“เห็นคุณหมอมาวิ่งบ่อยๆ นี่คะ ดีแล้วที่เจอลุงหมอ น้องแพรลูกสาวอายุ 1 ปีกับ 4 เดือนแล้ว เป็นหวัดบ๊อยบ่อย ไม่รู้ว่าโรคหวัดในเด็กนี่เกิดจากอะไรคะ”
“ไข้หวัด หรือโรคหวัดของเด็กๆ นั้น สำหรับไข้หวัดธรรมดาเด็กก็เป็นได้บ่อย บางการศึกษาระบุว่าสามารถเป็นได้ถึงปีละ 10 -12 ครั้งทีเดียว เพราะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แล้วทำให้เด็กมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ส่วนใหญ่เป็นอยู่ประมาณ 5-7 วันก็จะหายไปเอง ในการรักษายาที่คุณหมอให้ทานก็จะเป็นยาลดไข้แบบพาราเซตามอ ลเพื่อบรรเทาอาการไข้ อาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่อาจพบได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ หรือแม้แต่ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ เพราะไม่ได้ทำให้เด็กหายไวขึ้น แต่อาจทำให้มีอาการข้างเคียงของยาได้”
“ทีนี้เวลาน้องแพรเป็นไข้หวัดธรรมดา คุณแม่จะขอดูแลเองที่บ้านก่อนก็ได้ใช่ไหมคะ แต่ต้องคอยให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เอ... แล้วถ้าแกมีน้ำมูกไหลออกมา เราจะทำยังไงดีคะ”
“ให้ใช้ผ้านุ่มพันปลายไม้เล็กๆ สอดเข้าไปในรูจมูกเพื่อซับน้ำมูก ถ้าโตขึ้นอีกหน่อยก็สอนให้สั่งน้ำมูกออกมาเองได้ครับ”
“แล้วหวัดที่เป็นสัญญาณอันตรายว่าไม่ได้เป็นหวัดเฉยๆ เราจะดูรู้ได้อย่างไรคะ วันก่อนสายใจเพื่อนที่ทำงาน เค้าว่าลูกชายวัย 8 ขวบก็เริ่มแค่เป็นหวัด ต่อมาหมอบอกว่าลูกเป็นไข้เลือดออก ต้องไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย ได้ยินอย่างนี้ทำเอากลัวเลยค่ะ”
“อย่างที่แม่น้องแพรว่า บางโรคเด็กเริ่มต้นจากมีอาการแบบเป็นหวัดได้ก่อน แล้วต่อมาก็มีลักษณะเฉพาะที่พอบอกได้ว่าเป็นอะไร นอกจากไข้เลือดออกแล้วยังอีกหลายโรค เช่น โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม สุกใส ไอกรน พวกนี้เริ่มต้นเหมือนไข้หวัดทั้งนั้น แต่หลายโรคเราป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนก็จะตัดออกไป
เวลาลูกเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด ถ้าไข้ไม่ลดลงเลยหลังให้ยาลดไข้ หรือเป็นหวัด 7- 10 วันแล้วไม่หาย แต่กลับหายใจหอบ หายใจเสียงดัง ทานอาหาร น้ำ และนมไม่ได้ ซึม เอาแต่นอน ปลุกไม่ตื่น อาเจียนตลอดเลย สังเกตว่าตัวเขียว มือเท้าเย็น หรือดูแล้วอาการลูกไม่ดีก็ต้องพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาว่าลูกเป็นโรคอะไร จะได้รักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป”
“อืม... เข้าใจแล้วล่ะค่ะ แต่คุณหมอคะการที่ลูกเป็นหวัดบ่อยๆ เดือนละ 2-3 ครั้ง แบบที่เค้าว่าเป็นหวัดเรื้อรังนี้เกิดจากอะไร จะรักษายังไงให้หายขาด หรือถ้าทิ้งเอาไว้จะเป็นอันตรายหรือเปล่าคะ”
“อย่างที่บอกว่าเด็กเป็นหวัดได้ถึงปีละ 10-12 ครั้ง แต่ถ้าเดือนหนึ่งเป็น 2- 3 ครั้งนี้ต้องพาไปตรวจ เพราะส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นหวัดธรรมดาแล้วละ แต่มักจะเป็นโรคภูมิแพ้ที่จมูก เป็นผลให้มีน้ำมูกไหลเรื้อรัง คัดจมูกเรื้อรัง และยังทำให้มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ กลายเป็นโรคหูน้ำหนวก หรือที่สำคัญอาจมีโรคทางภูมิแพ้ควบคู่ไปด้วย เช่น โรคหอบหืดที่จะทำให้เป็นโรคปอดบวมตามมาได้ ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงควรได้รับการรักษาแบบโรคภูมิแพ้ควบคู่ไปด้วย ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลการรักษาที่ดีและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น”
“ขอบคุณมากค่ะ งั้นไม่กวนเวลาออกกำลังคุณหมอแล้วดีกว่า อ้าว น้องแพร มา ธุจ้าลาลุงหมอ”
“สวัสดีจ้า นอกจากจะให้เด็กๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ และได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอแล้ว การออกกำลังกายก็สำคัญนะครับ ให้เด็กได้เล่น ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ลุงหมอเชื่อว่าน้องแพรจะต้องแข็งแรง ไม่เป็นหวัดบ่อยๆ แน่นอน”
รู้หรือเปล่าว่า...
- ไข้หวัดเป็นโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสมากกว่า 200 ชนิด จึงยังไม่มีวัคซีนจำเพาะ สำหรับป้องกันโรคหวัดได้ การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การให้วัคซีนเพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
- หลายคนเชื่อว่ากินวิตามินซี จะป้องกันโรคหวัดได้แต่จริงๆ แล้วยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนมากเพียงพอว่าสามารถป้องกันโรคหวัดได้ แต่ถ้าหากให้ในปริมาณที่มากเกินความต้องการและเป็นระยะเวลานานอาจเกิด อันตราย เช่น อาจทำให้ท้องเสียรุนแรง
- ปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่สบายบ่อยๆ นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ลูกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อยหรือคลอดไม่ครบกำหนด ไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โรคประจำตัวของเด็ก เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่แออัด ฝุ่นควันมากหรือมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ และอากาศเด็กเป็นหวัดก็จะเป็นบ่อยๆ ช่วงหน้าหนาว อากาศเย็น ฝนตก สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ลูกเป็นหวัดบ่อยๆ ได้
5 จุดสังเกต...หวัดไม่ธรรมดา
1. เป็นหวัดนานกว่า 10 -14 วัน
2. น้ำมูกข้นเขียว
3. มีไข้อยู่นาน และอาจจะไข้สูงจนชัก
4. มีอาการหอบ หายใจแรง หายใจหน้าอกบุ๋ม มองดูว่าเขียว มือเท้าเย็น มีอาการหายใจดังทั้งช่วงการหายใจเข้า หรือหายใจออกมีเสียงดังได้ยินเสียงวี๊ด
5. มีอาการซึม กินอาหาร น้ำ ดื่ม นมได้น้อย มีอาการแห้งขาดน้ำ
4 โรคแทรกซ้อนต้องระวัง
เมื่อลูกป่วยเป็นหวัดนานกว่า 10 วันลองสังเกตลูกดูสักนิด ว่ามีอาการของโรคแทรกซ้อนอื่นหรือเปล่า เช่น
* ไซนัสอักเสบ มีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหลต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 10-14 วัน น้ำมูกข้นเขียว และมีไข้
* โรคหูชั้นกลางอักเสบ จะมีอาการปวดหู หูอื้อ เด็กเล็กๆ อาจชอบเอามือจับหู หรืออาจพบว่ามีหนองไหลออกมาจากหู
* โรคหอบหืด เริ่มแรกเป็นหวัดนำก่อน จากนั้นจะไอมาก หอบ หายใจลำบาก หายใจออกได้ยินเป็นเสียงวี๊ดๆ
* โรคปอดบวม เริ่มจากการเป็นหวัดก่อนเหมือนกัน ต่อมาจะไอมาก หอบ ซึ่งการหอบแบบปอดบวมจะหอบแบบหายใจเร็วๆ ตื้นๆ เด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 2 เดือนจะหายใจเร็วกว่า 60 ครั้งต่อนาที เด็กเล็กอายุ 2 เดือน -1 ขวบจะหายใจเร็วมากกว่า 50ครั้งต่อนาที และเด็กโตขึ้นกว่านั้นหายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีก็ถือว่าหายใจหอบแล้ว
6 วิธีดูแลลูกเป็นหวัด
1. ให้ลูกกินอาหารอ่อนๆ ถ้ามีอาการเบื่ออาหารควรให้กินทีละน้อยๆ บ่อยๆ อย่างดอาหารเด็ดขาดเพราะลูกจะขาดสารอาหารไปบำรุงร่างกาย
2. ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ จะช่วยละลายเสมหะให้เหนียวข้นน้อยลง และไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นลูกวัยเบบี๋ให้กินนมแม่บ่อยๆ แทนน้ำ
3. พักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ลูกหายเร็วขึ้น
4. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ งดดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็น เพราะจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย
5. ถ้าลูกอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรช่วยลดน้ำมูกด้วยการใช้น้ำเกลือหยอดจมูก เพื่อให้น้ำมูกใสขึ้นจนสามารถไหลลงคือหรือดูดออกได้ง่าย แต่ไม่ควรใช้ยาลดน้ำมูก เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง
6. เด็กเล็กต้องคอยเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นเสมอ ป้องกันไม่ให้ไข้สูงขึ้นเพราะลูกอาจชักได้