สีอุจจาระทารก ทั้งสีเหลือง สีเขียว สีดำ บ่งบอกสุขภาพได้นะคะ สีอึลูกแต่ละสีเป็นอย่างไร ต้องดูแลสุขภาพลูกทารกอย่างไร มาเช็กสีอึลูกันค่ะ
สีอุจจาระทารก สีอึลูกแบบไหนปกติและไม่ปกติ เช็กให้ดีจะได้ดูแลลูกได้ถูกต้อง
ทำไมต้องเช็กสีอุจจาระทารก
สีอุจจาระทารกแรกเกิดไปจนถึงวันที่หย่านมแม่ เริ่มดื่มนมผสม เริ่มกินอาหารเสริมจะไม่เหมือนกันเลยค่ะ รวมไปถึงอาการหรือภาวะบางอย่างก็ส่งผลถึงสึอึของลูกได้ด้วย ดังนั้น ถ้าคุณแม่มั่นสังเกตสีอุจจาระลูกแล้วเห็นสีที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องรีบรับมือเพื่อดูแลได้อย่างถูกต้องและทันถ่วงทีค่ะ
ไม่ใช่แค่สีอุจจาระ ลักษณะของอุจจาระทารก เหลว เหนียว ก้อนแข็ง ก็สำคัญ
ลูกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว อึจะมีลักษณะเหลว ๆ ถือเป็นเรื่องปกติอย่างที่อึเด็กควรจะเป็น ต่างจากอึเด็กที่กินนมผงซึ่งมักออกมาเป็นก้อน นอกจากนี้อึของทารกหลังคลอดในแต่ละวันก็ออกมาไม่เหมือนกันนะคะ ขึ้นอยู่กับอายุของทารกค่ะ
ทารกที่อยู่ในท้องแม่จะมีการกลืนน้ำคร่ำเข้าไปตลอดเวลา ผสมเข้ากับน้ำย่อยและเซลล์ต่างๆ กลายเป็นอุจจาระสีดำเขียวที่ค้างอยู่ในลำไส้ แรกคลอดเมื่อทารกเริ่มดูดนมแม่ ลำไส้เริ่มบีบตัว เพื่อขับถ่ายของเสียที่ค้างอยู่นี้ออกไป อึในวันแรกจึงมีสีเขียวเข้มถึงสีดำ เหนียวคล้ายน้ำมันดิน ที่เรียกว่า ขี้เทา (Meconium)
- วันที่ 2 หลังจากลูกได้กินนมแม่แล้ว สีเขียวเข้มของอึจะจางลง มีน้ำปนมากขึ้น อาจมีเม็ดๆ สีน้ำตาลปนบ้าง การขับถ่ายขี้เทาออกไปได้ดีขึ้น แสดงว่าทารกเริ่มกินนมแม่ได้เพียงพอ ในสองวันแรกลูกยังถ่ายไม่บ่อยค่ะ แค่ 1-2 ครั้งต่อวัน
- วันที่ 3-4 ทารกที่ดูดนมจากเต้าแม่ตลอดตั้งแต่ต้น ทำให้แม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น อุจจาระจึงเริ่มเปลี่ยนสี จากสีเขียวเข้มกลายเป็นสีเขียวปนเหลือง มีเม็ดเขียวๆ ปนอยู่บ้าง จากนั้นเป็นสีเหลือง เหนียว ข้นน้อยลง มีน้ำมากขึ้น เพราะน้ำนมแม่ในวันแรกๆ เป็นโคลอสตรัม (Colostrum) คือหัวน้ำนม (น้ำนมเหลือง) ปกติน้ำนมแม่จะมีโปรตีน 2 ชนิด คือเวย์กับเคซีน หัวน้ำนมจะมีโปรตีนเวย์เยอะ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการระบายท้อง คือทำให้ลำไส้บีบตัว ขับถ่ายได้ดีขึ้น น้ำนมแม่ช่วงหลังๆ เวย์จะลดลง และมีเคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้อึมีเนื้อมากขึ้น จำนวนครั้งที่ถ่าย 1-3 ครั้งต่อวัน
- หลังวันที่ 4 สีของอึลูกจะเป็นตัวบอกว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสีของอึ จากสีเขียวเข้มขี้ม้าเป็นสีเหลืองทอง ให้ดูว่าลูกดูดและงับเต้านมได้ลึกพอหรือไม่ มีการเจ็บหัวนมไหม ถ้ามีปัญหาต้องรีบแก้ไขเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าทุกอย่างปกติ หลังวันที่ 4 อึของลูกจะมีสีเหลืองทอง นิ่มจนถึงเหลว บางครั้งมีน้ำค่อนข้างเยอะ
- ในวันที่ 4-7 จำนวนครั้งในการถ่ายอยู่ที่ 4 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่านั้น ทารกบางคนถ่ายแบบกะปริบกะปรอยแต่หลายครั้ง บางคนถ่ายครั้งละมากๆ ทีเดียว
- ใน 6 สัปดาห์แรก เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว จะถ่ายเฉลี่ย 3 - 4 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีสีเหลืองทอง เหลวเละเป็นน้ำ มีเนื้อเม็ดสีเขียวปนๆ บ้าง
- หลังจาก 6 สัปดาห์เป็นต้นไป อุจจาระมีเนื้อมากขึ้น จากเหลวเละเป็นน้ำ จะเหนียวข้นขึ้นคล้ายยาสีฟัน ถ่ายลดจำนวนครั้งลง บางวันอาจไม่ถ่ายเลย บางวันอาจถ่าย 1-2 ครั้ง หรือบางคน 3-4 วัน ถ่ายแค่ 1 ครั้งก็ยังถือว่าปกติค่ะ
เช็กสีอุจจาระลูกทารก บอกสุขภาพและความผิดปกติที่พ่อแม่ต้องดูแล
-
สีอุจจาระทารก สีเขียวเข้ม ดำ - เรียกว่า "ขี้เทา" จะเป็นสีอุจจาระในช่วง 1-3 วันแรกเกิด เกิดจากตะกอนต่าง ๆ ที่ค้างในลำไส้ลูกทารกตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องแม่ เมื่อลูกอึขี้เทาออกมาจะช่วยป้องกันอาการตัวเหลืองได้
-
สีอุจจาระทารก สีเขียวปนเหลือง - (ออกเขียวมากกว่า) จะเกิดหลังจากถ่ายขี้เทา สีเขียวที่ออกมานั่นคือยังมีขี้เทาผสมอยู่บ้าง
-
สีอุจจาระทารก สีเหลืองมัสตาร์ด - (อมสีส้ม) เกิดจากการดื่มนมส่วนหน้ามากกว่านมส่วนหลัง ลูกทารกดื่มนมไม่เกลี้ยงเต้า
-
สีอุจจาระทารก สีเขียวเหมือนผัก - มักเกิดจากลูกทารกดื่มนมผสม หรือแม่ให้นมกินผักใบเขียวมาก ๆ
-
สีอุจจาระทารก สีเหลืองปนเขียว - (เหลืองมากกว่า) อาจบ่งบอกถึงความเป็นกรดในท้องลูก
-
สีอุจจาระทารก สีเหลืองฟักทอง - ลักษณะเหลว เนียน นุ่ม เป็นอึที่เกิดจากกินนมแม่ล้วน
-
สีอุจจาระทารก สีดำ - เมื่อพ้นช่วงขี้เทาแล้วอาจมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น มีเลือดออก
-
สีอุจจาระทารก สีแดงสด - อาจเกิดจากท้องผูก เป็นแผลฉีกขาดบริเวณรูทวารหนัก หรือแแผลใยลำไส้
-
สีอุจจาระทารก สีขาวซีด - ในช่วง 3 เดือนแรก อาจบอกถึงความผิดปกติในท่อน้ำดี ควรรีบพบหมอ
ลักษณะของอึลูกกินนมแม่อย่างเดียว
- สีของอึ เป็นสีเหลืองทอง คล้ายๆ โจ๊กใส่ฟักทอง อึเปลี่ยนสีได้บ้าง อึของลูกอาจเปลี่ยนแปลงสีบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับอาหารการกินของแม่ เช่น แม่ กินผักใบเขียวมาก วันต่อมาอึลูกอาจเป็นน้ำสีเขียว หรือมีเม็ดเขียวๆ ปน แม่กินวิตามินก็อาจทำให้สีและกลิ่นของอึลูกเปลี่ยนไปได้นะคะ
- กลิ่นอึ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่ถ้าลูกมีอาการติดเชื้อ กลิ่นจะแปลกไป เช่น อึมีมูกสีเขียวๆและ กลิ่นเหม็นเน่า แม่ต้องคอยหมั่นดูอึลูกว่าสีและกลิ่นเปลี่ยนแปลงหรือไม่
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์