ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาระบาด หากแม่ติดเชื้อ Covid-19 ควรให้น้ำนมลูกหรือไม่ จะส่งผลอันตรายอย่างไร คุณหมอมีคำตอบมาให้แล้วค่ะ
แม่ติดเชื้อโควิดยังให้นมลูกได้ปกติหรือไม่ ลูกจะติดโควิดจากแม่ไหม
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้อาการป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นต้น สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้
คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกแรกเกิดโดยกรมควบคุมโรค
กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อหรือติดโควิด19
- ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ำนม แต่ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่น และต้องสังเกตอาการ เป็นเวลา 14 วัน สำหรับแนวทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสทางน้ำนม ดังนั้น ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งคัด ดังนี้
กรณีสงสัยว่าจะติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด19 แล้ว
- กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด19 แล้ว แต่อาการไม่มาก สามารถกอดลูกและให้นมจากเต้าได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแม่และครอบครัว ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
- กรณีแม่ที่ติดเชื้อโควิด19 และมีอาการชัดเจน หากยังสามารถบีบน้ำนมได้ ให้ใช้วิธีบีบน้ำนมและให้ผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูก หากไม่สามารถบีบน้ำนมเองได้ อาจพิจารณาใช้นมผงแทน
ข้อปฏิบัติในกรณีให้ทารกกินนมจากเต้า
- อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยสบู่และน้ำ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 70% เช็ดทำความสะอาด
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการให้นมลูก
- ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของทารก เช่น การหอมแก้ม
ข้อปฏิบัติในการบีบน้ำนม และการป้อนนม
- อาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำและสบู่
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 70% เช็ดทำความสะอาด
- สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมนม การบีบน้ำนม และการให้นม
- ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของทารก เช่น หอมแก้ม
- หาผู้ช่วยหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรง ทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยนำน้ำนมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน ถ้วยเล็ก หรือขวดนม
- ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม