรือตัวเองหรือขว้างปาของไม่ได้ ไหนมาดูกันสิว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้หนูรู้สึกดีขึ้น” ซึ่งการสะท้อนอารมณ์นี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจตนเองและพัฒนาความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้ดีขึ้น
สัมพันธภาพ กุญแจสำคัญป้องกันลูกวีน
หลักง่ายๆ ในการป้องกันคือต้องรู้เหตุผลและที่มาที่ไปของพฤติกรรมของลูก ที่สำคัญคือสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูกจะมีส่วนช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเองโดย
- ใช้เวลาร่วมกับลูกในกิจกรรมต่างๆ และให้ลูกได้เป็นผู้นำการเล่น โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรสั่งหรือบงการให้ลูกทำตาม หรือถามคำถามมากมาย และแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รักเขา (เช่น โอบกอด สัมผัส พูดบอกเขา)
- ฟังลูก เน้นว่าต้องฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่แค่ฟังให้ได้ยินเท่านั้น อีกทั้งท่าทีในการฟังก็ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจ ไม่ใช่ฟังแต่ไม่สนใจลูกนะคะ
- ให้ลูกได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่จำกัดความคิดของลูก ให้เขาค่อยๆคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองไปทีละขั้นตอน ให้โอกาสและเวลาเด็กได้ฝึกคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะทำให้เขามีทักษะและภูมิใจในตนเอง เช่น กินข้าวเอง แต่งตัวเอง และช่วยงานบ้านง่าย ๆ รวมทั้งเวลามีปัญหาอย่ารีบช่วยเหลือหรือบอกว่าเขาควรทำอะไร แต่ให้ถามว่า “หนูจะทำอย่างไร”
- เข้าใจความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน อย่าพูดเปรียบเทียบลูกกับพี่น้องหรือเด็กคนอื่น เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ลูกอาจรู้สึกไม่ดีกับคุณ
สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาลูกงอแง วีนได้แล้ว ยังป้องกันปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ของลูกได้ด้วยนะคะ
ทั้งหมดนี้ ต้องค่อยๆ นำไปใช้กับลูก โดยตัวคุณพ่อคุณแม่ต้องมีอารมณ์ที่สงบก่อน เพื่อจะเป็นหลักในการช่วยลูกแก้ปัญหาและพัฒนาพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีและเหมาะสมได้ค่ะ