อย่าคิดว่าคาร์ซีทคือของฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น เพราะนี่คือตัวช่วยสำคัญรักษาชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันให้ลูกรักขณะอยู่บนรถยนต์ได้
เวลาพาลูกเล็ก ๆ เดินทางไปไหนด้วย พ่อแม่ก็มักจะเอาลูกมานั่งบนตัก รู้ไหมว่าการทำแบบนั้นเป็นอันตรายต่อลูกถึงชีวิต เพราะหากมีอุบัติเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น ลูกจะกลายเป็นถุงลมนิรภัยชั้นดีให้พ่อแม่แทน ลูกจะเป็นตัวดูดซับแรงกระแทกจากถุงลมนิรภัยให้พ่อแม่อีกที และอาจโดนอัดอยู่ระหว่างพ่อแม่กับถุงลมนิรภัย จนขาดอากาศหายใจ หรืออาจกระแทกเข้ากับคอนโซลหน้ารถ หากมีการเบรคแรง ๆ อย่างกะทันหัน ถ้าโชคร้าย ลูกอาจหลุดจากอ้อมกอดพ่อแม่ทะลุกระจกออกนอกรถ จนเสียชีวิตได้
ที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก คือ เบาะที่นั่งด้านหลัง แต่ถึงอย่างนั้นวิธีการเอาเด็กนั่งรถยนต์ที่ถูกต้องที่สุด และปลอดภัยที่สุด จะต้องให้เด็กนั่งอยู่บนคาร์ซีท (Car Seat) โดยเอาคาร์ซีทวางไว้บนเบาะหลังอีกที
คาร์ซีทจึงไม่ใช่ของเกินความจำเป็น พ่อแม่ที่มีรถขับต้องถือว่าความปลอดภัยของลูกมีความสำคัญสูงสุด อย่าชะล่าใจ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ โดยไม่จำเป็นต้องให้กฎหมายออกมาบังคับใช้
หากสงสัยว่าแค่คาร์ซีทหรือเบาะนั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ จะช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้อย่างไร ให้ลองนึกภาพเสี้ยววินาทีที่เกิดอุบัติเหตุดู ว่าตอนนั้นพ่อแม่ไม่มีทางจะจับยึดตัวลูกไว้ได้แน่ ๆ จึงมีสิทธิ์ที่ลูกจะหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ หรือกระแทกเข้ากับส่วนต่าง ๆ ของรถได้ แต่คาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน และใช้งานอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันกรณีแบบนี้ได้
1. การเลือกคาร์ซีทสำหรับเด็ก ควรเลือกที่มีขนาดพอดีกับน้ำหนักตัว และส่วนสูงของลูก เพื่อให้ลูกนั่งสบาย และเพื่อที่สายรัดจะได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องไม่รัดคอลูกให้อึดอัด หรือถูกดึงรั้งตอนเกิดอุบัติเหตุ และไม่หลวมเกินไป จนเด็กหลุดออกจากคาร์ซีทไปกับกระแทกกับส่วนต่างๆของรถ หรือหลุดออกนอกตัวรถ
2. คาร์ซีทมาตรฐานมีอยู่ 3 แบบ คือ
Rear-Facing Infant Seats and Convertible Seats คือ คาร์ซีทแบบนั่งหันหน้าไปด้านหลังรถ และแบบปรับเอนไปกับที่นั่ง เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 เดือน และเด็กที่น้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กก. คาร์ซีทชนิดนี้จะปกป้องหัวของเด็กลำคอ และกระดูกสันหลังได้ดีที่สุด
Forward-facing child seats คือ คาร์ซีทแบบที่นั่งหันไปทางหน้ารถ เหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ขวบและมีน้ำหนักตัวเกิน 9 กก.
Booster seats คือ คาร์ซีทแบบมีพนักพิงด้านหลัง ซึ่งเหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 15- 18 กิโลกรัม และ Booster seat แบบไม่มีพนักพิงด้านหลัง ซึ่งจะเหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 22 -25 ก.ก. และสามารถนั่งตัวตรงได้แล้ว ซึ่งก็คือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป
3. เมื่อดูที่ประเภทของคาร์ซีทกันแล้ว ก็ต้องดูที่ประเภทของสายรัดกันด้วย เพราะสายรัดที่จะรัดตัวเด็กให้ติดกับคาร์ซีทนั้น มีหลายแบบตามความเหมาะสม ซึ่งเราต้องเลือกให้ถูกด้วย โดยสายรัดจะแบ่งเป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้
สายรัดแบบรัด 3 จุด จะมีสายรัด 3 เส้น ให้รัดตรงบ่า 2 ทั้งสองข้างของเด็ก แล้วยาวลงมาเชื่อมล็อคใกล้ ๆ ด้านล่างของที่นั่ง
สายรัดแบบ 5 จุด จะมีสายรัด 5 เส้น แบ่งเป็น 2 เส้นที่บ่า อีก 2 เส้นที่สะโพก และอีกเส้นที่ เป้ากางเกง ซึ่งเหมาะกับเด็กทารกที่มีน้ำหนักไม่เกิน 9 ก.ก.
แบบ Overhead shield จะมีคานขนาดใหญ่พอสมควร ติดอยู่ด้านหน้าของเบาะ เพื่อกันไม่ให้เด็กกระเด็นหลุดออกจากคาร์ซีท แล้วไปกระแทก หรือเหวี่ยงไปโดนส่วนต่าง ๆ ของรถ
แบบ T- Shield จะมีเป็นคานรูปสามเหลี่ยมอยู่ติดกับสายรัดช่วงบ่า
1. เมื่อนำเด็กทารกเกิดใหม่มานั่งคาร์ซีท ควรปรับมุมการนั่งของเด็กให้ได้ 45 องศา ซึ่งคาร์ซีทบางรุ่นก็มีขีดแสดงองศาให้ดูง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่มีก็ต้องไปหากระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาใบหนึ่ง แล้วพับครึ่งตามมุม มุมนั่นแหละคือ มุม 45 องศาที่เราจะใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ ด้วยการเอาด้านที่ยาวที่สุดของสามเหลี่ยมไปลองทาบกับแนวพนักพิงหลังของคาร์ซีท ถ้าเราทาบทำมุมถูกต้อง และแน่นหนาดีพอ ด้านสั้นของสามเหลี่ยมจะต้องทำมุมขนานกับพื้นโลก และนั่นหมายถึงเราติดตั้งคาร์ซีททำมุม 45 องศาได้ตามต้องการแล้ว
2. เมื่อติดตั้งคาร์ซีทลงบนเบาะของรถ จะต้องตั้งไว้ใกล้กับจุดที่เข็มขัดนิรภัยของรถผ่านลอดลงมาที่ตัวคาร์ซีท แล้วใช้เข็มขัดนิรภัยล็อคคาร์ซีทให้แน่น ๆ ถ้าคาร์ซีทนั้นติดตั้งอย่างถูกต้อง ทีนี้จะขยับมันไปทางซ้าย ทางขวา หรือข้างหน้าได้ไม่เกิน 1 นิ้ว ถ้าขยับคาร์ซีทได้มากกว่านี้แสดงว่าติดตั้งไม่แน่นพอ
3. สายรัดจะต้องไม่สามารถดึงขึ้นมาเป็นจีบ ๆ ได้ จะต้องตึงราบไปกับลูก ถ้ายังดึงสายรัดขึ้นมาได้ แปลว่ายังรัดไม่แน่นพอ
4. เด็กทารกที่อายุยังไม่ถึง 1 ขวบ และน้ำหนักตัวยังไม่ถึง 9 ก.ก. ยังไม่ควรให้นั่งคาร์ซีทแบบหันไปด้านหน้ารถ เพราะกระดูกสันหลังของเด็กวัยนี้ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดการเบรคแรง ๆ หรือเกิดอุบัติเหตุ ศีรษะของเด็กจะถูกแรงเหวี่ยงของตัวรถ กระชากไปข้างหน้า ทำให้เสียชีวิต หรือ เป็นอัมพาตได้
- เมื่อลูกสูงพอที่จะนั่งห้อยขา แล้วขายาวถึงพื้นพอดี
- เมื่อลูกโตพอที่จะนั่งตัวตรงได้แล้ว
- เข็มขัดนิรภัยสามารถรัดตรงส่วนกระดูกเชิงกรานของลูกได้พอดี ไม่ใช่ไปรัดอยู่ตรงหน้าท้อง
- เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยที่ส่วนบ่า จะต้องพาดมาตรงส่วนหน้าอก ไม่ใช่ผ่านมาตรงแขน หรือคอของลูก
- เมื่อลูกอายุ 8 ขวบ หรือสูงเกิน 150 ซ.ม. และสามารถรัดเข็มขัดนิรภัยได้ถูกต้องแล้ว