ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแถลงการ ไม่สมควรนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชาใดๆ มารักษาโรคในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น และข้อแนะนำนี้ ยังตรงกับข้อสรุปของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาด้วย เพราะกัญชามีส่วนประกอบที่ส่งผลเสียต่อระบบประสาทที่กำลังเจริญเติบโตในเด็กและวัยรุ่น หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีฤทธิ์เสพติด
นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศฉบับที่ 134/2562 แถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งลงนามโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า
อาศัยอำนาจตามความในหมวด 3 ข้อ 8 (7) แห่งข้อบังคับแพฟทยสภาว่าด้วยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2538 และมติคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีความคิดเห็นและข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
1. คุณสมบัติของกัญชา
กัญชา (Marijuana) มีฤทธิ์เสพติด เป็นพืชที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis มีหลายสายพันธุ์ ไม่ใช่มีเฉพาะเพียงกัญชาเท่านั้น เช่น กัญชง ซึ่งเป็นพืชที่มีการนำลำต้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ปริมาณของสาร Cannabinoids ที่มีอยู่ในพืชเหล่านี้ มีระดับที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์และการเพาะปลูก สาร Cannabinoids ที่อยู่ในกัญชามีอยู่หลายชนิ เช่น delta9-tetrahydrocannabinol (delta9-THC) และ cannabidiol (CBD) เป็นต้น บางชนิดสามารถสกัดเฉพาะสารออกมาได้ หรือสังเคราะห์เองได้โดยไม่ต้องสกัดจาพืช โดยกัญชาในรูปแบบต่างๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในบางสาขาได้ กัญชาที่มีผู้นำมาใช้เพื่อความรื่นเริงบางครั้งเกิดการเสพติดนั้น มักเป็นชนิดที่มีปริมาณของสาร delta9-THC ที่สูง โดยผู้เสพดังกล่าวอาจนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาทำให้แห้งเพื่อสูบ หรืออาจใช้ในรูปแบบน้ำมันสกัดซึ่งมีปริมาณ delta9-THC สูงกว่าปกติ
2. ความคิดเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับกัญชาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
กัญชามีส่วนประกอบที่ส่งผลเสียต่อระบบประสาทที่กำลังเจริญเติบโตในเด็กและวัยรุ่น หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานและมีฤทธิ์เสพติดจากผลของสาร delta9-THC
ดังนั้น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีมติว่า ไม่สมควรนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชาใดๆ มารักษาโรคในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งตรงกับข้อสรุปของ American Academy of Pediatrics (สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา) ที่ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015