พรบ. ปฐมวัยไปไม่ถึงฝัน เด็กๆ ยังต้องสอบเข้า ป.1
เมื่อปีที่แล้วคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับ พรบ. ปฐมวัย ว่ามีการกำหนดนิยาม คำว่า “เด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน” ว่า หมายถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 8 ปี เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย ให้มีสมรรถนะอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยกฎหมายห้ามสอบ หรือ พรบ. ห้ามสอบเข้า ป. 1 หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 500,000 บาท
ล่าสุดคุณหมอเดว
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ผู้เคลื่อนไหวเรื่อง พรบ. ปฐมวัยมาโดยตลอด ได้ออกมาโพสถึงความคืบหน้าว่า
#ขอแสดงความเสียใจกับกฤษฎีกา ที่ แปลงร่างพรบ.เด็กปฐมวัย ฉบับที่ผ่านครม.มาแล้ว ให้อ่อนแอลง ในจุดที่อ่อนไหว ทั้ง 2-3จุด
ซึ่ง 2-3 ที่กล่าวมานั้นคือ
1.นิยามของเด็กปฐมวัย ในร่างเดิมระบุว่าเป็นเด็กที่อยู่ในครรภ์แม่จนถึงอายุ 8 ปี ที่ตามมาตรฐานสากล ที่แม้แต่ UNESCO ก็รับรอง ถูกแปลงกลับมาเหมือนเดิม คือ 0-6 ปี เพียงเพราะ กังวลว่านิยามจะไม่เหมือนกัน
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น
ผลเสียคือ การบูรณาการข้ามช่วงวัย รวมทั้งรอยต่อช่วง 6-8 ปี ที่มุ่งเน้นสมรรถนะจะอ่อนแอลง
2. เด็กปฐมวัยมีความพิเศษกว่าวัยอื่น ที่กระบวนการพัฒนาเด็ก ไม่ใช่เป็นแค่การศึกษาเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ที่จำเป็นต้องบูรณาการ ทั้ง care education development and child protection ร่างนี้จะให้ความสำคัญกับการตั้ง สน.ปฐมวัยแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระ ที่สามารถบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงกรมกอง ตั้งแต่ท้องถิ่น จังหวัดและ ประเทศ รวมทั้งการพัฒนางานทั้ง วิชาการ ขับเคลื่อน และกลไกติดตาม
แต่กลับถูกแก้ให้สำนักงานขึ้นกับสภาการศึกษาเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคในการบูรณาการอยู่ก่อน ถึงได้ ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในเด็กเล็ก
นั่นหมายความว่าปัญหาการศึกษาของเด็กปฐมวัยยังไม่อาจถูกแก้ไขนั่นเอง
3. การยกเลิกการสอบคัดเลือกในเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะสอบเข้า ป.1 ที่ทั่วโลกก็เข้าใจตรงกัน ว่า high stake test ระบบแพ้คัดออก ในเด็กปฐมวัย เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเลือกปฏิบัติ อีกทั้งด้วยจิตวิทยาพัฒนาการ เด็กเล็กๆ กำลังพัฒนา ย่อมทนแรงตึงเครียดมากบนความคาดหวังกดดันไม่ได้ผิดหลักพัฒนาการ จนผู้เชี่ยวชาญนักพัฒนาการนานาชาติ บางท่านเรียกเป็น #ระบบทารุณกรรมเด็กเล็ก
ก็ถูกแก้ ตัดออกทั้งมาตรา และแก้ใหม่ ให้อ่อนแอลง กลายเป็นแค่การส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่มุ่งเน้นการสอบแข่งขัน
นั่นหมายความว่าเด็กๆ ยังต้องไปติวเพื่อสอบเข้า ป.1 ต่อไป เพราะการยกเลิกสอบเข้าป. 1 ไม่เกิดขึ้นจริงและไม่มีบทลงโทษอย่างจริงจัง
แต่กระนั้นแม้จะไม่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ความคาดหวังสุดท้ายคุณหมอเดวก็ฝากเอาไว้กับก็สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้
อย่างไรเสียรักลูกก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอเดวและคณะกรรมการทุกท่านสำหรับการทำงานที่ผ่านมา และขอฝากความหวังไว้ที่ สนช. ด้วยเช่นกันนค่ะ
ที่มา Facebook Suriyadeo Tripathi