โตไปไม่โกง จะไม่ใช่แค่คำพูดให้ดูเท่ ดูเก๋ ถ้าพ่อแม่สอนลูกด้วยวิธีที่ได้ผลจริง แค่เริ่มจากตัวเองค่ะ เพราะทุกวันนี้จิตสำนึกของคนเราหายไปเยอะมาก ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ทั้ง โกงข้อสอบ โกงเงิน โกงการงาน เห็นข่าวก็บ่อยครั้ง ฉะนั้นมาเร่ิมที่สถาบันครอบครัวกันก่อนเลยค่ะ ว่าจะสอนเด็กๆ อย่างไรดี ให้โตไปไม่โกง
1. ซื่อสัตย์สุจริตให้ลูกเห็น
การยึดมั่นในความสัตย์จริง และสิ่งที่ถูต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง เช่น สอนให้เขาไม่หยิบของของคนอื่น ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เราพบกันบ่อยคือ การไม่ซื่อสัตย์ต่อเวลางาน ไม่รับผิดชอบต่องาน ทำให้งานที่ออกมาไม่มีคุณภาพ
2. สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
มีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไข ที่สำคัญคือรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง เช่น เมื่อทำความผิด เมื่อลูกยอมรับว่าหนูเป็นคนทำเอง พ่อแม่ต้องบอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ช่วยกันแก้ไข ซึ่งจะทำให้เขารับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ
3. มีความเป็นธรรมทางสังคม
การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างมีเหตุผล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และการที่ไม่เอาเปรียบใคร เพราะคนที่ทุจริตคือคนที่เอาเปรียบคนอื่น คนไม่เคารพกฎเกณฑ์กติกา นึกถึงตัวเองเป็นหลัก ดังนั้น การจะสอนเด็กๆ ให้เข้าใจได้ด้วยเรื่องง่ายๆ เช่น เรื่องการเคารพกติกา ไฟแดง ไฟเขียว มีไว้เพื่ออะไร เพื่อที่จะผลัดกันใช้ คนที่ใช้รถก็ต้องเคารพคนที่เดินถนน คนที่เดินถนนก็ต้องให้ผู้ใช้รถไปด้วย เป็นการจัดการให้สังคมเป็นระบบระเบียบมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
หรือสอนเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างในโรงเรียน ทำไมห้องสมุดต้องเงียบ ก็เพราะว่าเพื่อนเราอ่านหนังสืออยู่ ทำไมห้ามกินขนม เพราะว่ามดหรือแมลงสาบจะไปทำลายหนังสือ เด็กๆ ก็จะไม่กินขนม เพราะกลัวว่าหนังสือของเขาจะเสียหาย หรือการเรียงแถวรับขนม เพื่อให้รู้จักความเป็นธรรม การมาก่อนมาหลัง ได้สิทธิ์ตามนั้น ก็จะเป็นการปลูกฝังความเป็นธรรมให้เด็กได้
4. มีจิตสาธารณะ
การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตระหนักรู้และนึกถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม และพร้อมที่จะเสียสละส่วนตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การทำเพื่อส่วนรวม คือการอาสา ที่มีภาระส่วนตัวด้วย แต่ก็ต้องทำ เพราะว่าเราแคร์ส่วนรวม เช่น มีคนทำน้ำหก แม้เราจะไม่ได้ทำ แต่เด็กดีจะรับอาสามาช่วยเช็ดน้ำให้ อาจจะเซ็งบ้าง แต่ก็ทำ แม้การช่วยผู้อื่นมันคือภาระอย่างหนึ่งแต่ก็เป็นความเมตตากรุณาในสังคม เมื่อโตไป เวลามีเรื่อง หรือเห็นใครเดือนร้อนเขาก็จะเข้าไปช่วยทันที
5. เป็นอยู่อย่างพอเพียง
การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราระลึกได้ว่า เงินไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง มันคือการที่เรามีความสุข อยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวพอใจกับสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น
เมื่อพ่อแม่สอนให้ลูกรู้จักความดี รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น และปลูกฝังด้วยกระบวนการเหล่านี้แล้ว เด็ก ๆ จะซาบซึ้ง และซึมซับความดีงามได้อย่างง่าย ๆ เลยค่ะ