เรื่องพัฒนาการดีเลย์ที่นำเสนอคราวนี้ อักษรสินตั้งใจนำมาฝากคุณๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลในการสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยให้มากขึ้นค่ะ เพราะมีหมอเด็กหลายท่านบอกว่า "คุณพ่อคุณแม่มือใหม่สมัยนี้ไม่รู้ว่าลูกควรจะมีพัฒนาการอย่างไรในช่วงวัย ของเขา ทำให้เวลามีปัญหาอาจจะได้รับการบำบัดหรือการรักษาช้า เพราะความคาดไม่ถึงของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง"
อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเด็กๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนช้าบางคนเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง (แต่ควรอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยนะคะ) วันนี้อักษรสินอยากจะพาคุณเข้าสู่เทคนิควิธีง่ายๆในการเช็คพัฒนาการของลูก กัน ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาก ขอแค่เวลาสังเกตลูกก็พอ
Eye - Hand together : เวลาที่คุณแม่ใช้มือโยนเหรียญแล้วรับมันได้ นั่นถือว่าความสัมพันธ์ของมือและตาดีเยี่ยม ในทางกลับกันเจ้าหนูวัยขวบนิดๆ จะทำอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่ คำตอบที่ได้อาจจะยาก และไม่ใช่ว่าเขามือเล็กเกินไปถึงทำไม่ได้ แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตายังไม่ดีพอนั่นเอง
1 ปี - หยิบจับของเล่นด้วยตัวเองได้ดี เช่น ดึงโมบายสีฉูดฉาดที่แกว่งไปมาได้
2 ปี - โยนรับของเองได้ แต่รับไม่ได้ทุกครั้งไป และสายตามองตามของที่ลอยขึ้นสูงตามไปได้
3 ปี - ต่อจิ๊กซอว์ได้ประมาณ 6 ชิ้นขึ้นไป โยนรับของชิ้นที่เล็กลงได้
อุปสรรค - ที่บ้านขาดของเล่นฝึกพัฒนาการด้านนี้ ไม่มีใครเล่นด้วยที่บ้าน หรือจะเอาอะไรก็มีคนหยิบจับหามาให้ถึงมือหมด เด็กก็ขาดโอกาสฝึกการใช้กล้ามเนื้อ
ดีเลย์ - เมื่อลูกเติบโตขึ้นแล้วเราเห็นว่าลูกหยิบของได้ไม่มั่นคง ขว้างหรือโยนรับไม่ได้ เวลาของเล่นกลิ้งมาช้าๆ แล้วเจ้าหนูคว้าไม่ทันตลอด ไม่พุ่งตรงไปที่ของเล่นสีสดใสใกล้ๆ ตัว หรือเน้นใช้มือข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว หากลูกเล่นอย่างนี้จนผิดสังเกตน่าจะเช็คกับคุณหมอว่ามีปัญหาทางสายตาหรือ กล้ามเนื้อแขนหรือเปล่านะคะ
เทคนิค - ฝึกโยนรับบอลหรือผ้าเช็ดหน้าไปมา เปิดอ่านหนังสือด้วยตัวเองหรือลองใช้ช้อนกินอาหารด้วยตนเองเช่นกันและลองให้ ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดด้วย
Listening & Speaking : เจ้า หนูเขาฟังรู้เรื่องมาตั้งนานแล้ว แต่เขาทำตัวเหมือนฟองน้ำที่ซึมซับคำพูดของทุกๆ คนอยู่ และเมื่อเขาพร้อม เขาก็จะสื่อสารพูดจาจ้ะๆ จ๋าๆ กับเราเอง แต่แค่ไหนล่ะถึงจะปกติดี
1 ปี - พูดได้ 8-20 คำ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ พูดคำสั้นๆ เช่น หม่ำ พ่อ แม่
2 ปี - ชอบฟังเรื่องสั้น นิทาน ร้องเพลงบางท่อนได้ พูดเป็นกลุ่มคำได้ 3 คำ เช่น ป๋อมจะเอา แม่กินน้ำ
3 ปี - พูดเป็นกลุ่มประโยคมากขึ้น เช่น แม่กินข้าวกับ'ไร หนูอยากไปสนามเด็กเล่น
อุปสรรค - ทีวีเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กจะไม่พูดกับทีวีตอบ ทำให้เด็กพูดช้า หรือพี่เลี้ยงหรือคนในบ้านไม่พูดไม่เล่นด้วย เด็กจึงไม่รู้ว่าจะเอาตัวอย่างมาจากไหน
ดีเลย์ - ถ้าเด็กพูดสลับคำกัน เช่น "น้ำกินแม่" "จาข้าวกิน" ต้องดูว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ ไม่พูดเลยจนถึงอายุขวบครึ่ง หรือเรียกแล้วไม่หันมาตามเสียงเรียก ชอบอยู่ลำพัง ปรึกษาคุณหมอพัฒนาการเลยค่ะ
เทคนิค - ลดการดูทีวี คุยกับลูกให้มากขึ้น ถ้าลูกพูดสลับกัน เราพูดแก้ให้และลูกพูดตาม จะเป็นการดีมาก เพราะถ้าลูกพัฒนาได้ดีก็ไม่ต้องไปหาหมอค่ะ เพราะบางครั้งเด็กวัยนี้ก็ชอบพูดสลับกันบ้าง แต่ถ้าพยายามแก้นานแล้ว และเป็นบ่อยๆ แทบทุกประโยค ลองคุยกับคุณหมอดีกว่าเผื่อจะมีปัญหาด้านพัฒนาการ
Movement : แม้บางครั้งเราจะอยากให้ลูกสงบนิ่งเป็นหุ่นขี้ผึ้งบ้างเพราะความซน แต่ถ้าลูกคุณนิ่งจนมีการเคลื่อนไหวผิดปกติแล้ว ต้องเอะใจกันบ้างค่ะ
1 ปี - เดินได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย เมื่อขวบครึ่งจะเริ่มเดินถอยหลังได้
2 ปี - นั่งขัดสมาธิได้ กระโดด 2 ขาได้ ย่อตัวหรือก้มได้ หลบสิ่งกีดขวางได้
3 ปี - ขี่จักรยาน 3 ล้อได้ กระโดดขาเดียวได้
อุปสรรค - สถานที่ในบ้านแคบ คนเลี้ยงห้ามลูกวิ่ง หรือระวังจนเกินกว่าเหตุ
ดีเลย์ - เดินหรือวิ่ง 2-3 ก้าวถลาล้ม และไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเลย ให้ระวังไว้ว่ากล้ามเนื้อขาอาจจะอ่อนแรง หรือมีปัญหาเรื่องการทรงตัวได้
เทคนิค - พาลูกไปสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นกว้างๆ แล้ววิ่งกับลูกให้เต็มเหนี่ยวบ่อยๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อขาและการทรงตัวแข็งแรงขึ้นได้ เปิดเพลงเต้นสนุกๆ และควรหุ้มมุมแหลมคมของตู้โต๊ะในบ้านแทนการห้ามลูกวิ่งดีกว่าค่ะ
Play development : การเล่นถือว่าเป็นพัฒนาการ และการเล่นในแต่ละวัยก็ไม่เหมือนกันเสียด้วย และทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ถึงพัฒนาการของลูกได้เหมือนกัน...
1 ปี - ชอบเล่นของเล่นที่มีสีสันสดใส มีเสียงเร้าใจ เช่น เครื่องเขย่า ตุ๊กตาผ้า
2 ปี - ชอบเล่นลูกบอล รถเข็นที่ทำด้วยไม้ ม้าโยก และเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น คุยโทรศัพท์
3 ปี - บางครั้งแต่งตัวเองได้ เล่นบางอย่างที่ซับซ้อนขึ้นได้ เช่น ตัวต่อ ภาพ Puzzle
อุปสรรค - บางบ้านมีของเล่นเสริมพัฒนาการค่อนข้างน้อย และบางครั้งเวลาลูกรื้อของเล่น หรือกำลังเล่นอยู่ จะดุว่าเพราะความซน อาจส่งผลให้ทำพัฒนาการเด็กชงักไปเพราะถูกสะกัดกั้น
ดีเลย์ - เล่นอย่างไรถึงดีเลย์ การเล่นจะต้องมีความสร้างสรรค์ประกอบอยู่ด้วย ถ้าลูกเล่นอย่างเดิมซ้ำๆ โดยไม่เปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นเลยสักนิด เป็นเวลานานมี
พฤติกรรมซ้ำอย่างผิดปกติ และถ้าชอบของเล่นชนิดหมุนได้เป็นพิเศษ ต้องพยายามลองปรึกษาคุณหมอพัฒนาการสักครั้งน่าจะดี เผื่อว่าลูกจะมีอาการของออทิสติกค่ะ
เทคนิค - เลือกของเล่นหลากหลายประเภทให้ลูก รวมทั้งใช้ของเล่นชิ้นเดิมไปเล่นในสถานที่ที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กเล่นอย่างจินตนาการ พร้อมคุณพ่อคุณแม่ด้วย
ส่วนสิ่งที่เราจะวัดว่าลูกมีพัฒนาการดีเลย์หรือไม่อีกรูปแบบหนึ่งคือ การดูว่าลูกมีการเลียนแบบเราบ้างหรือเปล่า ถ้าเขาเลียนแบบคนใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ พี่เลี้ยง ฯลฯ ก็วางใจได้ เพราะลูกมีการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ต้องเป็นการเลียนแบบสิ่งที่ดีๆ ด้วยนะ ผู้ใหญ่อย่างคุณๆ ต้องระวังด้วยล่ะ เด็กๆ เขาดูคุณเป็นตัวอย่างอยู่นะคะ
Toys to grow up!!
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ : ลูกบอล รถเข็นไม้ ม้าโยก ของเล่นที่มีเชือกลากจูง ว่ายน้ำในสระเด็ก
กล้ามเนื้อมัดเล็ก - สติปัญญา : บล็อกไม้ ร้อยลูกปัดขนาดใหญ่ ขวดฝาเกลียว หนังสือภาพ ของเล่นไขลาน สีเทียน
ภาษาและการรับรู้ : เทปเพลง ภาพตัวต่อขนาดใหญ่ บัตรคำ รูปจำลองคน สัตว์ สิ่งของ
สังคมและความคิดสร้างสรรค์ : กล่องดนตรี โทรศัพท์ของเล่น ภาพสัตว์-ผลไม้-เครื่องใช้ ตุ๊กตา