สื่อมีหลายรูปแบบ ถ้ารู้จักเลือกให้ลูก พ่อแม่จะมีสื่อที่ดีในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกเลยค่ะ
ถ้านิยามคำว่าสื่อหลายคนอาจนึกถึงสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือโซเชี่ยลมีเดียทั้งหลาย
อ. ธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเอาไว้ใน รักลูก Podcast รายการ รักลูก The Expert Talk EP.15: ชวนพ่อแม่ “รู้” และ “เท่าทัน” สื่อ อธิบายความหมายของสื่อสำหรับเด็กได้น่าสนใจมากค่ะ
อาจารย์ธามให้นิยามความหมายของคำว่าสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ไว้ว่า สื่อคืออะไรก็ตามที่สื่อสารความหมายข้อความได้ แม้กระทั่งบุคคลก็เป็นสื่อได้ เช่นเด็กทารกในครรภ์ ถ้าแม่ฟังเพลงอะไรก็ตามเปิดเพลงที่ทำให้บรรยากาศดี นี่ก็เป็นสื่อ เด็ก ๆ ก็ได้ยิน หรือคุณแม่พูดผ่านสายรกลูบคลำ ก็สื่อประเภทหนึ่ง คุณแม่อารมณ์ดีพูดคุยกับคุณพ่อ คุณพ่อดูแลดีอารมณ์ดี กินอาหารดีก็เป็นสื่อเช่นกัน
สื่อไม่ได้จำกัดแค่เป็นโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือการ์ตูนสำหรับเด็กเท่านั้น แต่สมุดภาพ นิทาน น้ำตก บ่อทราย ชายหาด กิ่งไม้ ก้อนหิน การเล่นปีนป่าย เสียงผึ้ง แสงแดด ฯลฯ ก็สามารถเป็นสื่อได้ ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่พ่อแม่พาลูกออกไปสนามสีเขียว เสียงนกร้อง สายลม แสงแดดก็เป็นสื่อได้
สื่อร้อน คือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อดิจิตอล สื่อเหล่านี้ อาจทำให้พัฒนาการของเด็กเชื่องช้า เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว หากมีการเสพสื่อ หรือติดสื่อ ที่เยอะเกินไป ก็อาจทำให้เด็กๆ ไม่สนใจต่อสิ่งเเวดล้อมต่างๆ ทีเกิดขึ้นรอบตัว เนื่องจากเป็นสื่อที่เกิดจากกระบวนการ Production คือ มีโปรดิวเซอร์ มีแอนนิเมเตอร์วาดการ์ตูน มีคนใส่เสียง มีคนตัดต่อ มีคนทำกราฟฟิก โดยเกิดความสลับซับซ้อน มีจังหวะการเล่าเรื่อง มียอดโฆษณา มีดราม่า มีเจตนาแฝง เมื่อเปิดปุ๊บก็จะติดปั๊บ ตัวมันร้อนได้เอง เมื่อกดเพลย์ เสียบปลั๊กปุ๊บก็จะไหลไป 5 นาที 10 นาที 20 นาที 2 ชั่วโมง พ่อแม่จึงต้องระวัง
สื่อเย็น สื่อที่เด็กๆ สามารถจับต้อง เรียนรู้ได้ จากของเล่น หนังสือนิทาน หรือสิ่งเเวดล้อมรอบตัว โดยมีคุณพ่อคุณเเม่เป็นคนผลักดัน เป็นคนสร้างความกระตือรือร้นให้กับเด็ก ๆ ทำให้เกิดสัมพันธภาพในสังคมครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น พัฒนาการที่ดีสำหรับเด็ก ๆ เช่น เด็กต้องตีกลอง ถ้าหยุดตีก็จะไม่มีเสียง ดินน้ำมันวางอยู่เฉย ๆ ถ้าไม่ปั้นมันก็อยู่แบบเดิม สมุดนิทานถ้าไม่เปิดก็อ่านไม่ได้ ฉะนั้นสื่อพวกนี้จะเรียกว่าสื่อเย็น ทีมีฟังก์ชั่นหรือหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งจบในตัวเอง ไม่ได้สลับซับซ้อน
ในยุค โควิด 19 ที่หลาย ๆ บ้านต้องกักตัว ไม่ได้ออกไปไหน หากเกรงว่าจะไม่มีสื่อสำหรับเด็ก อ. ธามกล่าวว่า สื่อที่สำคัญหรือบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุด คือ พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู อาจจะเป็นลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยงที่ที่อยู่กับเด็ก
การดูแลเด็กปฐมวัยไม่จำเป็นต้องใช้ดิจิตอลมีเดีย สื่อที่เป็นวิทยุ ทีวี เลย แต่ถ้าพ่อแม่ชวนลูกร้องเพลง อ่านนิทาน เล่นสิ่งของเล่นต่าง ๆ เล่นตุ๊กตา เล่นดินน้ำมัน วาดรูประบายสี ทุกอย่างสามารถเป็นสื่อได้ ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าเราจะใช้สิ่งนั้นเพื่อสื่อสารอะไรกับลูก
แม้กระทั่งการโอบกอดเด็กเล็ก สัมผัส โอบกอดเอาหน้าลูกเข้ามาแนบอกพ่อแม่ ฟังเสียงหัวใจ เสียงหัวใจ โดยเฉพาะในช่วง 1 ขวบถึง 1 ขวบครึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กทารกคือความไว้วางใจต่อโลกใบนี้ เมื่อเขาเริ่มเตาะแตะ ประมาณขวบครึ่งถึง 3 ขวบ เขาจะรู้สึกอยากทำนั่นอยากทำนี่ได้เอง (Autonomy) เพราะฉะนั้นจาน ชาม ช้อน ส้อม ของใช้ในบ้าน หยิบส้มแล้วโยนลงพื้น หยิบลูกปิงปอง ลูกบอลแล้วก็ขว้างปา สิ่งเหล่านี้เป็นสื่อเพราะเด็ก ๆ กำลังเรียนรู้บางอย่าง
อ้างอิง :อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
รับฟังและรับชมเพิ่มเติมที่ Podcast รายการ รักลูก The Expert Talk ทั้งหมดได้ที่>>>