วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกชัก
หากเจ้าตัวเล็กเกิดมีอาการชักกระตุก ตัวเกร็ง น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว ปากเขียว ใบหน้าเขียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะไข้ขึ้นสูง โรคลมชัก การติดเชื้อในสมอง หรืออุบัติเหตุ คุณพ่อคุณแม่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นของอาการชักได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
- ตั้งสติ: ลูกชักจะทำให้พ่อแม่ตื่นตกใจแน่นอน จำให้มั่นว่าพ่อแม่ต้องตั้งสติ ไม่กรี๊ดร้อง ฟูมฟาย หรือช้อกจนทำอะไรไม่ถูก เพราะสิ่งสำคัญคือการเข้าชาร์จและปฐมพยาบาลลูกทันที ให้นึกถึงตอนลูกล้มเรายังวิ่งเข้าไปดูทันที ตอนลูกชักก็ให้ตั้งสติและรีบเข้าปฐมพยาบาลเช่นกัน
- จับลูกนอนที่โล่งและนอนตะแคง: ให้ลูกนอนในที่โล่งเพื่ออากาศถ่ายเทและหายใจสะดวก จากนั้นจับนอนตะเคง เพื่อป้องกันเสมหะ อาหาร ลิ้น หรือน้ำลายอุดตันหลอดลม ควรให้ลูกนอนตะแคงศีรษะต่ำเล็กน้อย หรือนอนหงายแล้วหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง
- ห้ามใส่ของงัดปากหรือให้ลูกกัด: ใครที่เคยทำหรือเชื่อต่อกันว่าให้เอาช้อน ผ้าหรืออะไรนุ่มๆ งัดปากให้ลูกกัด ไม่เป็นความจริงเพราะจะยิ่งอันตราย เช่น ฟันหักหลุดไปอุดตันหลอดลมหายใจไม่ออกส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้ รวมถึงห้ามให้ใครมามุงด้วย
- ปลดเสื้อผ้าลูกให้หลวม: เพื่อระบายความร้อน หายใจสะดวก และง่ายต่อการปฐมพยาบาล
- เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง: เมื่อลูกชักเพราะไข้ตัวร้อน ควรเลี่ยงการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังหดตัว และไม่เกิดการถ่ายเทความร้อนออกภายนอก ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดแรงๆ จนผิวแดง ซึ่งจะช่วยลดไข้ได้
- รีบพาลูกส่งโรงพยาบาล: ถ้าชักเกิน 10 นาที หรือชักซ้ำ ขณะที่ลูกยังไม่ฟื้นเป็นปกติควรรีบนำลูกส่งโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องต่อไป
Don'ts เมื่อลูกชักอย่าทำแบบนี้เด็ดขาด
- อย่าอุ้มเด็กขึ้นมากอดไว้ขณะเด็กชัก
- อย่าเขย่าหรือตีลูก
- อย่าใช้นิ้วมือของตัวเองสอดเข้าไปในปากลูก
- อย่าฝืนง้างปากลูก เพราะอาจทำให้ฟันและขากรรไกรหักได้
หน่วยฉุกเฉิน 1669 เมื่อลูกชัก
ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอยู่นั้น หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถโทรศัพท์แจ้งหน่วยฉุกเฉิน 1669 ให้เข้ามาช่วยเหลือได้ค่ะ (มีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)