วิกฤติโควิด-19 และปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลง หลายคนปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ นอกจากการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้ว บางคนยังงดเว้นการทำกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก จนกลายเป็น "โรคขาดธรรมชาติ" ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคม และก็เป็นประเด็นเร่งด่วนของสังคมในยุคปัจจุบัน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า “โรคขาดธรรมชาติ Children & Nature-deficit Disorder” เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากและในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเด็กๆ จะมีภาวะของการขาดธรรมชาติในหลายๆ มิติด้วยกัน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดมลพิษต่าง ๆ มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ซึ่งทำให้เด็กขาด "พื้นที่เล่นตามธรรมชาติ" นอกเหนือไปจากปัญหาดิน น้ำ อากาศเป็นพิษ ปัญหาหมอกควัน PM2.5 หรือวิธีการทำงานที่พ่อแม่ต้องทำงานอย่างหนัก ทำให้เด็กขาดเวลาการเล่น และเวลาการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่
เมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก เด็กก็จะอยู่กับโลกเสมือนจริง เด็กหลายคนแทนที่จะอยู่กับธรรมชาติในโลกแห่งความเป็นจริงก็ถูกกระตุ้น ถูกผลักดันให้กลับไปอยู่ในโลกเสมือนจริงต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเล่นเกมหรือเล่นกับเพื่อนในโลกเสมือนจริงซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดภาวะของการขาดธรรมชาติ
ผลจากเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเอาแต่นั่งนอน ขลุกอยู่แต่ในห้อง เพื่อเล่นเกม และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเพียงโลกเสมือนจริง ที่แยกเด็กออกจากธรรมชาติ หรือ โลกแห่งความจริง
ผลเสียจากโรคขาดธรรมชาติของเด็กๆ ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ความสมบูรณ์ของร่างกายของเด็ก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถของการใช้สมรรถภาพร่างกายและการเรียนรู้ก็ลดต่ำลง เห็นได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ซึ่งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังครอบคลุมถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็ก และเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ในวันนี้
และผลจากวิกฤติโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เด็กและผู้ใหญ่ต้องถูกจำกัดพื้นที่เพื่อการเฝ้าระวัง โดยต้องอยู่แต่ในบ้าน และทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ทำให้ขาดพื้นที่เล่นตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หลายโรคในระยะยาว หรือตลอดชีวิตของครอบครัว เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัวที่สูงขึ้น จนเกิดภาวะ "ความเครียดเป็นพิษ" (Toxic Stress) ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อร่างกายและจิตใจ
วิธีป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคขาดธรรมชาติ คือการจัดการเพื่อหาจุดสมดุลของชีวิตที่ทำให้เด็กสามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติ โดยการยึดเอาเด็กและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ตลอดจนปรับรูปแบบการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางที่สามารถดึงธรรมชาติในตัวเด็กออกมาให้พร้อมต่อการเรียนรู้ และปรับตัวให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง