จ๊ะเอ๋ เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทารกอย่างไรช่วยเสริมพัฒนาการตามวัยและได้ทักษะ EF
การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกอาจเป็นกิจกรรมที่ธรรมดา แต่จริง ๆ ผลของการเล่นจ๊ะเอ๋มีประโยชน์สำหรับลูกทารกมาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ให้คำแนะนำในการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกไว้ค่ะ
จ๊ะเอ๋ เล่นจ๊ะเอ๋กับลูกทารกอย่างไรช่วยเสริมพัฒนาการตามวัยและได้ทักษะ EF
- การเล่นจ๊ะเอ๋ ควรจะเริ่มเล่นได้เมื่อเด็กรู้ว่าวัตถุมีจริงแล้วคือ object permanence ของชิ้นหนึ่งหายไปแล้ว โผล่มาใหม่ได้ เอาผ้าไปคลุมของเล่นที่เขากำลังเล่น เขารู้จักพลิกผ้าหาของออกมาเล่นต่อ ความสามารถนี้อยู่ที่อายุ 8 เดือน
- แม่จะเป็นวัตถุแรกที่มีอยู่จริงตั้งแต่ประมาณ 6 เดือน เมื่อแม่หายไปจากสายตา เดี๋ยวก็จะกลับมา แม่เข้าห้องน้ำ เดี๋ยวก็จะออกมา แม่ไปทำผม เดี๋ยวก็จะกลับมา ดังนั้นจะเริ่มเล่นตอนทารก 6 เดือนก็น่าจะจ๊ะเอ๋ได้ แต่หากลูกทำมึนก็อย่าได้ตกใจไป หรือถ้าเขาร้องไห้จ้าก็อย่าเสียใจ ลูกแค่ยังไม่พร้อมจะเล่นจ๊ะเอ๋เฉยๆ
- นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจนักว่าทารกมี face recognition หรือการรับรู้ว่าว่าใบหน้าแบบนี้คือมนุษย์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนจะรู้จักใบหน้าแม่ บ้างว่ารู้ทันทีหลังเกิด บ้างว่าประมาณ 1-3 เดือน อย่างไรก็ตามนี่คือรากฐานของการเล่นจ๊ะเอ๋
เพราะหากมีคนแปลกหน้ามาเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกเราแล้วทำเขาร้องไห้ ควรให้หยุดเล่น เพราะจ๊ะเอ๋เขาเอาไว้เล่นกับคนรัก เป็นแฟนเล่นจ๊ะเอ๋ถึงจะสนุก น่ารัก ปิดไฟมองไม่เห็นยังน่ารักเลย ไม่เป็นแฟนมาเล่นจ๊ะเอ๋ได้อย่างไร
- จ๊ะเอ๋เป็นการเล่นที่ตอกย้ำความมีแม่ ความเป็นแม่ ความมีอยู่จริงของแม่ และนั่นเท่ากับสร้างเสริมสายสัมพันธ์กับแม่ด้วย เดี๋ยวหายเดี๋ยวมี คราวนี้เลื่อนมาทางพ่อ กลับบ้านเดือนละครั้งก็ควรเล่นจ๊ะเอ๋แต่มิใช่ผลีผลามเข้าไปไม่รู้ตัว หากนานๆ มาครั้งหนึ่งก็ควรมีเวลาอุ่นเครื่องกันก่อน ยิ้ม อุ้ม กอด เล่นอย่างอื่นบนพื้นดินสักพัก แล้วค่อยเล่นจ๊ะเอ๋อีกที
- จ๊า ยาวๆ เอ๋ ยาวๆ ย่อมไม่สนุกเท่า จ๊ะเอ๋! องค์ประกอบสำคัญของจ๊ะเอ๋มิได้มีแค่เรื่องใบหน้าแต่มีเรื่องเสียงด้วย เสียงสูงที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีที่จ๊ะเอ๋เป็นปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้สนุก อีกทั้งเรื่องความถี่ จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ จ๊ะเอ๋ 3 ครั้งซ้อนเด็กจะหัวเราะงอหายไป 3 ท่อนมิได้หายใจ นับเป็นการบริหารทั้งหูชั้นในและปอดไปพร้อมๆ กัน แต่ที่สำคัญมากคือเป็นช่วงขณะหนึ่งที่ทารกจะมองหน้าแม่ ลูกจะมองเห็นริมฝีปากของคุณแม่ แม่ทำปากแบบไหนจึงได้เสียงออกมาว่า “จ๊ะเอ๋” นี่มิใช่การฝึกพูด แต่เป็นเรื่องแรกๆ ที่ทารกจับสังเกตอย่างจริงจังว่าปากมนุษย์ขยับแล้วมีเสียงออกมา
- จ๊ะเอ๋เป็นการละเล่นที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะเสมอ หากจ๊ะเอ๋แล้วไม่หัวเราะย่อมไม่ใช่จ๊ะเอ๋ มนุษย์เราหัวเราะด้วยกลไกที่ซับซ้อน
จากงานของชาร์ล ดาร์วินในหนังสือ The Expression of the Emotions in Man and Animals ปี 1889 บอกว่าเวลามนุษย์หัวเราะกล้ามเนื้อขากรรไกรล่าง Zygoma จะดึงรั้งริมฝีปากและกระพุ้งแก้มออกไปทางด้านข้าง แต่ริมฝีปากบนนั้นจะถูกดึงรั้งขึ้นด้วยกล้ามเนื้อรอบลูกตา คือ Orbicularis oculi เป็นเวลาเดียวกับที่เราหายใจเข้าแล้วทางเดินหายใจถูกสกัดด้วยกล้ามเนื้อกะบังลม
มีงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับทารก เวลาทารกเห็นแม่ ทารกจะยิ้มตาปิดลงเล็กน้อย เหตุที่ตาปิดเพราะกล้ามเนื้อรอบลูกตาหดรั้ง เราจะสังเกตเห็นว่าขอบตาล่างมีมัดกล้ามเนื้อชิ้นเล็กๆ ปูดขึ้นมา แต่ถ้าทารกเห็นคนอื่น แม้ว่ายิ้มก็ยิ้มเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกร แต่ไม่ยิ้มด้วยกล้ามเนื้อรอบดวงตา
ข้อสังเกตนี้ใช้สังเกตคนที่หัวเราะด้วยความสุขจริงๆ กับคนที่แค่นหัวเราะได้ด้วย
- กลไกสำคัญของการเล่นจ๊ะเอ๋ คือ surprise and expectation กล่าวคือจ๊ะเอ๋เป็นการรักษาสมดุลระหว่างความแปลกใจและความคาดหวัง เด็กคาดหวังว่าเดี๋ยวจะต้องมีใบหน้าพ่อหรือแม่โผล่ออกมาแน่ๆ ครั้นโผล่ออกมาจริงๆ ก็ประหลาดใจที่ตนเองคาดหวังถูกต้อง หัวเราะเอิ๊กๆ ถ้าคาดหวังแต่ไม่โผล่หน้าออกมาย่อมไม่สนุก ออกมาแต่ไม่เซอร์ไพรซ์ก็ไม่สนุก การเล่นจ๊ะเอ๋จึงเป็นทักษะฝ่ายพ่อแม่ด้วย
- จ๊ะเอ๋ทำให้หัวเราะ หัวเราะเป็นทักษะการสื่อสาร คือ communication skills อย่างแรกๆ เด็กหัวเราะเพื่อเปิดช่องทางสื่อสาร หัวเราะแล้วโลกเงียบจะเป็นโลกที่น่าเศร้ามาก หัวเราะแล้วใครๆ ก็จะมา ร้องไห้แล้วใครๆ ก็จะไป เด็กค่อยๆ เรียนรู้ได้ว่าหัวเราะจะได้อะไร นี่คือการสื่อสาร นักฝึกพูดบางท่านจึงเริ่มต้นที่การทำให้เด็กหัวเราะ
สุดท้ายคุณหมอได้ทิ้งข้อที่ 9 ไว้ให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเป็นแง่คิดว่า
“การเล่นจ๊ะเอ๋เป็นการเล่นที่ไม่เพียงพ่อแม่ต้องอยู่บ้าน แต่ต้องการใบหน้าของท่านอยู่บ้านด้วย ไม่มีใบหน้าเล่นจ๊ะเอ๋ไม่ได้ ใบหน้านั้นต้องเป็นที่รักมากพอที่กล้ามเนื้อรอบลูกตาจะหดรั้งได้ด้วย แน่นอนท่านจ้างคนอื่นเล่นแทนได้ แต่กล้ามเนื้อรอบลูกตาคงจะไม่หดรั้งเท่าใดนัก เศร้าเพียงใดหากลูกไม่มีคนเล่นจ๊ะเอ๋ด้วย Peekaboo!”