Q : ดิฉันมีเรื่องกังวลใจอยากจะขอคำปรึกษาจากคุณหมอค่ะ คือลูกคนโตวัยเกือบ 4 ขวบ ชอบแคะขี้มูก แล้วนำเข้าปากตั้งแต่ขวบกว่าๆ ทำยังไงก็แก้ไม่หาย เคยลองเอาพลาสเตอร์ปิดแผลมาพันที่นิ้วไว้แกล้งหลอก แต่ก็ยังกลับมาทำอีก อยากถามคุณหมอว่าพอมีวิธีจัดการแนะนำบ้างไหมคะ - วลาวัลย์/ขอนแก่น
A: หลังจากได้อ่านคำถามที่คุณแม่เขียนมาก็พอจะนึกภาพตามได้ค่ะ ว่ามันรู้สึก “อึ๋ย” แค่ไหน แต่ไม่ต้องเป็นห่วงนะคะ เพราะทุกพฤติกรรมของลูกสามารถแก้ไขได้ โดยก่อนอื่นคุณแม่ต้องเข้าใจหลักในการปรับพฤติกรรมก่อนค่ะ นั่นคือพฤติกรรมใดๆ ที่ลูกแสดงออกมามักจะมีวัตถุประสงค์ซ่อนอยู่เสมอ ดังนั้นการสังเกตเพื่อหา “ต้นตอ” ของพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ จะช่วยทำให้เราเลือกใช้วิธีแก้ไขได้อย่างเหมาะสม เช่นในกรณีของลูกสาวของคุณแม่นั้น การแคะขี้มูกแล้วเอามาใส่ปากก็เกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งวิธีการแก้ไขก็มีความแตกต่างกัน โดยขอแยกไว้เป็นข้อๆ ดังนี้ค่ะ
- ลูกมีวิธีจัดการกับขี้มูกที่ไม่เหมาะสมมานานจนเคยชิน หมอเชื่อว่าน่าจะเป็นอันนี้มากที่สุด เพราะว่าในเด็กที่มีน้ำมูกเยอะเมื่อน้ำมูกแห้งลงกลายเป็นขี้มูกย่อมก่อให้เกิดความรำคาญและก็เป็นธรรมดาของเด็กที่อยากจะแคะออก แต่เมื่อเอาออกมาแล้ว เด็กๆ จะยังนึกไม่ออกค่ะว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี
ดังนั้นเมื่อลองผิดลองถูกอยู่ซักพักแล้วพบว่าการเอาเข้าปากนั้นง่าย สะดวกรวดเร็ว (และมีรสชาติ) แต่ข้อเสียที่สำคัญของวิธีนี้คือมันเป็นวิธีที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย แต่ด้วยความเคยชินและความง่ายของมันนั่นเอง ที่ทำให้คุณแม่เสนอวิธีที่ยุ่งยากลำบากกว่า (แต่ดูดีกว่า) ให้ทำ เขาจึงไม่ค่อยยอมจะทำค่ะ
ดังนั้นการแก้ไขขั้นแรกจึงยังไม่ใช่การเสนอวิธีใหม่ให้เขา แต่ควรเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุดคือการให้ข้อมูลด้วยภาพและเสียง เพราะว่าเด็กวัยนี้มีความสนใจในรูปภาพและสีสันต่างๆ ดังนั้นการเล่าให้เขาฟังว่าเด็กที่แคะขี้มูกใส่ปากจะมีผลเสียอย่างไร และถ้าเด็กคนนั้นเปลี่ยนไปทำวิธีอื่น (คือวิธีที่เราอยากให้เขาทำนั่นเอง) เช่น แคะใส่ผ้าเช็ดหน้าจะมีผลดีกับเขาอย่างไร โดยมีภาพประกอบจะได้ผลมากกว่าการพูดให้เขาฟังอย่างเดียว เพราะเด็กจะยังนึกภาพตามเราไม่ทัน และอย่าลืมหาผ้าเช็ดหน้าลายสวยๆ ให้เขาพกติดตัวไว้ซักผืนนะคะ
- เป็นพฤติกรรมถดถอย เมื่อเด็กมีความรู้สึกกลัว วิตกกังวล ตื่นเต้น หรือแม้กระทั่ง โกรธ เขาอาจจะกลับไปมีพฤติกรรมที่เขาเคยชอบทำเมื่อตอนเป็นเด็ก เช่น เด็กที่ดูหนังที่น่ากลัวมากๆ แล้วนั่งกัดเล็บไปด้วย หรือเด็กที่แม่กำลังมีน้องใหม่กลับไปฉี่รดที่นอนอีกครั้ง เป็นต้น
ดังนั้นลองสังเกตดูนะคะว่าทุกครั้งที่ลูกของคุณแม่มีพฤติกรรมดังกล่าว เขากำลังอยู่ในความรู้สึกดังที่บอกมาหรือไม่ การแก้ไขที่สาเหตุของความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เขาทำพฤติกรรมนี้น้อยลงค่ะ
- เด็กทำเพื่อกระตุ้นตัวเอง เมื่อถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวนานเกินไป เขาอาจจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นการกระตุ้นตัวเองได้ เช่น กัดเล็บ กระตุ้นอวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งโวยวายอาละวาดเพื่อเรียกร้องความสนใจ
ดังนั้นหากพฤติกรรมของลูกคุณแม่เกิดบ่อยในช่วงที่เขาอยู่คนเดียว เบื่อ หรือไม่มีอะไรทำ ก็คงต้องหากิจกรรมที่จะเบี่ยงเบนให้เขาไปใช้มือทำอย่างอื่นแล้วล่ะค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าไปตำหนิหากเขายังเลิกไม่ได้นะคะ เพราะอย่างที่บอกว่าความกังวลอาจยิ่งทำให้เขาเป็นมากขึ้น หากเขาทำอีกคุณแม่ควรทำแค่จับมือเขาไว้แล้วพูดสั้นๆ ว่า “เอาใส่ผ้าดีกว่าค่ะลูก” หรือหากคุณแม่พบว่าคว้ามือเขาไม่เคยทันซักทีก็อาจจะใช้วิธีพาเขาไปเอาขี้มูกออกเป็นเวลาก็ได้นะคะ เช่นทุกเช้า เที่ยง เย็น เป็นต้น และอย่าลืมชมเชยทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ขอให้ประสบความสำเร็จค่ะ
พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์