เริ่มต้นที่ พื้นบ้าน ที่จะต้องปลอดภัยจากการลื่นล้ม แขน ขา ปาก หรือหัวกระแทกพื้นเพราะพื้นเปียกน้ำเฉอะแฉะ หรือเป็นคราบมัน และปลอดภัยจากการวิ่งหรือเดินสะดุดล้มกระแทก เพราะบรรดาของเล่น ของใช้ สารพัดถูกทิ้งระเกะระกะเรี่ยราดตามพื้น จึงควรหมั่นกวาดเช็ดถูบ้าน เพื่อเคลียร์พื้นที่ ”ไม่ให้มีสิ่งใดมาทำอันตรายอะไรให้คว้าใส่ปากอีก ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดผลไม้ (เมล็ดน้อยหน่า ละมุด มังคุด ลำไย ฯลฯ ) หรือ เม็ดกระดุม เหรียญ เข็มกลัด
อย่าลืมนะครับว่า…สิ่งใดก็ตามถ้าอุดตันหลอดลมเด็ก มีเวลาเพียง 4 นาทีเท่านั้นที่จะช่วยชีวิตของพวกเขา
ทางที่ดีถ้าลูกเราอายุน้อยกว่าสามปี ไม่ควรให้มีของที่มีขนาดชิ้นเล็กกว่า 3.2 x 6 ซม อยู่รอบตัวเด็กเลยครับ เพราะเด็กวัยนี้เวลาเขาสนใจอะไรก็จะเอาเข้าปากสำรวจก่อนเลย
-บันได เป็นอีกจุดที่เด็กโปรดปรานมาก อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยๆ ก็คือ การร่วงหล่นลงมาจากราวบันได หรือตัวลอดได้แต่ศีรษะของเด็กติดคาที่ราวบันได เกิดเป็นอุบัติเหตุในลักษณะแขวนคอ
จึงไม่ควรให้ซี่ราวบันได ราวระเบียง แต่ละซี่ห่างเกินกว่า 9 ซ.ม. หรือมิฉะนั้นก็ควรหาไม้ ตาข่าย หรือ แผ่น พลาสติกมาปิดกั้น ช่องว่างระหว่างราวบันไดซะเลยครับ
ส่วนประตูกั้นบันไดก็ควรติดตั้ง ตั้งแต่ลูกคลานได้แล้วล่ะครับ ยิ่งวัยหัดเดินยิ่งไม่ควรละเลย แล้วก็จำเป็นต้องทำทั้ง 2 บาน คือ กั้นทางขึ้น และทางลง และที่ไม่ควรลืมก็คือ จะต้องมีกลอนที่ล็อคไว้เสมอ และล็อคทุกครั้งหลังจากที่เปิดเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญก็คือต้องทำให้เปิดเข้าหาตัวได้เท่านั้น เพื่อกันไม่ให้เด็กผลัก หรือไถลตกลงไป
การเลือกเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน นี่ก็ต้องพิถีพิถัน คำนึงถึงสิ่งที่เป็นไปได้ที่เจ้าวายร้ายจะโชว์ออกมา...และป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้
ควรเลือกโต๊ะที่เป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ เพื่อจะได้ไม่มีขอบ หรือมุมที่แหลมคมที่ลูกอาจเดินหรือวิ่งเข้ามาชน หรือหาซื้ออุปกรณ์กันกระแทกมุมขอบโต๊ะใส่ทั้ง 4 มุม รวมทั้งการงดใช้งดซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระจก (หลายๆ บ้าน นิยมวางโต๊ะรับแขกเตี้ยๆ ที่ทำด้วยกระจกขอบเหลี่ยม ในขณะที่มีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต เดินเล่นวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้นแทบทั้งวัน) กระจกใสกั้นระหว่างห้องก็เป็นอีกสิ่งที่ควรงดเว้น เนื่องจากเสี่ยงต่อการที่เด็กเล็ก (รวมทั้งเด็กโต และผู้ใหญ่) จะเดินชนกระแทกได้รับบาดเจ็บ
-การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความปลอดภัยที่หลายคน อาจคาดไม่ถึง เช่น โซฟาที่ไม่ควรวางใกล้หน้าต่าง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เริ่มตั้งแต่วัยเตาะแตะ กระทั่งเด็กโตที่มักจะชอบปีนป่าย หน้าต่างสูงดีอยู่แล้ว เด็กปีนไม่ถึง แต่พอวางเฟอร์นิเจอร์ลงไป เด็กเลยใช้เป็นอุปกรณ์ปีนป่าย เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กๆ ร่วงหล่นมาเสียชีวิต
โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางสเตอร์รีโอหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆ ต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่าย หรือควรจะหาอุปกรณ์ยึดติดกับกำแพง
-ปลั๊กไฟ ต้องจัดวางสูงกว่า 1.5 เมตร หรือมีเต้าเสียบป้องกันเด็กแหย่รู เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นเครื่องทำน้ำเย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ต้องต่อสายดิน มีตัวตัดไฟอัตโนมัติ ป้องกันไฟดูดครับ
-การจมน้ำตายในบ้าน นั้นเกิดขึ้นได้บ่อยเกินกว่าที่พ่อแม่ทุกคนจะคาดคิด เด็กเล็กหัดนั่งหน้าทิ่มลงไปในอ่างอาบน้ำหรือเด็กหัดเดินที่หัวทิ่มลงในถังน้ำถูบ้าน เพียง 4 นาที เด็กจะขาดอากาศหายใจจนสมองเสียหายนำไปสู่การตายหรือพิการถาวร เด็กวัยนี้จึงจัดอยู่ในวัยที่ผู้ดูแลจะต้องมองเห็นเขาตลอดเวลา และเด็กต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมคว้าถึง ดังนั้นความเผอเรอของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก แม้แต่เพียงแค่ชั่วขณะ หมายถึงวินาทีแห่งความเป็นความตายที่อาจคาดไม่ถึง
การดูแลเด็กวัยนี้จึงต้องเฝ้าใกล้ชิดตลอดเวลา ไม่เผอเรอ เช่น คิดว่าไม่นานไม่เป็นไร ไปรับโทรศัพท์ เปิดประตูบ้าน งีบหลับ นำชามข้าวที่เพิ่งจะป้อนเจ้าหนูน้อยเสร็จไปเก็บหรือไปล้าง ไปตากผ้า หรือฝากเด็กโตหกเจ็ดปีดูแทน
สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องทำควบคู่กับการเฝ้าดู คือการจัดการสิ่งแวดล้อมของเด็กให้ปลอดภัยแต่แรก โดยแยกเด็กออกจากแหล่งน้ำ เช่น กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหวได้อิสระ กำจัดแหล่งน้ำ กั้นรั้วแหล่งน้ำ เป็นต้น
-ห้องน้ำ เป็นจุดเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตเช่นกัน ที่พบบ่อยๆ ก็คือ การที่ผู้ใหญ่เผอเรอปล่อยให้เจ้าตัวน้อยอยู่ในห้องน้ำเพียงลำพัง อย่าลืมนะครับว่า ระดับน้ำสูงกว่า 5 ซ.ม. ขึ้นไปก็ล้วนเป็นจุดเสี่ยงพอที่จะทำให้เจ้าหนูจมน้ำได้ (บ้านไหนมีโอ่ง-ไห-บ่อเลี้ยงปลา หรือแม้แต่ สระว่ายน้ำแบบสูบลม พึงไม่ประมาท โดยต้องสำรวจอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีน้ำปริ่ม (เกิน 5 ซ.ม.) อยู่ภายใน
สำหรับเด็ก 3-6 ขวบ ก็ยังไม่ควรปล่อยให้แช่ในอ่างอาบน้ำ เพราะความลื่นของอ่างของพื้น ประกอบกับทักษะในการระมัดระวังยังไม่สมบูรณ์ มักทำให้ลื่นล้มกระแทกพื้นทั้งตอนก้าวลงหรือก้าวขึ้นจากอ่างอาบน้ำ บางคนศีรษะด้านหลังกระแทกขอบอ่างถึงกับสลบ บางคนไม่สลบ แต่มีแผลแตกเลือดออก หนังศีรษะด้านหลังบวม มีรอยฟกช้ำ บางรายคุณหมออาจให้รับการทำซีที (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง) เพื่อความปลอดภัย
*กรณีเด็กล้มศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน หลังจากกลับจากการตรวจที่โรงพยาบาลแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการที่บ้านอีก 24 ชม.ถ้ามีอาการอาเจียน ปวดหัวมากขึ้น ซึมลง แขนขาอ่อนแรงหรือชัก ให้รีบกลับมาหาคุณหมอทันที เพราะอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมองได้ แต่ถ้าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เล่นได้ กินได้ ก็สบายใจได้ครับ เพราะเด็กปลอดภัยดี
-ห้องครัว นั้นนับได้ว่าเป็นแหล่งชุมนุมสิ่งที่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ จะนำมาเล่น แถมมีหลายๆ อย่างอาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ (มีดหลายๆ ขนาดตั้งแต่มีดปอกผลไม้ยันมีดปังตอ
กาต้มน้ำร้อนๆ ที่อาจหกรด หรือน้ำมันผัดกับข้าวเดือดๆ ที่อาจกระเซ็นใส่หน้า ใส่ตาเด็กๆ ได้ทุกเมื่อ
หลายๆ บ้านจึงลงทุนทำประตูเตี้ยๆ เพื่อกั้นไม่ให้เด็กเล็กเข้าไปยุ่มย่ามในส่วนของห้องครัว ต้มน้ำแกงอยู่บนเตา แต่หากไม่ได้ทำประตูกั้นครัว หรือแม้แต่ได้กั้นอย่างข้างต้น ก็อย่าประมาทถึงกับก้มหน้าก้มตาทำกับข้าวลูกเดียว แต่จะต้องยืนในมุมที่ลูกน้อยจะอยู่ในสายตาได้เสมอ จะต้องไม่ให้ลูกน้อยอยู่ใกล้เตาแก็สหรือเตาไฟฟ้าที่กำลังต้มน้ำ หรือต้มน้ำแกงอยู่บนเตา จะต้องไม่ให้ลูกน้อยข้ามาใกล้ ในขณะที่คุณแม่กำลังยกน้ำแกงร้อน เพื่อนำมาวางไว้บนโต๊ะอาหาร อย่าเผลอลืมบรรดาของแหลมของคมประจำครัว จนถูกเด็กๆ คว้าเอาไปเล่นอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (มีดสั้นมีดยาว มีดเล็กมีดใหญ่ตลอดจนที่เจาะที่งัดกระป๋อง)
อย่าใช้ผ้าปูโต๊ะเลยนะครับ เพราะเด็กเล็กอาจดึงผ้าปูพรวดลงมาพร้อมด้วยชามน้ำแกงร้อนๆ ที่ยังตั้งวางอยู่
-ห้องนอน เปิดแคตตาล็อก ชมภาพห้องนอนสำหรับเด็กๆ ที่หลากสไตล์และดีไซน์ได้อย่างน่ารักน่าชม แต่แม้จะบรรเจิดไปด้วยจินตนาการเพียงใดก็ตาม สาระสำคัญยิ่งที่จะต้องไม่หลงลืมก็คือห้องนอนของเด็กๆ จะต้องเป็นห้องที่หลับอย่างสบาย มีความสุขและปลอดภัย
ที่นอนของทารกน้อยที่ปลอดภัย ควรเป็นเบาะขนาดบางค่อนข้างแข็ง และแยกออกจากเบาะที่นอนหรือเตียงผู้ใหญ่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ เสี่ยงต่อการถูกผู้ใหญ่หรือเด็กโตๆ นอนทับจนขาดอากาศหายใจ โดยเฉพาะไม่วางทารกให้นอนใกล้ผู้ใหญ่ตัวอ้วนๆ หรือคนที่กินยาประเภทช่วยให้หลับสนิท เช่น ยากันชัก ยากล่อมประสาท และไม่นอนใกล้คนที่เมาหลับ
สาเหตุที่พบได้อีกคือ การตกเตียงลงไปในช่องว่างต่างๆ เช่นช่องว่างระหว่างเตียงกับกำแพง แล้วศีรษะเข้าไปติดค้างระหว่างเตียงกับกำแพง เตียงกับเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ หรือเตียงกับฝาผนังนี่คืออันตรายจากการที่ให้ทารกน้อยหรือเด็กเล็กๆ นอนบนเตียงผู้ใหญ่หรือแม้แต่ “เตียงเด็ก” ก็ใช่ว่าจะหายห่วง เพราะเมื่อลูกเข้า 2 ขวบแล้ว หรือสูงเกิน 90 ซ.ม. แล้ว เข้าสู่ “วัยซน” อันเป็นวัยที่ชอบปีนป่ายห้อยโหน ก็ได้เวลาให้ลูกเลิกนอนเตียงเล็กได้แล้วครับ
เพื่อความปลอดภัยก็ควรเก็บเตียงเด็กขึ้นเลยดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงในการปีนป่ายจนพลัดตกลงมากระแทกพื้นของเจ้าหนูวัยซน
นอกจากนั้น บางบ้านที่มีเด็กเกิน 1 คน ก็มักจะซื้อเตียง 2 ชั้น เพื่อประหยัดเนื้อที่ ซึ่งก็เป็นไอเดียที่ดี แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยไว้ก่อน โดยเลือกเตียงที่มีซี่ราวกันตกที่มีช่องห่างไม่ให้เกินกว่า 9 ซ.ม. เพื่อกันไม่ให้ศีรษะของลูกติดค้างระหว่างซี่ราว
ส่วนเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ขวบ ก็อย่าให้นอนชั้นบนนะครับ เพราะเด็กวัยนี้ชอบปีนป่ายมาก ในขณะที่ยังระมัดระวังตัวเองไม่เป็น
นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าจะให้ลูกนอนเตียงเด็กแบบชั้นเดียวหรือ 2 ชั้นก็ตาม จะต้องสำรวจให้ถี่ถ้วนด้วยนะครับ เช่น ถ้ามันทำด้วยไม้ จะต้องเลือกไม้ที่เรียบลื่น ไม่มีเศษเสี้ยนแหลมคมใดๆ น็อตแต่ละตัวของเตียงจะต้องจับไว้อย่างแน่นหนา ไม้ที่ประกอบกันต้องเรียงอย่างถูกต้องเข้าที่
.................................................................................................................................
ล้อมกรอบ
“การปฐมพยาบาล หากเด็กเกิด ภัยในบ้าน”
หกล้ม ชน กระแทก ฟกช้ำดำเขียว การปฐมพยาบาล ต้องประคบแผลด้วยน้ำเย็นภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นน้ำอุ่น
บาดแผลฉีกขาด หากเป็นการชนกระแทก เช่น วิ่งชนมุมโต๊ะ หรือเล่นของมีคมต่างๆ จะทำให้เกิดบาดแผลฉีกขาดได้ การปฐมพยาบาล ทำการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ให้น้ำไหลผ่านแผล จากนั้นให้หยุดเลือดโดยการกดแผลด้วยผ้าสะอาดสักประมาณ 4-5 นาที เลือดก็จะหยุดไหล ทาน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณรอบๆ แผล เท่านั้นโดยไม่ต้องหยอดยาเข้าไปในเนื้อแผล
โดนไฟดูด การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง หลังจากที่ช่วยออกมาได้แล้ว ถ้าพบว่าไม่หายใจ ต้องกระตุ้น โดยการเป่าปาก และกดทรวงอก
ถูกน้ำร้อนลวก การรักษาเบื้องต้น จะต้องทำให้บริเวณที่โดนลวกเย็นลง โดยล้างแผลด้วยน้ำเย็น หรือปล่อยให้น้ำก๊อกไหลผ่านสัก 10 นาที หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา จากนั้นซับแผลให้แห้ง แล้วจึงใช้ผ้าก๊อซปิดคลุมแผลแต่อย่าแน่นเพราะแผลที่โดนน้ำร้อนลวกจะบวม ที่สำคัญอย่าใช้สำลีเช็ด เพราะว่าอาจจะบวมทำให้ระคายเคือง ให้ทานยาแก้ปวดสำหรับเด็ก และนำส่งแพทย์ ผิวหนังที่สัมผัสความร้อนมักจะพองหลายคนเอาเข็มไปเจาะให้แตก ซึ่งทำให้แผลติดเชื้อได้ง่ายๆ ปล่อยไว้นะครับ ให้ล้างแผลแล้วซับให้แห้ง จากนั้นใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดรอบตุ่มเบาๆ ถ้าตุ่มแตกให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด จากนั้นเช็ดรอบแผลด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ ปิดด้วยผ้าก๊อซแห้ง และควรจะเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย
กลืนสารพิษ กรณีนี้อย่าเพิ่งทำอะไรนะครับ ให้เก็บขวด แล้วโทรปรึกษาศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี 0 2201 1083 ทันที การช่วยเหลือผู้กลืนกินสารพิษเข้าไปด้วยการพยายามทำให้อาเจียนออกมานั้นเป็นวิธีที่นิยมกันมาเสมอ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง และอาจมีอันตรายในบางกรณี เหตุเพราะสารพิษหลายๆ ตัวเมื่อลงไปถึงกระเพาะอาหารแล้ว หากทำให้ขย้อนหรืออาเจียนขึ้นมาจะกัดกร่อนหลอดอาหาร หรือผนังลำคอได้ อาทิเช่น สารทำความสะอาดพื้นทั้งหลาย หรืออาจสำลักลงปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ เช่น น้ำมัน ทินเนอร์ เป็นต้น
กรณีนี้รีบขอคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนจะทำอะไรลงไป…จะได้ปลอดภัยไร้กังวลครับผม
......................................................................................................................................................
เด็กจะต้องซนได้อย่างปลอดภัย เพราะธรรมชาติของเด็กๆ ย่อมต้องชอบ ปีนป่ายกระโดดโลดเต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเสียแต่แรกเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับการเฝ้าดูแลระวังใกล้ชิด อ้อ โตขึ้นมาอีกหน่อยเช่นเกินกว่า 6 ปีแล้ว เด็กจะรับรู้ความเสี่ยงได้ การสอนให้รู้ว่าอะไรเสี่ยงอย่างไร เด็กจะเข้าใจเหตุและผล สอนให้ดี ให้เด็กมีส่วนร่วมคิดไปด้วยจะสร้างเด็กยุคใหม่ที่ตระหนักในอันตราย และไม่ประมาทครับ
……………………………………………………………………………………………………..