โรคร้ายที่ผู้หญิงเป็นกันมากที่สุด พออายุมากหน่อยคงหนีไม่พ้นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกใช่ไหมคะ แต่จากทั่วโลกมีผู้เป็นมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 1 องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนของการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2561 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งในผู้หญิงจากทั่วโลกที่เป็นกันมากที่สุดคือมะเร็งเต้านม มีผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วโลก 2,088,849 คน เสียชีวิตถึง 626,679 ราย
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมทั่วโลก โดยใช้สัญลักษณ์รูปโบว์ชมพู (Pink Ribbon) เพื่อสร้างความตระหนัก ตื่นตัว รู้จักสังเกต รู้จักตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
กลุ่มเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านมที่ผลตรวจพบว่ามีความผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี และเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก ก่อนอายุ 30 ปี
การตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มีสูงขึ้น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1 – 2 อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 -99 หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดเพียงร้อยละ 40-60 และหากตรวจพบในระยะที่ 4 อัตรารอดเหลือร้อยละ 18-20
การป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
หลีกเหลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อน อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน
ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์
หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์
ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์เต้านมทุกปีและมาพบแพทย์
การสังเกตความผิดปกติของเต้านม
มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้
รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป
มีน้ำ เลือด หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม
รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไป
สีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไป เช่น รอยบุ๋ม รอยย่น อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้โดยเฉพาะเจ็บข้างเดียว ผิวหนังของเต้านมที่เปลี่ยนไป
วิธีรักษามะเร็งเต้านม
การรักษาจะใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
การผ่าตัด
การให้ยาเคมีบำบัด
การใช้รังสีรักษา
การใช้ยาต้านฮอร์โมน
การรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ
ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตร่างกายตนเองและตรวจสุขภาพสม่ำเสมอโดยเฉพาะตรวจมะเร็งเต้านมและการตรวจภายใน เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้นหรือเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น