อาจเคยมีคนบอกคุณแม่ให้นมว่าเวลาน้ำนมไม่ไหล น้ำนมน้อย ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำยังไงให้น้ำนมไหล ดูแลตัวเองยังไง แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังทำให้การให้นมแม่ไม่สำเร็จสักที มาดูคำแนะนำจากคุณหมอกันค่ะ เผื่อจะนำไปปรับใช้ได้
1. เทคนิคให้นมเจ้าตัวเล็ก
- ก่อนและหลังให้นมลูกทุกครั้ง คุณแม่จะต้องเช็ดหรือล้างบริเวณหัวนมและรอบ ๆ ให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือแล้วเช็ดให้แห้ง จึงให้ลูกดูดนมสลับไปในแต่ละข้างจนอิ่ม ช่วงแรกให้ดูดกระตุ้น 15 - 20 นาทีทั้งสองข้าง (เมื่อน้ำนมมากพอต่อไปดูดทีละข้าง)
- ศีรษะลูกจะต้องอยู่สูงกว่าลำตัวเสมอ
- คอยสังเกตว่าส่วนของเต้านมไม่เบียดจมูกทารกขณะดูด
- เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มให้อุ้มลูกพาดบ่าจนลูกเรอลมออกจากกระเพาะอาหารจึงเปลี่ยนท่าอุ้ม
- ช่วงแรกควรงดให้ขวด เพราะเด็กอาจจะปฏิเสธนมแม่
- คุณแม่สามารถปั๊มน้ำนมตนเองใส่ขวดนมที่สะอาดและเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง หากลูกดูดนมจากขวดจนอิ่มแล้วน้ำนมเหลือไม่ควรเก็บไว้เพราะนมจะบูดและเสียโดยง่าย แล้วดูดเสร็จถ้ามีนมเหลือควรบีบหรือปั๊มใส่ขวดเก็บใส่ตู้เย็น
2. วิธีดูแลเต้านมคุณแม่
- ใส่เสื้อชั้นในแบบพยุงเต้านม
- ทำความสะอาดหัวนมด้วยน้ำสะอาด
- ใช้สบู่ฟอกได้ แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้แห้งแตก
3.ความต้องการพลังงานของแม่ขณะให้นม
คุณแม่ที่ให้นมจะต้องใช้พลังงานสูงในการผลิตน้ำนม โดยใช้พลังงานประมาณ 85 แคลอรี่ในการผลิตน้ำนม 100 ซีซี ซึ่งปริมาณน้ำนมแม่ในแต่ละช่วงจะแตกต่างกันออก
ช่วง 6 เดือนแรกจะอยู่ที่ 700 - 850 มล./วัน
ช่วง 6 - 12 เดือน 600 มล./วัน และ
ช่วง 12 - 24 เดือน 550 มล./วัน
ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมจึงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 500 แคลอรี่ โดยเฉพาะโปรตีนมีความสำคัญมากในการผลิตน้ำนม บำรุงและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ของคุณแม่ จึงควรได้รับโปรตีนเพิ่มวันละ 25 กรัม
4. อาหารช่วยเพิ่มน้ำนมแม่
- หัวปลี มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือดและเพิ่มน้ำนม
- กะเพรา มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยขับลม แก้ท้องอืด เพิ่มน้ำนม
- กุยช่าย มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม ช่วยเพิ่มน้ำนม ลดการอักเสบ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย
- ขิง มีสารจินจิเบน ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน เพิ่มน้ำนม ขับลม แก้คลื่นไส้อาเจียน
- เม็ดขนุน มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยเพิ่มน้ำนม
การให้นมลูกไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในด้านสารอาหารที่ลูกได้รับ แต่การอุ้มลูกขึ้นดูดนมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก ทำให้สมองได้รับสัญญาณประสาทสม่ำเสมอ เกิดการแตกแขนงของเซลล์ประสาท ช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.คัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูตินรีแพทย์ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ
ศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0 2310 3005, 0 2755 1005 หรือ โทร. 1719
คุณแม่หลายท่านอาจจะเคยประสบปัญหาเวลาที่ทำข้าวกล่องให้คุณลูกๆ ไปโรงเรียนแล้วมันช่างจำเจเหลือเกิน รักลูกขอนำเสนอ 5 ไอเดียสำหรับการจัดข้าวกล้องให้คุณลูกๆ ไปโรงเรียนกันค่ะ
ข้าวผัดทุ่งดอกไม้
ส่วนผสม
- ข้าวผัดกุ้งใส่ถั่วลันเตาและแครอต
- เต้าหู้
- หมูสับ
ตัวช่วย
- ที่ตัดผักรูปดอกไม้
- หลอดกาแฟ
วิธีทำ
- ตัดเต้าหู้เป็นรูปดอกไม้โดยใช้ที่ตัดผักรูปดอกไม้ และใช้หลอดกาแฟเจาะรูตรงกลางเพื่อยัดไส้หมูสับปรุงรสเข้าไป ก่อนนำไปนึ่ง
- เมื่อเต้าหู้ยัดไส้สุกและหายร้อน ให้จัดวางในกล่องข้าว
- ตักข้าวผัดกุ้งใส่รอบๆ เต้าหู้ยัดไข่ และตกแต่งให้สวยงาม โดยเลือกถั่วลันเตาในข้าวผัดขึ้นมาประดับ และจับกุ้งมาประกบกันเป็นรูปหัวใจ ใส่แครอตตรงกลาง เท่านี้ก็ได้เมนูข้าวผัดที่ไม่เหมือนใคร
ข้าวผัดม้วนไข่
ส่วนผสม
- ข้าวผัดหมูสับ
- ไข่เจียวแผ่นบาง
- แตงกวา
- ผลไม้ตามชอบ
ตัวช่วย
- แผ่นไม้ไผ่สำหรับม้วนซูชิ (หากไม่มีสามารถม้วนด้วยมือได้)
วิธีทำ
- วางไข่บนแผ่นไม้ไผ่ ตักข้าวผัดวางลงไป และม้วนเป็นแท่งกลม ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เท่าๆ กัน
- จัดวางข้าวผัดม้วนลงกล่องข้าว แต่งเติมด้วยผักและผลไม้คือ แตงกวา ส้ม และองุ่น ให้สวยงาม
ข้าวผัดห่อไข่
ส่วนผสม
- ข้าวผัดไส้กรอก
- ไข่เจียวแผ่นบาง
- กุ้งชุบแป้งทอด
- ผลไม้ตามชอบ
วิธีทำ
- ทำไข่เจียวเป็นแผ่นบางๆ เพื่อห่อข้าวผัด แล้วใช้มีดตัดไข่ด้านบนออก เพื่อให้มองเห็นข้าวผัดหน้าตาชวนกินข้างใน
- จัดกุ้งทอดลงกล่องให้สวยงาม
- หั่นผลไม้ให้เป็นชิ้นพอคำ จัดลงกล่อง เพียงเท่านี้ก็จะได้เมนูข้ากล่องหน้าตาน่าทานแล้วค่ะ
ข้าวหน้าเป็ดก๊าบๆ
ส่วนผสม
- ข้าวสวย
- เนื้อเป็ดย่าง
- แครอตและถั่วแขกลวกสุก
- ส้ม
ตัวช่วย
- ที่ตัดคุกกี้รูปเป็ดและดาว
- ถ้วยซิลิโคน
วิธีทำ
- ตักข้าวใส่ลงในที่ตัดคุกกี้รูปเป็ด แล้วค่อยๆ แกะข้าวออกมาจัดวางใส่กล่อง ตกแต่งหน้าตาเป็ดน้อยด้วยแครอต
- จัดเนื้อเป็ดย่างเรียงข้างๆ เป็ดน้อย
- หั่นส้มใส่ถ้วยซิลิโคน จัดวางในกล่อง
- พื้นที่เหลือในกล่อง ให้ประดับด้วยถั่วแขกหั่นเป็นชิ้นเท่าๆ กัน และแครอตตัดเป็นรูปดาว เท่านี้ก็ทำให้ข้าวหน้าเป็ดธรรมดาๆ ดูแปลกตาและน่าทานขึ้นค่ะ
ฮัลโหลผัดมะกะโรนี
ส่วนผสม
- ผัดมะกะโรนี
- แครอตลวกสุก
- องุ่น
- ขนมปังแคร็กเกอร์
ตัวช่วย
- ที่ตัดคุกกี้รูปตัวอักษร
- ถ้วยซิลิโคน
วิธีทำ
- ตักผัดมะกะโรนีใส่ถ้วยซิลิโคน ประดับด้วยแครอตที่ตัดเป็นรูปตัวอักษร อาจเรียงเป็นคำต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ไปด้วยก็ได้
- จัดองุ่นและแครกเกอร์ลงไปข้างๆ เท่านี้ก็กลายเป็นอาหารกล่องมื้ออร่อย แถมสนุกตรงที่ได้เรียนรู้ตัวอักษรไปในตัว
7 ข้อ ทำความเข้าใจ หากอยากพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก
การพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เป็นข้อดีที่ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หากครอบครัวเปิดใจว่าการพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายถึงลูกจะเป็นโรคทางประสาท แต่เพื่อเป็นการป้องกัน หรือชะลอความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาการบกพร่องของลูกในอนาคตได้
มาดู 7 ข้อ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ
- จิตแพทย์เด็กตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง
ปัญหาพฤติกรรม เช่น ซนอยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปัญหาอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์เปลี่ยนแปลง ปัญหาการเรียน เช่น อ่านเขียนไม่ได้ ไม่ตั้งใจเรียน ผลการเรียนตก ปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารบกพร่อง ทักษะด้านสังคมบกพร่อง
- ให้ปรับมุมมองใหม่ ด้วยการคิดว่าพาลูกพบจิตแพทย์เด็ก ไม่ได้แปลว่าลูกจะป่วยทางจิตเป็นโรคประสาทแต่อย่าใด แต่หมายถึงว่าพ่อแม่ใส่ใจในด้านจิตใจและความเป็นไปของลูก
- ลูกมีการเติบโตเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การที่พ่อแม่ใส่ใจดูแลเฝ้าระวัง หรือพามาพบหมอตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเห็นปัญหา จะช่วยป้องกันและชะลอความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตและพัฒนาการบกพร่องของลูกในอนาคตได้
- หากพ่อแม่สงสัยอะไร ควรพาลูกมาหาหมอ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะบางปัญหาปล่อยไว้นานจะยิ่งแก้ยาก ยิ่งถ้าเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการแล้ว อาจเลยช่วงหน้าต่างแห่งโอกาส ซึ่งเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ อย่างน้อยถ้ามาแล้วหมอบอกว่าไม่เป็นไรพ่อแม่จะได้สบายใจ
- เตรียมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมไล่เรียงประวัติของลูกตามช่วงวัย ทั้งด้านพัฒนาการ อาการต่างๆ หรือเอกสารต่างๆ เช่น สมุดบันทึกสุขภาพและพัฒนาการ สมุดรายงานผลการเรียน ใบรายงานพฤติกรรมจากครู สมุดการบ้าน ประวัติการรักษาเดิม ยาเดิม เป็นต้น
- การเตรียมตัวลูกก่อนมาพบหมอ เป็นเรื่องสำคัญมาก ควรบอกลูกแบบตรงไปตรงมา ว่าพาเขามาหาหมอด้วยเรื่องอะไร หรือเป็นห่วงเขาเรื่องอะไร การไปหลอกลูกจะทำให้หมอทำงานยากขึ้นลูกจะสูญเสียความไว้วางใจ และอาจไม่ยอมมาตามนัดอีก หากพ่อแม่คิดว่าบอกตรงๆ แล้วเขาไม่ยอมมาแน่ๆ พ่อแม่อาจใช้วิธีมาคุยเบื้องต้นกับหมอก่อน ว่าจะมีวิธีบอกลูกและดูแลลูกเบื้องต้นอย่างไร
- เปิดใจกว้างๆ ในการรับฟัง พ่อแม่บางท่านเลือกจะฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ยิน ทำให้เกิดอคติไม่ยอมรับ และไม่เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยลูก หากพ่อแม่สงสัยไม่แน่ใจก็มีสิทธิ์ที่ถามหมอแบบตรงไปตรงมา หรือหาความเห็นที่สองจากหมอท่านอื่นได้
หากอยากให้ลูกมีพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ที่ดีขึ้น อย่าไปสนใจเสียงคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่ออนาคตที่ดีของลูกเถอะค่ะ
ข้อมูลจาก : thaichildpsy
ช่วงของการระบาดโรค COVID-19 มีคำถามเกิดขึ้นมากมายค่ะ เราจะเลี้ยงลูกอย่างไร ต้องปรับตัวอะไรบ้าง? ทั้งเรื่องสุขภาพ จิตใจ และปัญหาอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น การเรียนออนไลน์ เป็นต้น
ทางรักลูกได้นำข้อมูลโรงพยาบาลพระราม 9 ได้แพร่ภาพสดพูดคุยกับคุณหมอด้านต่าง ๆ ในหัวข้อ COVID-19 โรคระบาดใหญ่ใกล้ตัวเด็ก จะดูแลลูกน้อยอย่างไรในยุค New Normal มาฝากค่ะ
รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ได้มาให้ความรู้เรื่อง COVID-19 กับภูมิแพ้ อาการใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อแตกต่าง และวิธีป้องกัน ดังนี้
อาการ COVID-19
1.มีไข้ และ ไม่มีไข้
2.ติดเชื้อทางเดินหายใจ ไอ น้ำมูก คัดจมูก
3.หายใจหอบเหนื่อย
4.คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
อาการ ภูมิแพ้
1.ผู้ป่วยจะจาม และคัดจมูก เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้แพ้
วิธีป้องกัน COVID-19
1.ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล วิธีการถูแอลกอฮอล์เจลที่ถูกต้อง คือต้องถูให้เจลแห้งสนิทจะได้ประสิทธิภาพที่สุด
2.ห่างกัน 1-2 เมตร
3.ใส่หน้ากากอนามัย
4.ไม่พาตัวเองไปพื้นที่เสี่ยง ระวังการใกล้ชิดบุคคลที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่ติดเชื้อแล้ว
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ?
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ได้มีความเสี่ยงโรค COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป และถ้าหากผู้ป่วยภูมิแพ้ติดเชื้อ COVID-19 จะป่วยรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป อันนี้ก็ไม่จริงค่ะ ทั้งความเสี่ยงในการติดและเมื่อติดแล้วจะมีอาการป่วยเท่ากับคนทั่วไป
ทางด้าน คุณอลิสา รัญเสวะ ศูนย์กุมารเวชกรรม ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาคลินิก ได้มาให้คำแนะนำเรื่อง COVID-19 กับสภาพจิตใจเด็ก ๆ ในการอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ พ่อแม่ต้องรับมืออย่างไรบ้าง
วิธีปรับตัวเด็กให้พร้อมกับช่วงของการระบาด COVID-19
1.ปรับตารางชีวิตของลูกใหม่ ถึงจะต้องเรียนอยู่บ้านก็ต้องให้เด็ก ๆ ตื่นเช้าปกติเหมือนไปโรงเรียน ไม่ตื่นสาย อาจจะทำใด้เด็กขี้เกียจได้
2.การเรียนออนไลน์
ระยะสั้น - สังเกตลูกว่าโฟกัสเรื่องการเรียนไหม เข้าใจบทเรียนหรือไม่
ระยะยาว - สังเกตว่าการเรียนออนไลน์ระยะยาวจะกระทบการเรียนหรือไม่ ความรู้ของลูกเท่าชั้นเรียนของลูกไหม ?
3.มอบหน้าที่ให้ลูกช่วยงานบ้านง่าย ๆ
4.ใช้เวลาร่วมกันกับลูกให้มากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรม นิทาน เวลานอน เป็นต้น
5.ไม่กดดันลูกในเรื่องการเรียน พ่อแม่ต้องเป็นคุณครูสอนให้ลูกเข้าใจในเนื้อหาการเรียนในช่วงเรียนออนไลน์
อ้างอิง
Facebook Page : Praram 9 hospital
วันที่แพร่ภาพสด : 9 มกราคม 2564
หัวข้อเรื่อง : COVID-19 โรคระบาดใหญ่ใกล้ตัวเด็ก จะดูแลลูกน้อยอย่างไรในยุค New Normal
รักลูก Community of The Experts
รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
คุณอลิสา รัญเสวะ ศูนย์กุมารเวชกรรม ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาคลินิก
โรงพยาบาลพระรามเก้า
Q&A อย่างนี้แพ้อาหารเสริมหรือเปล่า
Q : ลูกสาว (8 เดือน) ไม่ค่อยได้กินอาหารเสริมเท่าไหร่ เพราะเวลากินมักจะอาเจียน ดิฉันให้กินอาหารเสริมแบบสำเร็จรูปที่ผสมน้ำก็สามารถกินได้เลย(ผสมกับแกงจืด) แต่ต้องผสมน้ำให้มากค่ะ เพราะถ้าข้นไปเดี๋ยวลูกจะอาเจียน อาการอย่างนี้เรียกว่าเป็นอาการแพ้อาหารเสริมหรือเปล่าคะ - หทัยรัตน์ / สมุทรปราการ
A : การผสมอาหารให้ลูกรับประทานนั้น แรกๆ ก็ควรให้มีน้ำมากหน่อยครับ เพื่อให้มีลักษณะกึ่งเหลวกึ่งแข็งที่รับประทานง่ายไปก่อน แล้วจึงค่อยเติมน้ำน้อยลง เพื่อให้ข้นขึ้น ลูกก็จะเรียนรู้การรับประทานอาหารเสริมที่ค่อยๆ แข็งมากขึ้นได้ เด็กบางคนหากเราไม่ผสมอาหารให้เจือจางในระยะแรกแล้ว ลูกยังไม่ทราบวิธีการรับประทานอาหารที่แข็งได้ ก็จะต่อต้านด้วยการอาเจียนเวลากลืนอาหารที่เป็นเนื้อแข็งได้ สิ่งที่คุณแม่ถามมานั้นน่าจะเกิดจากลักษณะที่กล่าวมานี้ครับ ไม่น่าจะเกิดจากการแพ้อาหาร ทั้งนี้เพราะหากแพ้อาหารแล้ว ไม่ว่าจะเติมน้ำมากหรือน้อย ก็จะเกิดอาการแพ้ได้อยู่ดี เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้โปรตีนในอาหาร ได้รับเมื่อไรก็เกิดอาการได้ครับ
กินไข่วันละฟอง กับนมอีก 2 แก้ว ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมอง
กระทรวงสาธารณสุขแนะให้เด็กวัยเรียนกินไข่วันละ 1 ฟอง ควบคู่กับการดื่มนม 2 แก้วต่อวัน ร่วมกับอาหารหลัก 5 หมู่ จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต กระตุ้นระบบประสาทและสมอง เนื่องจากไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามิน อย่างธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินอี วิตามินดี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน ซีแซนทีนและโคลีน ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
ไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี และมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด มีประสิทธิภาพในการดูดซึมสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย 9 ชนิด ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการทำงานของสมอง เสริมสมาธิและความจำ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนควรได้กินไข่ทุกวัน ควบคู่กับการดื่มนมวันละ 2 แก้ว และควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน วันละ 60 นาที หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
เด็กแต่ละวัยกินไข่ไม่เท่ากัน
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้คำแนะนำว่าเด็กแต่ละวัยจะบริโภคไข่ในปริมาณที่ต่างกัน
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุก วันละครึ่งถึง 1 ฟอง
- เด็กอายุ 7-12 เดือน กินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง
- ส่วนเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปและเด็กวัยเรียน ควรกินไข่วันละฟอง ควบคู่การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักหลากสี 4 ช้อนกินข้าวทุกมื้อ และผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้อ
นอกจากนี้ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีชนิดนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ และควรกินในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุจากผัก ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอน น้ำมันที่ใช้ทอดและเนยที่ทาขนมปัง
ที่มา : ThaiPBS
บรอกโคลีมีรสชาติหวานกรอบ ทำอาหารได้หลากหลาย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยกรดโฟลิก วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม และเหล็ก ช่วยบำรุงสมอง เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันหวัดได้ค่ะ
ส่วนผสม
ข้าวสวย 1 ถ้วย
บร็อกโคลีลวกสุกหั่นละเอียด ½ ถ้วย
เนื้อไก่ลวกฉีกฝอย
น้ำซุป 1 ½ ถ้วย
วิธีทำ
ตั้งน้ำซุปให้ร้อน แล้วหรี่ไฟอ่อน ใส่ข้าวลงไป ต้มจนข้าวแตกเม็ด ใส่บร็อกโคลีและเนื้อไก่ลงไปคนให้เข้ากันจนเนื้อไก่สุก ตักใส่ชาม
Tip : นอกจากบรอกโคลีแล้วคุณแม่สามารถเติมผักอื่นที่ลูกชอบลงไปด้วยได้ค่ะ
มะเขือเทศมีไลโคปีนสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณสวย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ป้อกันมะเร็งต่างๆ แต่ถ้าจะให้กินมะเขือเทศเป็นชิ้นๆ ลูกอาจไม่สะดวก เพราะฉะนั้นมาแปลงร่างมะเขือเทศไม่ให้เหลือร่องรอยให้ลูกเห็นกันดีกว่าค่ะ
ส่วนผสม
ข้าวสาร 1 ถ้วยตวง
มะเขือเทศ ผลใหญ่ 1 ผล
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
ไข่ไก้ 1 ฟอง
ต้นหอมซอย 1 ต้น
วิธีทำ
- ล้างมะเขือเทศให้สะอาด เด็ดขั้วออกแล้วใช้มีดกรีดผิวให้เป็นกากบาทแล้วนมไปหุงพร้อมข้าว
- เมื่อข้าวสุกแล้วบี้มะเขือเทศให้ละเอียดคลุกข้าวสวยในหม้อให้ทั่ว 3 ตั้งกระทะ เทน้ำมันลงไปเล็กน้อย รอน้ำมันร้อนตอกไข่ลงไป ยีไข่แดงให้แตกกระจายทั่วกระทะ จากนั้นใส่ข้าวสวยที่คลุกมะเขือเทศลงไปผัด เติมซอสปรุงรส คลุกให้ทั่ว จากนั้นปิดเตา ตักใส่จาน โรยต้นหอมซอย เป็นอันเสร็จ
ปลาทูเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มี DHA โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 ไอโอดีน โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างพัฒนาการร่างกายและสมองของเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนผสม
ข้าวสวย 1 ถ้วย
ปลาทูย่าง 1 ตัว
หอมแดงซอย 3-4 แว่น
มะนาว ครึ่งซีก
น้ำตาลทราย 1 หยิบมือ
น้ำปลาอย่างดี 1 ช้อนชา
เครื่องเคียง
แตงกวา 1 ลูก
ไข่ต้ม 1 ฟอง
วิธีทำ
1. ใส่ปลาทู หอมแดง น้ำตาลทราย และน้ำปลาลงในชามข้าว
2. บีบมะนาวลงไป
3. คลุกเคล้าให้เข้ากัน
4. เสร็จแล้วจัดให้สวยงาม กินกับไข่ต้ม และแตงกวา เพิ่มวิตามินและความอร่อยยิ่งขึ้น
เด็กอนุบาลสามารถกินอาหารเหมือนกับผู้ใหญ่ได้แล้วนะคะ แต่ก็มีบางอย่างค่ะที่พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนส่วนผสมเล็กน้อย เพื่อให้เด็กๆ กินอาหารผู้ใหญ่ในรสชาติแบบเด็กๆ
ส่วนผสม
นมสดที่ลูกดื่ม ½ ถ้วยตวง
อกไก่ (ไม่ติดหนัง) หั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
เนื้อปลากระพงหั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
ฟักทองหั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
แครอตหั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
เนื้อมะเขือเทศ (ลอกเปลือก) หั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
ข่า ตะไคร้หั่นเป็นท่อน บุบพอแตก
ใบมะกรูด ผักชีฝรั่งหั่นฝอย 1-2 ช้อนชา
น้ำซุปผัก ½ ถ้วยตวง
เกลือป่น ¼ ช้อนชา
น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
วิธีทำ
1. ตั้งน้ำซุปผักให้เดือด แล้วค่อยใส่ข่า ตะไคร้ (ถ้าใส่ตะไคร้ในขณะน้ำยังไม่เดือด กลิ่นและรสจะเหมือนน้ำตะไคร้ และน้ำแกงจะมีสีเขียวอ่อน) และฉีกใบมะกรูดใส่ลงไปเพื่อให้มีกลิ่นหอม
2. ใส่ส่วนผสมที่เหลือตามลำดับการสุกยาก-ง่าย ยกเว้นนมสด พอทุกอย่างสุกดี จึงยกลง ปรุงรสแล้วค่อยใสส่นมสด และโรยผักชีฝรั่ง
Tip : เนื้อปลากระพงมีไอโอดีน สังกะสี ที่ช่วยในการเจริญเติบโต
Myth อ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร โตขึ้นตัวยืดเอง
Fact เด็กอ้วนส่วนใหญ่จะยังคงอ้วนจนเป็นผู้ใหญ่
Myth เด็กอ้วนน่ารัก สุขภาพดี
Fact เด็กอ้วนมากพุงย้อย มีหลายโรค ทั้งกรนเสียงดัง เบาหวาน ความดัน ขาโก่ง ขากาง ไขมันสูง
เคล็ดลับ : เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ห่างไกลโรคอ้วน
-เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
-เลิกนมมื้อกลางคืน อายุขวบครึ่งควรให้เลิกดูดนมขวด เด็กอนุบาลควรได้รับนมวันละ 2-3 มื้อ เด็กโตควรได้รับนมวันละ 2 มื้อ นมที่ให้เด็กควรเป็นนมจืด
-กินผักและผลไม้เป็นนิสัยทุกมื้อทุกวัน
-เลือกกินปลาเป็นหลัก กินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เลี่ยงส่วนหนัง
-หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสหวาน และขนมซองที่อุดมด้วยไขมันและน้ำตาล
-ไม่สอนให้เด็กกินจุบจิบ พ่อแม่บางคนกังวลว่าเด็กจะหิว จึงหาขนมและของว่างปรนเปรอเด็ก ทำให้เด็กกินเกินความต้องการจนติดเป็นนิสัย
-ไม่ซื้อขนม นมและอาหารสะสมไว้ในบ้าน เด็กยังไม่สามารถยับยั้งความอยากได้ เมื่อมีของอยู่ในบ้านมากก็จะหยิบกินครั้งละมากๆ จนหมดในเวลาอันสั้น และมีน้ำหนักเกินในที่สุด หากจำเป็นต้องซื้อตุนไว้ในบ้าน ให้เก็บไว้ในตู้ให้พ้นสายตาเด็ก
-สอนวินัยการกิน ให้กินอาหารเป็นเวลา ตักอาหารให้พอดีกิน ไม่กินทิ้งกินขว้าง การจัดอาหารของครอบครัวมีส่วนช่วยในการฝึกวินัย บางครอบครัวจัดอาหารมากเกินถึง 2-3 เท่า กระตุ้นให้เกิดการกินแบบไม่ยั้ง การสอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และกินพอดีอิ่ม จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ
-เน้นกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ลดการดูนั่งดูทีวีที่มักสัมพันธ์กับการกินขนมจุบจิบ มีข้อแนะนำให้เวลาหน้าจอทั้งหมด ซึ่งรวมดูโทรทัศน์ เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ต ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์
-สร้างนิสัยการออกกำลังกาย ทั้งที่เป็นการเล่นกีฬา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กฎกติกา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และที่เป็นกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้านร่วมกันทั้งครอบครัว เดินหรือขี่จักรยานแทนการนั่งรถ เดินแทนการขึ้นลิฟต์หรือบันไดเลื่อน เป็นต้น โดยให้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีทุกวัน เพิ่มเวลามากขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด
คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกไปเที่ยวทะเล ต้องระวังแมงกะพรุนไฟกันหน่อยนะคะ เพราะหากลูกไปสัมผัสแมงกะพรุนตัวร้ายเข้า อาจทำให้เกิดผื่นได้ ยิ่งเด็กๆ ผิวบอบบางมากๆ อาจมีแผลเป็นตามมาได้ค่ะ
วิธีสังเกตแมงกะพรุนที่มีพิษ หรือแมงกะพรุนไฟ
แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษจะถูกเรียกรวมๆ กันว่า แมงกะพรุนไฟ ส่วนใหญ่มีลำตัวสีแดงหรือสีส้ม จะมีพิษที่บริเวณหนวดที่มีน้ำพิษ ใช้สำหรับเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่สัมผัสได้ บริเวณที่ถูกกัดหรือสัมผัสนั้น จะปรากฏรอยคล้ายรอยไหม้เป็นผื่น
จากนั้นในอีก 20-30 นาทีต่อมา จะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนัง ต่อไปจะเกิดเป็นแผลเล็กๆ และแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง กล้ามเนื้อเกร็งและบังคับไม่ได้ จุกเสียด หายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการหลังโดนพิษ
หรือสัมผัสแมงกะพรุน ผื่นสัมผัสแมงกะพรุน เป็นปฏิกิริยาที่ผิวหนังเกิดความระคายเคือง หลังถูกแมงกะพรุนไฟมาสัมผัสร่างกาย ผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง ซึ่งสารพิษบางตัวนอกจากจะทำให้เกิดผื่นแพ้แล้ว ยังมีพิษต่อหัวใจอีกด้วย เมื่อโดนแมงกะพรุนไฟ บริเวณที่สัมผัสกับหนวดจะเป็นสีแดง เจ็บ บวม เป็นตุ่มน้ำใส อาจมีเนื้อบางส่วนเน่าตาย และท้ายสุดจะกลายเป็นรอยแผลเป็น
ในคนที่แพ้พิษของแมงกะพรุนจะมีอาการอย่างรวดเร็วภายใน 10 - 15 นาที อาการ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจลำบาก ชัก หมดสติ ดังนั้น ถ้ามีอาการแพ้รุนแรงควรรีบน้ำส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะมีโอกาสเสียชีวิตได้นะคะ
การดูแลแผล ปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน
- ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูนาน 30 วินาที หรืออาจใช้ผักบุ้งทะเลแทนได้
- ใช้น้ำทะเลราดบ่อยๆ และใช้สันมีดขูดกระเปาะพิษออก ไม่ควรราดแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำจืด เพราะจะทำให้พิษออกมามากขึ้นค่ะ
- ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากแผลจากแมงกะพรุนเป็นแผลหายยาก จึงมีโอกาสที่จะทิ้งแผลเป็นไว้ตลอดชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก
ช่วงโควิดระบาด! รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้น และ ลดลงทุกวัน หลายครอบครัวทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ก็อาจมีบางครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้นเราควรปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน 9 ข้อ เพื่อให้ห่างพ้นโควิด-19 กันค่ะ
ทางรักลูกคลับ มีการเตรียมตัวสู่ “New Normal” = New “Me” โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกันค่ะ
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ด้วย '9 New Normal'
-
ตั้ง Default ของชีวิตว่า “อยู่กับบ้าน” ออกจากบ้านเมื่อยามจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
-
ต้องเช็คอาวุธประจำตัวก่อนก้าวเท้าออกไปจากบ้าน “ใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์” พร้อมวางแผนให้ชัดว่าจะไปไหน ทำอะไร เจอใคร และพยายามจัดการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อลดเวลาสัมผัสผู้คนภายนอก หากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าไปลงแรงออกจากบ้านให้เสี่ยงเลย ใช้โทรหรือวีดิโอคอลล์ติดต่อแทนจะดีกว่า
-
ล้างมือเป็นประจำทุกครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงขณะอยู่ข้างนอก แต่ถ้าเผลอไปจับสิ่งของสาธารณะ หรือจับหน้ากากตัวเองเมื่อไหร่ ให้ล้างมือเมื่อนั้น และระวังอย่าเอามือไปขยี้ตาและล้วงแคะแกะเกาจมูกปาก
-
ใช้ขนส่งสาธารณะเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ถ้าจะใช้รถเมล์ รถไฟ รถตู้ ควรเช็คให้ดีว่าแออัดไหม ถ้าใกล้กันกว่าหนึ่งเมตร อาจต้องรับรู้ไว้ว่าเสี่ยงติดเชื้อนะ ไม่ไปจะดีกว่าไหม รอคันอื่น หรือเลือกเวลาที่ไม่แออัด แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องคอยสังเกตอาการ ประเมินความเสี่ยงของตนเอง เมื่อสงสัยควรรีบไปตรวจที่สถานพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์
-
ใช้บริการมอเตอร์ไซค์ นั่งซ้อนแล้วควรใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และสังเกตด้วยว่าคนขับนั้นใส่หน้ากากและใส่หมวกกันน็อคไหม ถ้าไม่ ก็ควรบอกให้ใส่ ถ้าไม่ใส่ ไม่ควรใช้บริการ ตอนนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ ควรหันข้าง ไม่นั่งคร่อม คุณผู้หญิงคงจะชิน แต่ผู้ชายอาจลำบาก ถ้าจะนั่งคร่อม อาจต้องหันหน้าไปด้านข้าง จะดีกว่า เพื่อกันไม่ให้เราหายใจรดหลังคนขับ แม้จะใส่หน้ากากแล้วก็ตาม
-
อยู่ข้างนอก ระแวงคนอื่นไว้เยอะๆ จะได้อยู่ห่างๆ จากเขา อย่างน้อย 1-1.5 เมตรเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดคุ้นเคย เจ้านายลูกน้อง หรืออื่นๆ เพื่อทั้งเราและเขาจะได้ปลอดภัย
-
“ยืดอก...พกถุง” พกถุงผ้าไว้ติดตัว เวลาซื้ออาหารหรือของจิปาถะจะได้ใช้ได้เสมอ ไม่ต้องแชร์ หยิบจับภาชนะกับคนอื่นในสังคม ไม่ติดไม่แพร่ถ้าไม่แชร์
-
จำไว้ว่า อย่าแชร์แก้ว แชร์ขวด แชร์ช้อนส้อมจานชาม หรือแม้แต่แชร์บุหรี่กับใครก็ตามที่ไม่ใช่ตัวเราเอง จำได้ไหมว่าแพร่กระจายกันกระจุยแถวทองหล่อ ดังนั้นต้องไม่ทำ ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน
-
กลับถึงบ้านอย่าเพิ่งไปกอดหอมทักทายคนรักคนใกล้ชิด ล้างมือก่อนเข้าบ้าน เข้าบ้านแล้วไปอาบน้ำก่อนดีกว่า
ที่มา : รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อะโวคาโดมีประโยชน์มากมาย แต่เจ้าอะโวคาโนั้นอาจกินยากสักนิด เพราะเป็นผลไม้ที่ไม่ค่อยมีรสชาติชัดเจนนัก ถ้าให้กินเปล่าๆ เด็กๆ อาจไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเราลองมาทำเมนูอะโวคาโดอร่อยๆ ที่เด็กหลายคนอาจจะเปลี่ยนจากไม่ชอบเป็นผลไม้สุดโปรดก็ได้ค่ะ
ส่วนผสม
อะโวคาโค 1 ผล
กล้วยหอม 2 ผล
นมสด 1 แก้ว (200 มล.)
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
ปั่นส่วนผสมทุกอย่างรวมกันอย่างละเอียด เสร็จแล้วเทใส่แก้ว หั่นกล้วยหอมเป็นแว่น โรยถั่ว เยลลี่ หรือ ช็อกโกแล็ตชิพ เป็นท็อปปิ้งก็ได้ค่ะ
เกี๊ยวนึ่งไส้ปลาทูเป็นอีกเมนูอาหารว่างเหมาะกับเด็กที่กำลังลดความอ้วนอยู่ (หรือเด็กที่ไม่ได้ควบคุมน้ำหนักก็กินได้) วิธีทำไม่ยุ่งยาก เข้าครัวแล้วเตรียมส่วนผสมกันเลยค่ะ
ส่วนผสม
เนื้อปลาทูนึ่ง 1-2 ตัว
แผ่นเกี๊ยว 10 แผ่น
แครอตหั่นละเอียด ครึ่งหัว
ข้าวโพดฝักแกะเมล็ดต้มสุก 1 ฝัก
ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา
วิธีทำ
1. เหยาะซีอิ๊วขาวลงในเนื้อปลาทูเล็กน้อย นวดจนเข้ากันได้ดี
2. ใส่ข้าวโพดต้มสุกและแครอต คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นห่อด้วยแผ่นเกี๊ยวนำไปนึ่งประมาณ 10-15 นาที เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เวลากินให้จิ้มซอสมะเขือเทศหรือจิ๊กโฉ่เพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ
Tip : เคล็ดลับในการนึ่งเกี๊ยวนั้นควรทาด้วยน้ำมันบางๆ ที่ก้นภาชนะ สำหรับนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกี๊ยวติด และเวลาวางควรเว้นช่องให้ไอน้ำผ่านได้ทั่วถึง จะทำให้เกี๊ยวสุกเร็วขึ้น
ลูกเริ่มกินอาหารได้หลากหลาย อาจได้ลองอาหารใหม่ๆ ที่อาจเสี่ยงแพ้ได้
มีวิธีสังเกตอาการของลูกที่อาจเกิดจากการแพ้อาหาร และการตรวจหาว่าลูกแพ้อะไร
สังเกตอาการแพ้อาหารของลูก
หากมีผื่นคัน ควรล้างและเช็ดให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ
หากถ่ายบ่อย อาเจียนบ่อย ให้ดื่มน้ำหรือดื่มเกลือแร่สำหรับเด็ก
หากอาการเหมือนเป็นหวัด ควรดูดน้ำมูกออก หรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
ป้องกันลูกแพ้อาหาร
อยากรู้ลูกแพ้อะไร...วิธีตรวจหาสารก่อภูมิแพ้
วิธีที่ 1 การทดสอบทางผิวหนัง (skin test)
-
ตรวจหาได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 เดือน (แต่เด็กต่ำกว่า 1 ปี การตอบสนองทางผิวหนังไม่ดีเท่าเด็กโต)
-
วิธีการทำที่บริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลัง โดยหยดน้ำยาสารก่อภูมิแพ้ แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดผิวหนัง
-
การตรวจหาทำได้ง่าย ใช้เวลารอผลตรวจเพียง 15 นาที
วิธีที่ 2 การเจาะเลือด (specific IgE)
* ทั้ง 2 วิธี สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ได้ทั้งการแพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ และภูมิแพ้จมูกอักเสบหรือหอบหืด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กส่วนใหญ่ชอบกินลูกชิ้นกัน แต่ว่าแม่ๆ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกชิ้นที่ซื้อมาจากตลาดนั้นจะปลอดภัย 100% เพราะฉะนั้นทำเองก็ได้ค่ะ ไม่ยากเลย
ส่วนผสม
เนื้อไก่สับ 100 กรัม
น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา
น้ำปลา 1 ช้อนชา
กระเทียมสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
คลุกเคล้าไก่ กระเทียม น้ำตาลทรายและน้ำปลาเข้าด้วยกัน
จากนั้นตักใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ตั้งหม้อต้มน้ำจนเดือด แล้วตัดปลายถุงไก่สับ ค่อยๆ บีบเนื้อไก่ออกมาเป็นก้อนใส่ลงในน้ำเดือด ต้มจนสุก
เสร็จแล้วก็ได้ลูกชิ้นไก่อร่อยๆ จะนำไปทำต้มจืด ใส่ผัดผัก ใส่ก๋วยเตี๋ยว กินกับข้าว หรือกินเปล่าก็อร่อยจ้า
เคล็ดลับความอร่อย :การเลือกใช้น้ำปลาอย่างดีในการปรุงรส จะทำให้ลูกชิ้นมีความหอม อร่อย รสกลมกล่อม ไม่เค็มจัด จนเกินไป