ผู้ใหญ่หลายคนเวลาเจอเด็ก ๆ รู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดูจัง จึงแหย่เด็ก (Teasing) เป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่คิดว่าสร้างสีสันและความสนุกสนาน เพื่อให้เด็กสนใจ แต่กลับส่งผลด้านลบต่อสภาพจิตใจเด็กโดยตรง
1.ล้อเลียน รูปร่าง หน้าตา
2.แย่งอาหาร หรือสิ่งของ
3.พูดจาตัดกำลังใจ
4.ข่มเด็ก ทำให้ตัวเองอยู่เหนือกว่า
การถูกเย้าแหย่ที่เกินเลยเป็นประจำ เช่น ถูกล้อเลียนว่าอ้วนเหมือนหมู หลอกให้กลัวว่าถ้าดื้อผีจะมาจับตัวไปหรือถูกแอบเอาของเล่นที่ชอบไปซ่อนบ่อยๆ มักทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจ เนื่องจากเรื่องที่ตัวเองไม่พอใจนั้นถูกมองเป็นเรื่องสนุกและเป็นที่ขบขันของคนอื่น และด้วยความเป็นเด็กจึงถูกดึงเข้าสู่ภาวะเครียดและกดดันโดยที่ไม่สามารถบอกหรือแก้ไขได้ด้วยตัวเอง
ความมั่นคงทางอารมณ์สะท้อนออกมาจากความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆที่เข้ามาในชีวิต เด็กที่ตกอยู่ในภาวะเครียดและกดดัน หรือมีความฝังใจในเรื่องใดๆ มักไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองในทิศทางที่เหมาะสมได้ บางคนฉุนเฉียวและโมโหง่าย บางคนอยู่กับความกลัวและวิตกกังวล บางคนอยู่กับความทุกข์ใจ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
การถูกล้อเลียนเกี่ยวกับความสามารถหรือตัวตนของเด็กด้วยความสนุกปากของผู้ใหญ่ เช่น อะไรกัน!การบ้านง่ายๆแค่นี้ก็ทำไม่ได้..เด็กอนุบาลยังทำได้เลย ทำไมไม่เป็นเหมือนเด็กคนนั้นนะ..เก่งกว่าเราตั้งเยอะ หรือ เจ้าเตี้ย..กินนมเยอะๆสิจะได้โตทันเพื่อน คือการทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ดีเหมือนคนอื่น
อีกทั้งทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความรักและความหวังดีจากผู้ใหญ่แต่อย่างใด
เด็กที่ถูกทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเองจะเติบโตบนความรู้สึกผิดหวังมีมุมมองต่อตัวเองในด้านลบและรู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่างๆ เก็บตัวและไม่ต้องการเข้าสังคม เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มเข้ากลุ่มเพื่อนที่ทำตัวแปลกแยกจากคนอื่น อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ทำร้ายตัวเองและคนอื่น หรือหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อสร้างการยอมรับและความมั่นใจให้กับตัวเอง
โดยพื้นฐานแล้วเด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆจากคนในครอบครัว หากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมีพฤติกรรมชอบหยอกล้อกันจนเป็นความเคยชินแล้ว เด็กมักมีโอกาสซึมซับและติดเอาพฤติกรรมการหยอกล้อนี้มาใช้กับคนอื่นรอบตัวด้วยเนื่องจากเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ข้อจำกัดคือเด็กส่วนใหญ่ยังไม่โตพอที่จะสามารถแยกแยะขอบเขตและความเหมาะสมของการเล่นสนุกนี้ได้
ปัญหาที่ตามมาจากพฤติกรรมเลียนแบบนี้คือ การยกระดับจากการหยอกล้อเพื่อความสนุกที่เกินเลยไปสู่พฤติกรรมที่สร้างความรำคาญ ความไม่สบายใจ ตลอดจนการข่มขู่คุกคามบุคคลรอบตัวด้วยสำคัญผิดว่าเป็นความสนุกจากความรู้สึกที่ได้อยู่เหนือกว่าหรือได้ควบคุมคนอื่น ซึ่งนอกจากส่งผลต่อความคิดและการกระทำของเด็กในระยะยาวแล้ว ยังมีผลต่อการความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับสมาชิกอื่นในสังคมอีกด้วย
การหยอกล้อเพื่อความสนุกสนานนั้น แม้จะมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ แต่จำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้รูปแบบและวิธีการในประเด็นและขอบเขตที่เหมาะสมเสมอ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว การแหย่เด็กจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ
ดังนั้นควรเลิกแหย่เด็ก แล้วมาสร้างรอยยิ้มด้วยวิธีอื่น ๆ แทน อย่าให้การเล่นสนุกปลูกฝังพฤติกรรมไม่ดีในเด็ก และส่งผลอนาคตของเด็กได้นะคะ
ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต