การเรียนคณิตศาสตร์ของเด็ก มักถูกคาดหวังสูง โดยถูกมุ่งหวังให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง ให้ได้ผลการเรียนที่ดีที่สุด แต่ไม่มีใครสนใจเรื่องกระบวนการคิดของเด็กว่าเขาคิดอย่างไร ทำไมถึงตอบเช่นนี้ ซึ่งหากพัฒนาเรื่องกระบวนการคิดของเด็กแล้ว จะเป็นการช่วยส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ของลูกได้เป็นอย่างดี ส่วนจะเสริมอย่างไรนั้น ผศ.ดร.ชลาธิป สมาหิโต ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาให้คำตอบ
กระบวนการคิด+คณิตวัยอนุบาล
การเรียนคณิตศาสตร์ของหนูวัยอนุบาลนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กๆ ว่าบางครั้งเด็กๆ ต้องการการเรียนรู้แบบตอกย้ำซ้ำทวน ต้องฝึกฝนทำบ่อยๆ นี่คือทักษะ ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ถือเป็นทักษะการเรียนรู้ที่ต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ จริงอยู่ที่เราต่างหวังผลที่คำตอบ แต่อันที่จริงแล้วสิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่กระบวนการคิดที่ได้มาของคำตอบต่างหาก ที่สะท้อนว่าเด็กๆ มีวิธีคิดอย่างไร
จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆ นั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมุ่งที่คำตอบของคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความเข้าใจว่าคณิตศาสตร์คือทักษะที่ต้องทำซ้ำ ทำบ่อย ไม่ใช่ว่าฝึกครั้งสองครั้งพอลูกทำไม่ได้ก็โมโหโกรธาลูกเสียยกใหญ่ เพราะฉะนั้นการจะให้ลูกตอบได้ในครั้งเดียวนั้นถือเป็นการคาดหวังที่มาก มาก และมากจนเกินไปครับ
คณิตศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานวิชาหรือพื้นฐานในการเรียนรู้สาระวิชาอื่นๆ ในขั้นสูงต่อไปในอนาคต |
เข้าใจ Mathematical Skill เด็กวัยอนุบาล
ทักษะทางคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัย อนุบาลกันก่อน ผศ.ดร.ชลาธิป บอกว่าประกอบด้วย…
วิธีเสริมการเรียนเลข ความรู้คณิตศาสตร์ให้ลูกอนุบาล
กลยุทธ์ 1 เรียนรู้จำนวนจากสิ่งของ: การเรียนรู้จากประสาทสัมผัสด้านต่างๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ อย่างการนับเลขปากเปล่า เด็กจะสามารถนับได้ แต่ไม่รู้ค่าที่แท้จริงของตัวเลข ดังนั้นคุณจึงต้องให้เขาได้นับจากสิ่งของจริงๆ เขาจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจำนวนแต่ละตัวมีค่าเท่าไรครับ
Tip : เขียนเลขบนกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วนำสิ่งของที่เด็กๆ ชอบ เช่น หุ่นตัวจิ๋ว คุกกี้ กิฟต์ติดผม เป็นต้น มาชวนกันเล่นเกมวางตามจำนวน โดยนำสิ่งของวางลงตามจำนวนในบัตรภาพ
กลยุทธ์ 2 สังเกตสร้างทักษะ สิ่งของรอบตัวเด็กๆ สามารถนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องของคณิตศาสตร์ได้ครับ เช่น เรื่องเรขาคณิตอาจดึงรูปทรงของเล่นที่เขาเล่นอยู่มาพูดคุยเรื่องรูปทรง แล้วต่อยอดว่ามีอะไรรอบตัวไหมที่คล้ายกับของเล่นชิ้นนี้ เมื่อเรียนจากของจริงได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจนำภาพจำลองหรือภาพวาดมาประยุกต์ใช้เพื่อสั่งสมการเรียนรู้ เรื่องเรขาคณิตให้ลูกเพิ่มเติมครับ
Tip : นำกล่องนมที่มีรูปทรงต่างๆ เช่น กล่องสี่เหลี่ยมใหญ่และเล็ก ทรงสูงและทรงกว้าง มาชวนเด็กๆ เล่นเกมจัดกลุ่ม โดยจัดกลุ่มกล่องนมแต่ละชนิดให้อยู่ในหมวดหมู่ที่มีขนาดและรูปทรงที่เหมือน กัน
กลยุทธ์ 3 เรียงภาพสร้างสรรค์ พื้นฐานของวัยนี้จะสามารถเรียงสิ่งของได้ 3 ชุดครับ เด็กๆ จะต้องสังเกตให้ได้ว่า มันมีตัวซ้ำกันอยู่ ดังนั้นการทำภาพต้องมีการเรียงแบบซ้ำๆ กัน 3 ชุดขึ้นไป จากนั้นจึงฝึกให้เขาบอกว่าการเรียงภาพของชุดที่ 4 คืออะไรนะ ถ้าเด็กสามารถรู้ในเรื่องนี้ได้ เค้าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมายเลยครับ
Tip : ลองใช้เรื่องการร้อยมาลัยมาฝึกสิครับ สมมติถ้าเอาดอกไม้เรียงสลับกันในการร้อย แล้วถามเด็กๆ ว่าดอกไม้ชนิดไหนที่ต้องร้อยเป็นลำดับต่อไป เป็นการฝึกการเรียงภาพ (แบบรูป) พร้อมทั้งได้ทักษะความคิดสร้างสรรค์อีกด้วยครับ
กลยุทธ์ 4 สั้น-ยาว หนูรู้ได้ การวัดความสั้น-ยาวของสิ่งของนั้น เด็กๆ จะยังไม่ทราบค่าของหน่วยมาตรฐาน เช่น เซนติเมตร แต่เด็กวัยนี้เขาจะกะความสั้น-ยาวจากการสังเกตสิ่งที่ตาเห็นครับ คุณพ่อคุณแม่ลองมองหาของใช้ภายในบ้านให้เขาได้เปรียบเทียบความยาวสิครับว่า อันไหนยาวกว่ากัน อันไหนยาวที่สุด อันไหนสั้นที่สุด น่าสนุกนะครับ
Tip : เล่นขบวนรถไฟแสนสนุก ลองหาแท่งสี่เหลี่ยมภายในบ้านจะเป็นบล็อกไม้หรือกล่องอะไรก็ได้ขนาดเท่ากัน สัก 9 กล่อง แบ่งเป็นรถไฟขบวนละ 3 กล่อง (เป็นหัวจักรและตู้พ่วง 2 ตู้) แล้วลองให้เขาต่อรถไฟแต่ละขบวนสั้น-ยาวสลับกันสิครับ