ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของพ่อแม่ก็คือลูก ในหนังสือมีลูกกี่คนก็รวยได้นั้น ได้มีสิ่งหนึ่งที่ได้เขียนไว้ว่า การที่โบราณว่ามีลูกหนึ่งคนจนไป 7 ปีนั้นไม่จริง เพราะต่อให้เป็นคนที่ไม่มีลูกแล้วไม่ขวนขวายทำงาน ไม่ประหยัดอดออมก็จนไป 7 ปีหรือมากกว่าได้ ในขณะที่เลี้ยงลูกให้ได้ดี ลูกแต่ละคนประสบความสำเร็จในชีวิตก็กลับมาเลี้ยงดูแลพ่อแม่ กลับดีเสียยิ่งกว่าเหมือนกับถูกหวยเป็นสิบงวดกันเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับการที่อาจจะเกิดเหตุไม่คาดคิดกับคุณพ่อคุณแม่ การเตรียมพร้อมเรื่องการศึกษาให้ลูกในวันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในขณะที่เขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนและหาเงินให้งอกเงย ก็เลยอยากจะฝากในส่วนของการลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา คือการให้การศึกษากับลูก การอบรมสั่งสอนให้เขาเป็นคนดีมีจริยธรรมและดูแลตัวเขาและคนที่เขารักได้ การที่เราจะทำตรงนี้ได้ ก็มาถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องกำลังกายและทุนทรัพย์เพื่อให้ลูกเราได้เข้าโรงเรียนที่เหมาะกับเขาที่สุด ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือการเลือกโรงเรียนให้ลูก เพราะการเลือกนี้จะมีผลต่อเขาไปตลอดชีวิต เพราะที่นี่จะเป็นสังคมของเขา เพื่อนสนิทของเขา ครูอาจารย์ แนวความคิด การแสดงออกกับบุคคลอื่นนอกเหนือจากบุคคลในครอบครัว และไปจนถึงสายวิชาที่เขาชอบ สู่ภาควิชาที่เขาสนใจและนำไปสู่อาชีพและการดำเนินชีวิตเขาในที่สุด
ในขณะที่สังคมปัจจุบันมีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสภาพแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ ปัจจุบันแต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลง บางครอบครัวมีลูกแค่หนึ่งคนหรือสองคนเท่านั้นเอง แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น กลับทำให้การแข่งขันในยุคปัจจุบันยิ่งสูงขึ้น พ่อแม่จึงทุ่มเทให้กับลูกทุกๆ ด้านโดยเฉพาะในด้านการศึกษาเพื่อเป็นการปูทางอนาคตให้กับลูก ซึ่ง แนวทางในการเลือกโรงเรียนจึงหนีไม่พ้น ... แนวทางการเรียนการสอน จำนวนนักเรียนต่อห้อง สภาพแวดล้อมของโรงเรียน การเรียนต่อเนื่องจนจบมัธยมปลาย ความเป็นศิษย์เก่าของพ่อหรือแม่ ครูอาจารย์และบุคคลากร ระยะเวลาเดินทาง การมองถึงอนาคตอาชีพการงาน เพื่อนร่วมชั้น ค่าใช้จ่าย ซึ่งสมัยก่อนอาจจะมีแค่โรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน แต่ปัจจุบันการศึกษาของแต่ละโรงเรียนมีให้เลือกมากขึ้น เช่น โรงเรียนเครือสาธิต โรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา
นำโด่งฝั่งโรงเรียนรัฐก็คือโรงเรียนเครือสาธิต เพราะตอบโจทย์ได้เกือบทุกข้อ ตั้งแต่แนวทางการเรียนการสอนที่มีการปรับปรุงตามยุคสมัย สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่มากแถมยังมีครูอาจารย์ห้องละ 2-3 คน มีอาจารย์นิสิตช่วยฝึกสอนเพิ่มเติมอีก แถมมีอาจารย์เฉพาะแต่ละวิชาแต่ละท่านก็สำเร็จระดับปริญญาและทำงานวิจัยทางด้านการศึกษามายาวนาน ส่วนสภาพแวดล้อมไม่ต้องพูดถึงเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย บางทีเหมือนเห็นลูกเข้ามหาวิทยาลัยนั้นกลายๆ แถมเรียนได้ถึง 12 ปีจนจบมัธยมปลายเหนื่อยครั้งเดียวตอนเข้าป. 1 แถมค่าใช้จ่ายก็ถูก
และเนื่องจากที่ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยการเดินทางจึงมักสะดวกสบายเข้าได้หลายทางมี บริการทั้งขนส่งสาธารณะ และที่สำคัญคือเพื่อนร่วมห้อง จะประกอบไปด้วยเด็กที่เก่งมากๆ สอบเข้ามา 100 คนจากเด็กเป็น 1000 และเด็กธรรมดาที่พ่อแม่เป็นบุคคลากรของมหาวิทยาลัยหรือผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโรงเรียน เพื่อนร่วมห้องจึงที่มีทั้งคนที่ฐานะดีกว่ามากๆ และคนที่มีโอกาสด้อยกว่าลูกเรา มีการเรียนแบบสหศึกษาคือมีสัดส่วนทั้งเพื่อนหญิงเพื่อนชายในแต่ละห้อง และทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้ สะท้อนสังคมจริงๆ ที่ลูกเราจะออกไปเจอ
ในขณะที่ฝั่งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเครือคาทอลิกก็มาแรงสม่ำเสมอ แถมปัจจุบันโรงเรียนอินเตอร์ก็สอดแทรกมาเป็นดวงใจของพ่อแม่ ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของภาษา แต่ที่แตกต่างคือเครือคาทอลิกเรามักจะนึกถึงความเข้มแข็งทางวิชาการ ความเคร่งครัดในระเบียบวินัย ซึ่งลูกจะได้รับการฝึกฝนดูแลเป็นอย่างดี มีความผูกพันแน่นแฟ้นในกลุ่มเพื่อนฝูงในรุ่นเดียวกัน และมักจะแยกหญิงชายชัดเจน ใช้ระยะเวลาเรียนร่วมกันยาวนานโดยส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับประถมต้นจนถึงระดับมัธยมปลาย จึงเป็นกลุ่มที่มีความสนิทสนมทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องและแน่นแฟ้นกันมากส่งต่อถึงกลุ่มทำงานในอนาคตด้วย แต่ตรงข้ามกับโรงเรียนอินเตอร์ที่นักเรียนมักจะย้ายตามพ่อแม่ที่เป็น Expat มาทำงานจึงมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย การมีเพื่อนที่สนิทมากๆ จะจำกัดกว่า ลักษณะการเรียนการสอนจะเป็นทักษะการใช้ชีวิตการตัดสินใจและเน้นการอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันกับการใช้ชีวิตมากกว่าคร่ำเคร่งในเรื่องวิชาการ ไม่ต้องพูดถึงภาษาที่ลูกมีโอกาสพัฒนาถึงขีดสุด จนเกือบเหมือน Native Language ประกอบกับแหล่งความรู้ในปัจจุบันที่สามารถหาได้จากทาง Social Media ต่างๆ การได้เปรียบในเรื่องภาษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
แต่ที่สำคัญกว่าคือค่าใช้จ่ายแตกต่างกันมาก คือตกปีละไม่ถึงหมื่นเป็นปีละหลายแสน และถ้าเลือกสายโรงเรียนอินเตอร์ต้องพร้อมรับค่าใช้จ่ายการศึกษาที่อาจจะต้องไปต่อปริญญาตรีในต่างประเทศ ฉะนั้นหลักการเก็บสตางค์ให้ลูกสำหรับการวางแผนการศึกษาควรมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
ช่วงที่ 1 : 7 ปีแรก คือแรกเกิดจน 7 ขวบ หรือก่อนเข้าป.1
ช่วงที่ 2 : 6 ปีที่ 2 คือช่วงประถม ป.1-ป.6
ช่วงที่ 3 : 6 ปีที่ 3 คือช่วงมัธยม ม. 1- ม.6
ช่วงที่ 4 : 4 ปีของปริญญาตรี
นอกจากการวางแผนเก็บเงินเพื่อการศึกษาให้ลูกจะมีความสำคัญ แต่การที่พ่อแม่ช่วยลูกให้มีความฉลาดทั้งทางด้านบุคลิกและอารมณ์ รวมทั้งการให้ลูกมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนให้ดีที่สุด จะทำให้เราจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดคือการที่ลูกของเราประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตและเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป ดูแลตัวเขาและคนที่เขารักต่อไปค่ะ และอาจจะเป็นการลงทุนที่พ่อแม่มีความสุขที่สุดนะคะ