เรียนรู้ผ่านนิทานและ
การเรียนรู้แบบบูรณาการ พร้อมส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะคิดอย่างอิสระและสร้างสรรค์ ที่
โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
อ.อรุณศรี จันทร์ทรง ฝ่ายวิชาการโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ เล่าว่า "เราเตรียมความพร้อมเด็กทุกด้านทั้ง ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ก่อนเริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียนประถมศึกษา ผ่านกิจวัตรประจำวันของเด็กเอง ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ"
การเรียนการสอนของแต่ละชั้นตั้งแต่ อ.1 - อ.3 คุณครูประจำชั้นพร้อมผู้ช่วยจะนำเอาจุดเด่นของแต่ละแนวการสอนมาประยุกต์ใช้ ทั้งการสอนแบบโครงการ (Project Approach) , ไฮสโคป (High Scope) , มอนเตสเซอรี่ (Montessori) , การเรียนรู้ Waldorf เป็นต้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ คุณครูประจำชั้นเป็นผู้จัดแผนการสอนในแต่ละหน่วยวิชาด้วยตนเอง ซึ่งแม้ว่าแต่ละห้องจะเรียนในหน่วยเดียวกัน แต่ครูประจำชั้นสามารถออกแบบการสอนของตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องร่างกาย ห้อง A อาจจะใช้การเรียนรู้แบบโครงการให้กับเด็กๆ ในห้อง B ก็อาจจะออกแบบการสอนโดยนำเรื่องของ ไฮสโคป เข้ามาใช้ก็ได้
"ครูผู้สอนสามารถดึงความหลากหลายของนวัตกรรมที่เปิดกว้างเข้ามาใช้ ไม่ได้จำกัดความคิด ครูแต่ละคนจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อวิธีการที่นำไปสอนในหน่วยการเรียนรู้เดียวกัน ว่ามีข้อแตกต่างหรือจุดดีตรงไหนบ้าง แล้วนำข้อคิดเห็นนั้นๆ มาปรับปรุงให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป"
เรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด
การเรียนการสอนที่โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศให้ความสำคัญอีกจุด คือ การเรียนรู้ที่ส่งเสริมกระบวนการคิด โดยจุดเริ่มมาจากงานวิจัยในโครงการ "การใช้นิทานและเกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิด" ในปี พ.ศ 2540 ซึ่งเป็นการศึกษาในเด็กช่วงอายุ 5-6 ปี โดย ผศ.ดร.นภเนตร ธรรมบวร รองผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิตละอออุทิศ
เล่าว่า งานวิจัยเรื่องนี้ ศึกษาตอนที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ เป็นการศึกษาวิธีการที่จะทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิด ซึ่งพบว่าการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด จะต้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เด็กๆชอบ คือ นิทาน ดังนั้นในช่วงแรกที่มีการวิจัยจึงใช้นิทานเล่าให้เด็กๆ ฟัง หลังจากนั้นก็จะตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็น นอกจากนิทานแล้วก็จะมีเกมต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดกระบวนการคิด
พบว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิด นอกจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมแล้ว
1. ครูต้องเป็นนักคิด คิดเป็น มีความเชื่อมั่น ตัดสินใจและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเอง
2. คำถามที่ใช้ ต้องเป็นคำถามที่ส่งเสริมให้เด็กคิด สร้างจินตนาการ และสร้างสรรค์
3. การใช้เหตุการณ์สมมติ เช่น นิทาน เพราะเด็กในวัยนี้ เขาอยู่ในโลกของการสมมติค่อนข้างมาก เขาจะสามารถใช้จินตนาการอย่างเต็มที่
4. ครูต้องยืดหยุ่นและมีความเอื้ออาทรต่อเด็ก สามารถฟังอย่างเอาใจใส่ ว่าเด็กสงสัยอะไร สนใจอะไรอยู่ เพราะการกระตุ้นให้เด็กได้คิดไม่ได้มี รูปแบบตายตัว ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้สำคัญ ให้เด็กได้แสดงความคิดอย่างเหมาะสม
"ปีแรกที่ทำการวิจัยในหนึ่งห้องเรียน ได้รับการตอบรับดีมากจากผู้ปกครอง ในปีต่อมาผู้ปกครองต้องการให้มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้เพิ่มขึ้น และภายหลังจากการประเมินก็พบว่าเด็กมีกระบวนการคิดที่ดี เด็กสามารถตอบคำถามได้ เป็นผู้ตั้งคำถามเอง เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ช่างสังเกต"
ปรับใช้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน
จากงานวิจัยสำคัญเรื่องนี้ ก็ได้มีการนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอน อ. อรุณศรี เล่าต่อว่า การส่งเสริมให้เด็กได้เกิดกระบวนการคิด จะเริ่มด้วย การเตรียมความคิด ด้วยการทบทวนประสบการณ์เดิมที่เด็กๆ เคยเรียนรู้มาแล้วพร้อมความรู้ใหม่ๆ โดยการพูดคุยหรือเล่านิทาน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของครูผู้สอนเป็นสำคัญ ต่อด้วยการถามคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดและแสดงเหตุผลของตนเอง และหวังผลให้เด็กๆ สามารถนำความรู้ที่ได้เข้าไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
นิทาน สื่อสารความคิด
การส่งเสริมในลักษณะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด บางคนก็คิดสร้างสรรค์ หรือคิดในสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดไม่ถึง สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การหล่อหลอมบุคลิกภาพให้เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจในตน เอง แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
การเปิดโอกาสให้เด็กได้สื่อสารความคิดเห็น เหมือนเป็นการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ให้เด็กได้เริ่มต้น เป็นนักคิดและนักแก้ปัญหาที่สำคัญเชียวค่ะ
โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
295 ถ. ราชสีมา แขวงวชิระ เขตดุสิต กทม. 10300
โทรศัพท์ 0-2241-4656, 0-2244-5590
โทรสาร 0-2244-5591
E-mail Address : la-orutis@live.com
เว็บไซต์ : www.la-orutis.dusit.ac.th