วันก่อนเพื่อนซี้สมัยมัธยมมาปรึกษาปัญหาลูกสาวจอมแก่น "นี่เธอ...ไม่รู้ว่าฉันเลี้ยงลูกผิดหรือเปล่านะ น้องแพรวลูกสาวฉัน พอไปเล่นกับคนอื่นจะหวงของไม่ยอมแบ่งให้ใครมาเล่นมาแตะ หนำซ้ำยังไปแย่งของคนอื่นเล่นอีกด้วย กลัวจะเป็นเด็กขี้หวง ไม่มีใครอยากคบจังเลย"........
หวง...เรื่องของพัฒนาการ
เชื่อว่านี่คงเป็นความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่อีกหลายคน แต่ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นเรื่องปกติของวัยนี้ที่ยังไม่ถึงช่วงพัฒนาการที่จะรู้จักแบ่งปันให้ใคร เป็น หรือเรียกอีกแบบก็คือหวงของอยู่นั่นเอง
ของที่หวงนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นของที่ตัวเองเป็นเจ้าของเท่านั้นนะคะ ของๆ คนอื่นก็มักจะเกิดอาการหวงอยากจะได้เช่นเดียวกัน เรียกว่าหากตัวเองพอใจที่จะต้องการสิ่งนั้นมาเป็นของตนเองก็จะเอาให้ได้
จึงเป็นเรื่องปกติที่แม้คุณแม่ที่ฝากลูกไว้กับเนิร์สเซอรี่จะเตรียมมีขนมและ ของเล่นชิ้นโปรดเอาไว้ในกระเป๋าเป้ให้แล้ว แต่ลูกก็ไม่วายที่จะถูกใจกับของเล่นที่เพื่อนพกมา สงครามย่อยๆ จึงปะทุขึ้นได้ง่าย เพราะของตัวเองก็หวงไม่ยอมแบ่ง แถมจะไปเอาของคนอื่นอีกซะด้วย....
พัฒนาการของเจ้าหนูวัยนี้ คือการที่รู้สึกว่าตนเองเป็น Center ของทุกสิ่ง หรือที่เรียกว่ายึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นของพ่อแม่ ของผู้ใหญ่ หรือแม้แต่กลุ่มเด็กด้วยกัน เด็กๆ ในวัยนี้จึงจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ่อยมาก เพราะไม่มีใครยอมใครนั่นเอง
แนวทางรับมือ
ด้วยพัฒนาการอย่างนี้นี่เองที่ทำให้พ่อแม่เกิดวิตก เพราะอยากจะให้ลูกเป็นคนดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดุจนางงามมิตรภาพ (ล้อเล่นน่า) แต่สอนอย่างไรเจ้าหนูก็ดูเหมือนจะไม่ยอมทำตามเสียที แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่าเป็นพัฒนาการตามวัยของเขาแบบนี้สอนไปลูกก็คงไม่ฟังอยู่ ดี อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจลองมาดูทางออกเหล่านี้กันดีกว่า
กรณีที่ 1 : บังคับ
จากการวิเคราะห์แล้ววิธีบังคับให้ลูกให้นี้ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะจะส่งผลกับอนาคตของเจ้าหนูเป็น 2 ทางด้วยกันคือ
- กลายเป็นคนให้มากเกินไป เนื่องจากถูกปลูกฝังเอาไว้ว่าควรให้กับคนที่มาขอ เขาจะให้ทุกสิ่ง ใจดี เสียสละ ทุ่มเทให้คนอื่น ฯลฯ แม้จะเป็นคนดีจริงแต่ก็ถือว่าไม่มีความพอดีนะ เนื่องจากเสียสละเกินไปจนไม่ประเมินตนเองว่าของสิ่งนั้นจำเป็นกับเราจริงไหม หรือจะทำให้เราเดือดร้อนหรือไม่
- หวงของสุดขีด อนาคตอาจถูกหาว่างกเป็นเจ้าแม่ทะเลเรียกพี่ได้ เนื่องจากตอนเด็กๆพ่อแม่บังคับให้ ให้ ให้ กับทุกคนจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นของตนเองหรือสมบัติของตนเองเลย เมื่อเป็นไปได้จึงไม่อยากจะให้ของกับคนอื่น เพราะไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ เขาเรียกว่าสุดโต่งเกินไป
กรณีที่ 2 : ปล่อยตามใจ
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะคิดว่าการที่ลูกไม่ต้องให้ใคร ทางนี้จะเหมาะเจาะ เพราะพัฒนาการของลูกยังไม่อยากให้ ยังหวงของอยู่ ก็ไม่ต้องสอนให้ลูกให้ซะเลยหมดเรื่อง
โอ๊ะ..!! อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลย เพราะว่าในอนาคตลูกอาจจะไม่เห็นความสำคัญของการให้และความเอื้อเฟื้อเผื่อ แผ่ เป็นคนนึกถึงแต่ตัวเอง ทำให้ลูกอาจจะมีปัญหาในการเข้าสังคมอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ไม่มีเพื่อนเล่น หมกหมุ่นอยู่กับตัวเอง ไม่มองคนรอบข้าง อย่างนี้ไม่ค่อยจะดีนักค่ะ
กรณีที่ 3 : เลือกทางสายกลาง
เรามาว่าถึงเรื่องทางสายกลางด้วยการให้เมื่อควรให้ หวงเมื่อควรหวงดีกว่า เมื่อเรารู้ว่าเจ้าหนูหวงของ ไม่ยอมให้ใครเล่น มีทางออกอย่างนี้ค่ะ
* พูดคุยสอนลูกทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น
ของที่หนูมีหนูเล่นได้ แต่ของเล่นชิ้นหนึ่งเล่นได้หลายคน ถ้าเพื่อนมาขอเล่นแล้วหนูพร้อมจะให้ค่อยให้ก็ได้ ถ้าหนูไม่อยากให้ก็บอกว่าอย่าจ้ะ
ถ้าหนูเอาของเล่นคนอื่นมาไว้กับตัวเองหมด หนูจะไม่มีคนเล่นด้วย ถ้าหนูอยากเล่นของคนอื่นให้บอกเพื่อนว่าแลกกัน หนูก็จะได้ของเล่นชิ้นใหม่ ถ้าเพื่อนบอกว่าอย่า หนูก็ต้องรู้ว่าเพื่อนยังเล่นอยู่นะ
* เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น หรือพาออกไปจากสถานที่นั้น เพราะความจริงแล้วเด็กวัยนี้ลืมง่าย ความสนใจมีระยะเวลาสั้น ถ้ามีของที่น่าสนใจกว่าก็จะช่วยได้
* หาของเล่นที่น่าสนใจมาสำรองไว้สัก 1-2 ชิ้น แล้วเอาของใหม่ไปให้ยามที่แย่งของกัน ที่สำคัญศึกจะสยบได้ ต้องจับแยกอยู่กันคนละพื้นที่ดีที่สุดค่ะ
เรื่องเด็กหวงของ ทะเลาะแย่งของกัน เป็นเรื่องธรรมดาของหนูๆเขานะคะ ตราบใดที่ผู้ใหญ่สามารถควบคุมและยุติไม่ให้เขาเลยเถิดไปได้ ก็ไม่ต้องเป็นกังวล ยึดหลักการว่าให้ลูกได้เห็น และได้ซึมซับสิ่งที่ถูกต้องอยู่สม่ำเสมอ วันหนึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเขาก็จะพัฒนาบุคลิกภาพโดยมีคำสั่งสอนและแบบอย่างของ พ่อแม่เป็นพื้นฐานที่สำคัญค่ะ
แผนยุติสงคราม
เมื่อเกิดสงครามแย่งของกันปั๊บ คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้
- หาของเจ้าปัญหา เอามาถือไว้เป็นของกลางก่อน
- ดูพฤติกรรมลูกว่าทำร้ายกันบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหนแล้ว เช่น ข่วน กัด กระชาก
- สังเกตดูว่าใครเป็นเล่นก่อนหรือใครเป็นคนแย่งของ โดยถามผู้ที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ หากไม่มีเก็บของกลางไว้ก่อน
- แม้เด็กๆ จะโวยวายงอแงเสียเป็นการใหญ่ที่คุณเอาของเล่นไป แต่ถึงอย่างไรคุณก็ต้องบอกว่า อันนี้เล่นไม่ได้ เล่นแล้วแย่งกัน มาเล่นอันอื่นดีกว่า จะได้เล่นด้วยกันได้ ดึงความสนใจของของสิ่งนั้นออกไป
หวง-ติด ... แตกต่าง?
การหวงของกับการติดของต่างกันนะคะ เพราะการหวงของนั้นเป็นแค่ช่วงระยะหนึ่งที่ เด็กๆ รู้สึกว่าตนเองป็นศูนย์กลางเท่านั้น แต่การติดของคือการที่เด็กมีจิตใจผูกพันกับสิ่งของนั้นๆ เช่น รู้สึกมั่นใจ อุ่นใจ ที่มีพี่หมีอยู่ใกล้ๆ ยามคุณพ่อคุณแม่กลับดึก เป็นต้น