ไม่อยากให้ลูกสำลักนม แหวะนม คุณแม่ต้องรู้สาเหตุและวิธีป้องกันต่อไปนี้ เพื่อให้ลูกกินนมแม่ได้อิ่มพอดีและหลับสบาย
ลูกสำลักนมแม่ อันตรายแค่ไหนคุณแม่มือใหม่ต้องรู้วิธีป้องกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกสำลักนมแม่
แรกๆ เด็กจะไอ และเหมือนจะขย้อนนมหรืออาหารออกมา หากสำลักไม่มาก ก็อาจไอเล็กน้อย 2-3 ครั้งแล้วก็หายไป แต่ถ้าหากไอแรงจนถึงขนาดหน้าเขียว หรือมีเสียงหายใจผิดปกติ ดังครืดคราด คุณแม่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน
สาเหตุที่ทำให้ลูกสำลักนม
- จากตัวเด็กเอง - เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาเรื่องของโรคหัวใจหรือโรคปอดนั้นจะหายใจเร็วขึ้น จึงมีโอกาสสำลักนมได้มากกว่าเด็กปกติทั่วไป ทั้งนี้ รวมถึงเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า หรือมีประวัติการชักด้วย
- ปัจจัยภายนอก - การให้ลูกดูดนมแม่นั้นมีโอกาสที่จะเกิดการสำลักนมน้อยมาก เว้นแต่แม่อุ้มลูกให้นมไม่ถูกวิธี รวมถึงลูกกินนมล้นกระเพาะ ก็ทำให้สำลักนมได้เช่นกัน
วิธีป้องกันลูกสำลักนม
- ในช่วง 6 เดือนแรกควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว ก่อนเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม เพื่อรอให้ทักษะการดูดกลืนของลูกทำงานได้ดีมากขึ้นกว่าช่วงแรกเกิด และสามารถชันคอตั้งตรงได้ดี โอกาสที่จะเกิดการสำลักก็มีน้อยลง
- เลือกประเภทอาหารที่เหมาะกับวัย เช่น โดยทั่วไปเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่แนะนำให้กินถั่วเม็ดเล็ก ข้าวโพด เม็ดทานตะวัน เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเกิดการสำลักได้ง่าย แต่หากจะนำมาปรุงให้กับเด็กเล็กๆ ก็ควรบดหรือตัดให้ขนาดเล็กพอควร
- จับลูกเรอทุกครั้งหลังที่กินนมเสร็จ
วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อลูกสำลักนม
หากลูกสำลักนม ให้จับลูกนอนตะแคง ให้ศีรษะลูกต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นมหรืออาหารที่อาจมีอยู่ในปาก ไหลย้อนกลับไปที่ปอด ที่สำคัญไม่ควรจับลูกอุ้มขึ้นทันทีเมื่อเกิดการสำลัก