ลูกบ้านไหนติดแม่บ้างคะ ลูกติดแม่ก็น่ารักดีนะคะ แต่บางทีติดมากเกินไป แม่จะลูกก็ร้อง แม่จะเดินก็ร้อง แม่แค่หันหน้าไปทางอื่นก็ร้อง แบบนี้อาการลูกติดแม่มากไปแล้วนะคะ วันนี้ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล จะมาแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกติดแม่ รวมทั้งของคุณแม่กันค่ะ
หนูๆ วัยซนติดแม่ถือเป็นพัฒนาการตามวัย โดยเฉพาะวัย 1-3 ปี เป็นช่วงกำลังติดพ่อแม่เลยล่ะ แต่ถ้าลูกบ้านไหนยังสามารถไปเล่นสำรวจโลกได้ หรือว่าเริ่มเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน หรือสามารถอยู่กับคนแปลกหน้าได้ ขอให้โล่งใจนะคะ แสดงว่าลูกจะไม่มีปัญหาติดพ่อแม่แน่นอน แต่ถ้าลูกติดแม่มาก จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็ต้องคอยอุ้มไปด้วยตลอด ไม่ยอมเล่นกับคนอื่นหรือไม่ยอมละสายตาจากแม่เลย อย่างนี้ต้องใส่ใจแล้วว่าเจ้าตัวเล็กเป็นอะไรหรือเปล่า
ทำไมลูกติดแม่
- พันธุกรรมสืบทอด เนื่องจากการติดพ่อแม่เป็นลักษณะของพันธุกรรม ที่อาจจะมีการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่อีกที ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของแต่ละครอบครัวที่จะต้องมีการถ่ายทอดกันมา
- ความกลัวสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพ่อแม่บางคนวิตกกังวลมากเกินไป เมื่อลูกจะทำอะไรก็กังวลไปหมด พอเห็นลูกทำทำนั่นทำนี่ก็ร้องห้ามตลอดเวลา ดังนั้นเด็กก็จะเรียนรู้จากพ่อแม่ว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเขานั้นน่ากลัวไปหมด เพราะฉะนั้นต้องอยู่ติดพ่อแม่ไว้ดีกว่าถึงจะปลอดภัย
- พื้นฐานที่แตกต่าง เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนมีความขี้อาย เวลาไปที่ไหนก็จะแอบอยู่หลังคุณแม่ตลอดเวลา หรือเด็กบางคนมีความกลัวเป็นพื้นฐาน ก็จะไม่กล้า ไม่อยากอยู่คนเดียว จนต้องเกาะติดแม่แจ
- แม่คือต้นเหตุ โดยเฉพาะแม่ที่ชอบขู่ลูกเช่น ขู่ลูกว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วจะไม่รัก แม่จะหนีไป หรือว่าแม่จะไม่อยู่กับหนูอีกแล้ว ฯลฯ นั่นละที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถ้าเขาทำตัวไม่ดีแม่อาจจะไม่รักและหนีเขาไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กติดแม่ค่ะ
แก้ปัญหาลูกติดแม่
วัย 1-3 ปี เป็นช่วงของการพัฒนาการเรียนรู้ และสำรวจโลกกว้าง ดังนั้นหากลูกวัยนี้แล้วยังติดแม่อยู่ เขาจะมีโอกาสเรียนรู้สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าปกติ เสียโอกาสในเรื่องพัฒนาการของการเรียนรู้กับเด็กคนอื่นๆ ไป ทำให้พัฒนาการของลูกถดถอยนั่นเอง
พ่อแม่สามารถมีส่วนช่วยเหลือทุกขั้นตอนในกระบวนการการเรียนรู้ของลูก และยังเป็นการป้องกันปัญหาลูกติดแม่ได้ ดังนี้
-
-
- ให้คำชม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีความสุขกับการใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่างๆ สามารถเล่นกับคนอื่นๆ ได้ เมื่อนั้นพ่อแม่ก็ต้องให้รางวัลหรือคำชมกับลูกบ้างนะคะ เพื่อเขาจะได้มีความมั่นใจ และมีแรงเสริมในการที่จะอยู่ห่างจากพ่อแม่ในพฤติกรรมที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงวัยของการติดพ่อแม่ก็ตาม ซึ่งลูกก็จะผ่านพ้นช่วงวัยของการติดพ่อแม่ไปได้อย่างไม่มีปัญหา
- ฝึกให้ลูกปรับตัว เพราะเด็กบางคนขี้อาย บางคนขี้กลัว หรือบางคนก็ขาดความมั่นใจ ดังนั้นต้องให้เวลาเขาได้คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม ให้เขาทำความรู้จักคุ้นเคยกับคนแปลกหน้าก่อน เพื่อให้เขาได้รู้จักการปรับตัว และเริ่มเรียนรู้กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้
- หาสิ่งของทดแทนตัวพ่อแม่ เช่น ตุ๊กตา ผ้าห่ม หรือหมอน ก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาหรือว้าเหว่ของลูกได้ ยามที่ต้องห่างจากแม่ เขาก็มักจะกอดตุ๊กตาตัวเน่าๆ หรือหมอนเปื้อนน้ำลาย หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจ ซึ่งแม่ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะติดน้องหมีหรือหมอนเน่าจนเลิกไม่ได้ะ เพราะว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งแล้วเขาก็จะเลิกไปเอง เพราะเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการทางสังคมจะทำให้ลูกไม่อยากถือหมอนหรือตุ๊กตาไปไหนมาไหนด้วย
การที่ลูกติดแม่ก็คือการแสดงความรักอย่างหนึ่งของเขา เพียงคุณแม่ต้องใจเย็นและอดทนอีกสักนิด ไม่นานลูกก็จะพ้นวัย และสามารถเติบโตขึ้นมาในสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่ต้องห่วงเลยค่ะ