เพราะแม่เลี้ยงมากับมือ ไม่ได้เอาไปให้พี่เลี้ยงวัยรุ่นหรือคนข้างบ้านเลี้ยง อยู่กับแม่สองคนคุยกันกระหนุงกระหนิงตลอดเวลา ถ้าแม่ทำงานยุ่งเจ้าตัวเล็กก็เล่นของเล่นอยู่ข้างๆ สมองนึกสงสัยอะไรก็ถามแม่ขึ้นมา "คุณแม่ขา นี่อะไร.." คุณ แม่ก็ชอบตอบ ถามกันไปตอบกันมาอย่างนี้อยู่ทั้งวัน พอแม่เลิกงานเจ้าตัวเล็กก็ถูกสอนให้เก็บของเล่นเข้ากล่อง บางวันแม่ไปดูงานที่โรงงานก็กระเตงกันไปด้วย ลูกก็ได้โอกาสเจอะเจอมีคนโน้นคนนี้มาทักทายบ้าง
ยกเว้นบ่ายวันไหนแม่มีประชุม บางทีก็เอาลูกสาวไปฝากเลี้ยงที่เนิร์สเซอรีสัก 2 ชั่วโมง หรือไม่ก็ไปฝากอาม่าสักพัก สาวน้อยหน้าจีนที่ชื่อ"ยูจีน"วัยเกือบสองขวบ เลยพูดจ้อทั้งวัน แล้วก็ไม่โยเยกวนผู้ใหญ่ เพราะพ่อแม่ให้เวลาพอจนไม่ต้องเรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษอีก ภาษาพูดของเจ้าหล่อนก็ร้ายเหลือ
"ยูจีน จะไปเที่ยวที่ไหน" "ไปกุงเทพค่า" ....เสียง"ค่า" ชัดแจ๋วเลย
"ถ้าป้าขอขึ้นรถไปด้วยได้ไหม" "ได้ค่า"
"รถของปะป๊ะนี่จะนั่งได้อีกกี่คนเนี่ย" ป้ารำพึงอยู่ลำพัง ........"ฉองคน ฉามคนค่ะ"
แน่ะ...ทำยังกับนับเลขได้งั้นแหละ แม่เขาก็สอนนับเลขอยู่หรอก นับหนึ่งไปถึงสิบแต่ไม่ยอมนับแปด ข้ามไปเก้าเสียหน้าตาเฉย จนแม่ต้องบอกว่า "ไม่นับแปด เดี๋ยวเลขแปดเขาน้อยใจนะ" เจ้าหล่อนจึงได้เห็นใจยอมนับแปดเข้าในสารบบ แต่จะรู้ความหมายของสองคนสามคนนั้น คงหาไม่ แต่ก็รู้จักพูด..
สงสัยว่าแม่เขาทำอย่างไรลูกถึงพูดได้เร็วนัก ก็พบว่าแม่ของเขาใจเย็นกับลูก เวลาพูดจะค่อยๆพูดช้าๆ ชัดๆ และพูดโต้ตอบกันแบบให้เหตุผลเป็นเรื่องเป็นราว ถึงบางคราวสาวตาตี่จะไม่รู้เรื่อง แต่แม่ก็พยายามอธิบาย ไม่นิยมระบบดุด่าว่าตี แต่เจ้าหล่อนก็เรียนรู้ว่าอะไรที่แม่ยอมและไม่ยอมให้ นานๆเข้าเจ้าหล่อนก็คงซึมซับเข้าไป
นอกจากพูดแล้วแม่ก็ไปทบทวนอาขยานมาท่องจนเจ้าหล่อนจับคำได้
"โยกเยกเอย..."
"แม่ไก่อยู่ในตะกร้า....."
"ก.เอ๋ย ก.ไก่ .................ฮ.นกฮูกตาโต๊....."
แถมยังหาหนังสือมาอ่านให้ลูกฟังก่อนนอนเป็นประจำ ก่อนสองขวบ ยูจีนจึงพูดได้รู้เรื่อง มีคลังคำศัพท์เยอะ บอกความต้องการของตนเองได้ สื่อสารกับคนอื่นได้รู้เรื่อง แล้วก็ฟังคนอื่นพูดรู้เรื่อง ปะติดปะต่อได้ทีละเล็กละน้อย
สมองของทารกในปีแรกนั้น เติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นยังนอนแบเบาะ ได้แต่กลิ้งคว่ำหงาย คืบคลานแล้วก็ตั้งไข่อย่างช้าๆแบบนั้นน่ะ รู้ไหมคะว่าในสมองของเจ้าตัวน้อยประจุไฟฟ้าแล่นไม่ช้าเลยสักนิด วิ่งปรู๊ดปร๊าดไปทั่ว เซลล์ขยายกิ่งก้าน โตเอาๆ ภายใน 3 ปีแรกของชีวิตเท่านั้น เซลล์สมองของเด็กๆก็พัฒนาไปได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดที่ควรมี
เซลล์สมองพัฒนาเติบโตได้โดยผ่านการสัมผัส การพูดคุยของพ่อแม่ ได้ฟังเพลงกล่อมนอน ฟังนิทาน ฟังดนตรี ได้สัมผัสอ้อมกอดพ่อแม่ ได้จับโน่นคว้านี่ ได้มองเห็นสังเกตสิ่งรอบตัว ได้ลองจิบชิม แอบดูด...
สามปีแรกนี่ ใครไม่ได้สังเกตลูก ไม่ได้ใกล้ชิด คอยจัดการเรียนรู้ให้เขา ไม่ได้พูดคุยสื่อสาร ปล่อยให้นอนตาลอยอยู่กับพี่เลี้ยง พ่อกับแม่กอดประทับรับขวัญเดี๋ยวเดียวตอนเข้าบ้าน จากนั้นส่งคืนพี่เลี้ยง..."พ่อกับแม่เหนื่อยจังเลยลูกจ๋า ขอพักก่อนนะลูก....???"
ต่อให้กินนมผสมสารเร่งสมองขนาดไหนก็ไม่ได้ลูกสมองดีหรอก แล้วก็ไม่ได้ลูกสุขภาพจิตดีด้วย เจ้าตัวเล็กย่อมวิเวกวิเหวโหว หัวใจเป็นรูโหว่ตั้งแต่เล็กๆ
นักวิชาการวิจัยออกมาแล้วว่า เด็กที่พ่อแม่หมั่นพูดด้วยจะรู้คำศัพท์มาก เด็กที่รู้คำศัพท์มาก จะเป็นคนอ่านหนังสือเก่ง คนอ่านหนังสือเก่งต้องเป็นคนฉลาดและมีความรู้ดีแน่
เลยสามขวบไปแล้วโดยไม่ได้ใกล้ชิดกัน ไม่ได้ฝึกการพูด หรือเพิ่มคำศัพท์ ไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา(อย่างเป็นธรรมชาติ ประสาแม่ๆลูกๆ ไม่ใช่เอาลูกฉองฉามขวบไปเข้าคอร์สเด็กปัญญาไวหรอกนะคะ) ต่อให้เอาเงินแสนใส่พานอุ้มลูกไปฝากเข้าโรงเรียนที่ว่าดีว่าดังได้ ผู้เชี่ยวชาญท่านก็รับรองว่า คุณครูจะชดเชยเสริมช่วงวัยทองอันควรได้ฝึกภาษาที่หายไปของน้องหนู หาได้ไม่..
ความจริงไม่อยากไปใช้คำโฆษณาของมือถือยี่ห้อนั้นเลย แต่มันก็เป็นจริง...พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น และเข้าใจกันมากขึ้น....นั่นแหละใช้กับลูกตัวจิ๋วๆได้แน่ (ความจริงใช้ได้กับทุกวัยหรอก)
เพียงแต่ต้องไม่ผ่านมือถือนะคะ ขืนมีวิถีชีวิตที่ต้องใช้มือถือสื่อสารกับเจ้าตัวเล็กละก็...ทำนายได้เลยค่ะ ว่า ไม่เพียงแต่ไม่ได้ลูกช่างพูด หากยังจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาไปอีกตลอดทาง