เด็กพิเศษ เป็นกลุ่มเด็กที่จะมีปัญหาทางด้านพัฒนาการและสุขภาพ สมาธิและอารมณ์ และการอยู่ร่วมในสังคมตลอดเวลาแต่มักจะมีทักษะ ความสามารถที่ทำได้ดีกว่าคนทั่วไป แต่รูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของเล่น การวาดภาพขึ้นมา ก็เป็นวิธีที่จะสามารถสอนและกระตุ้นการรับรู้ พัฒนาการและการสื่อสารของเด็กพิเศษได้
ข้อสังเกตลูกน้อยออทิสติก
ดูดนมได้ไม่ดี
เงียบเฉยเกินไป และไม่สบตา
ไม่สนใจให้ใครกอดรัด ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง
ไม่ลอกเลียนแบบ ชี้นิ้วไม่เป็น
ไม่สนใจใคร แต่บางรายอาจติดคนมากจนผิดปกติ
ท่าทางเฉยเมย ไร้อารมณ์เมื่อถูกชักชวนให้เล่น หน้าจะเรียบเฉยมากหากสังเกตดูดีๆ จะมีแววเศร้า
ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก ไม่ส่งเสียงไม่อ้อแอ้
พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูสังเกตได้ว่าลูกไม่เหมือนเด็กอื่น
ไม่สนองตอบด้านอารมณ์ ไม่แสดงอาการดีใจให้เห็นหรือทักทายคนที่เด็กชอบ หรือหากแสดงก็มากเกินไป
ผูกพันกับสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งซ้ำๆ ถ้าดึงออกจะกรีดร้องอยู่นาน
เมื่อลูกไม่พูด ไม่มีท่าทีโต้ตอบอะไรพ่อแม่เลย คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีความกังวลว่าลูกจะไม่สามารถเรียนหนังสือร่วมกับคนอื่นในโรงเรียนปกติได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่เก่ง แต่จริงๆ แล้วลูกน้อยออทิสติกหรือเด็กพิเศษทุกคนมีความสามารถนะคะ และถ้าเล่นกับลูกด้วยการพูดคุยไม่ได้เลย คุยกับลูก เล่นกับลูกด้วยของเล่นหรือกิจกรรมที่เป็นรูปภาพแทนก็ได้นะคะ
ในธรรมชาติของเด็กพิเศษที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายอย่างในการอยู่ร่วมในสังคม การเรียน การสื่อสาร และสมาธิ แต่เด็กพิเศษมักจะมีความสามารถพิเศษที่เฉพาะตัวกว่าคนปกติทั่วไป อาจจะเรียนเก่งวิชานี้ ทำอันนี้ได้ดี เล่นกีฬาเก่ง วาดรูปเก่ง เล่นดนตรีได้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กพิเศษมีคือ สายตา เพราะว่าเขาจะมองอะไรทะลุปุโปร่งกว่าคนทั่วไป มองแบบสแกน เก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าคนปกติ
คุณครู แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษ มักใช้รูปแบบการสอนด้วยโปรแกรมรูปภาพในการฝึกสอน พัฒนา เพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ หัดเปล่งเสียงพูดออกมา เช่น การสร้าง Social Story, การแลกเปลี่ยนรูปภาพเป็นการสื่อสาร, โปรแกรมตารางรูปภาพ เพราะว่าเด็กจะไม่สามารถสอนเป็นภาพกว้างได้
Social Story
การสร้างสถานการณ์ขึ้นมาโดยทำเป็นเรื่องราว
ส่งเสริมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสามารถเรียนรวมกับเพื่อนๆ ได้
การแลกเปลี่ยนรูปภาพเป็นการสื่อสาร
โปรแกรม PECS (Picture Exchange Communication System)
เทคนิคใช้ภาพเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กได้สื่อสารออกมาเป็นคำพูด
โดยจะไม่ใช้การพูดของครูผู้สอนหรือผู้ปกครอง
เมื่อเด็กมองเห็นรูปภาพจะได้รับการกระตุ้นให้เขาพูด เด็กก็จะสามารถเริ่มพูดได้
ตารางรูปภาพ
โปรแกรม TEACCH พัฒนาโดย Dr.Eric Schopler ประเทศสหรัฐอเมริกา
โปรแกรมการสร้างตารางกิจกรรมแต่ละวันว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง
ถ้ามีกิจกรรมเยอะก็แบ่งย่อยกิจกรรมออก
โดยใช้เป็นคำสั่งภาพ จัดเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน
มีความหวังที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กๆ รู้ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง
สอนอย่างมีขั้นตอน
เน้นภาพมากกว่าเสียง
องค์ประกอบของ TEACCH
การจัดสิ่งแวดล้อม
เด็กๆ เห็นแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าสถานที่นั้นๆ เกี่ยวกับอะไร และต้องทำอะไร
ตารางกิจกรรม
คือสิ่งที่จะทำให้เด็กสามารถรับรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำอะไรก่อน-หลัง โดยอาจมีการฝึกเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ หรือเดือน ตามความเหมาะสมกับความสามารถของเด็ก ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถหลังการผ่านกิจกรรมต่างๆ
การใช้สิ่งสนับสนุนทางสายตา
เพราะว่าเด็กๆ จะเข้าใจสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน ขาดการจินตนาการ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม หรือสิ่งที่ได้ยิน จึงต้องแปลงเป็นสิ่งที่เด็กมองเห็นด้วยตา อาจใช้ภาพ วัตถุ สัญลักษณ์ สี หรือตัวเลขก็ได้
การใช้ระบบงาน
เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะเริ่มทำงานที่ไหน ต่อไปทำอะไร และสิ้นสุดเมื่อไร
การฝึกจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
หากได้ฝึกซ้ำๆ จะเกิดทักษะและสามารถทำได้ด้วยตนเองและลดการพึ่งพิงผู้อื่นลง
เพื่อเพิ่มเข้าใจและการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก เพิ่มทักษะ ความสามารถในการทำกิจกรรม กิจวัตรต่างๆ และลดการพึ่งพิงบุคคลอื่น อีกทั้งช่วยลดความวิตกกังวลเนื่องจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม กิจกรรม สถานที่ สถานการณ์ บุคคลได้อีกด้วยค่ะ
อารมณ์ การสื่อสาร ความเข้าใจ การปรับตัวเข้ากับสังคมของเด็กพิเศษเป็นข้อจำกัดในการเรียนหนังสือ โดยเฉพาะการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี รูปภาพก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กมีการรับรู้และพูดออกมา และยังสามารถควบคุมสมาธิและอารมณ์ได้ สามารถเล่นกับเพื่อนได้
โดย อาจารย์สาวิตรี วงศ์กิติรุ่งเรือง
อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น