อาการชัก เป็นอาการทางระบบประสาทชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก อาการชักจะมีอาการแสดงที่ดูน่ากลัว จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลเวลาที่เห็นลูกชัก หรือกลัวว่าจะมีอาการชัก โดยเฉพาะอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอาการชักเวลามีไข้สูง ดังนั้น ในวันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องชักทั้งแบบปกติกับแบบที่ต้องระวังว่าจะเป็นโรคลมชักหรือโรคที่มีอาการรุนแรงกันนะครับ
ในช่วงวัยเด็ก อาการชักมักจะเกิดจากภาวะไข้ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะชักจากไข้” สังเกตนะครับ หมอใช้คำว่า “ภาวะ” ไม่ได้ใช้คำว่า “โรค” เพราะภาวะชักจากไข้ เป็นภาวะ “ปกติ” ที่อาการชักสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กที่มีไข้สูงโดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ
อย่างไรก็ดี หมอไม่ได้หมายความว่าภาวะชักจากไข้นี้ไม่อันตรายเลยนะครับ อาการชักก็ยังอันตรายอยู่ โดยเฉพาะหากเด็กมีอาการชักอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 15-30 นาทีก็อาจจะส่งผลเสียต่อสมองได้ ดังนั้น หากเด็กมีไข้สูง สิ่งสำคัญคือการเช็ดตัวลดไข้ ร่วมกับการกินยาลดไข้ครับ
หากเด็กมีอาการชัก สิ่งสำคัญคือการจัดท่าทาง ให้เด็กอยู่ในท่านอนตะแคง เพื่อให้น้ำลายไหลออกทางด้านข้างมุมปาก และห้ามเอาของใดๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือหรือช้อนมางัดปากโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ฟันหักลงไปอุดหลอดลมได้ และถ้าเด็กมีอาการชักต่อเนื่องเกินกว่า 5 นาที ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลครับ เพราะอาจจะต้องให้ยาฉีดเพื่อหยุดอาการชักครับ
นอกจากนี้ ในเด็กเล็กที่มีอาการชักร่วมกับไข้สูง และมีอาการซึม ไม่ค่อยตอบสนองร่วมด้วย หรือดูงอแงมากกว่าปกติ จะต้องระวังสาเหตุของอาการชักจากการติดเชื้อในสมองด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคสมองอักเสบ ซึ่งการติดเชื้อในสมองเป็นโรคที่รุนแรงมาก
หากแพทย์สงสัยภาวะนี้จะทำการตรวจด้วยการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังหรือที่รู้จักกันว่า “การเจาะหลัง” ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วคือการที่คุณหมอใส่เข็มคล้ายๆ เข็มเจาะเลือดแต่ใหญ่กว่านิดหน่อยเข้าไปในช่องกระดูกสันหลัง เพื่อนำน้ำไขสันหลังมาตรวจ โดยน้ำไขสันหลังเป็นของเหลวที่ไหลเวียนในสมองและไขสันหลัง แต่ที่ต้องเจาะที่หลัง เพราะในกะโหลกศีรษะมันไม่มีช่องให้เจาะได้ครับ หากผลการตรวจน้ำไขสันหลังบ่งว่าจะมีการติดเชื้อในสมอง คุณหมอจะมีการให้ยาเฉพาะในการรักษาด้วยครับ
ส่วน โรคลมชัก (epilepsy) เป็น “โรค” จึงมีความหมายบ่งถึงความผิดปกติแน่ๆ คำว่า “ลม” หมายถึงอาการมาไวไปไว คือ เคยเป็นปกติมาตลอด อยู่ๆ ก็มีอาการชักขึ้นมา แล้วสักพักอาการก็หายไป กลับมาเป็นปกติอีก บางคนก็เรียกโรคนี้ว่า โรคลมบ้าหมู ซึ่งเป็นโรคเดียวกันครับ
ตัว โรคลมชัก เป็นโรคทางสมองที่เจอได้ไม่น้อยนะครับ พบได้ราวๆ ร้อยละหนึ่งของประชากร ก็ราวๆ 700,000 คนของประชากรไทยเลยทีเดียว โดยโรคลมชักคือ โรคที่อาการชักจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยอะไรมากระตุ้น คือไม่ต้องมีไข้ก็มีอาการชักได้ เพียงแต่บางรายจะมีอาการไข้เป็นกระตุ้นให้ชักในครั้งแรกๆ ของการชัก คือเด็กจะมีอาการคล้ายภาวะชักจากไข้นำมาก่อน
ดังนั้น จุดที่ทำให้หมอสงสัยว่าเด็กอาจจะมีโรคลมชักแอบแฝง (คือไม่ได้เป็นแค่ชักจากไข้) ก็คืออาการไข้ที่ไม่สูงแต่กลับทำให้เด็กชัก อาการชักเฉพาะที่ เช่น กระตุกแขนขาข้างเดียว หรืออาการชักที่นานกว่า 15 นาที รวมถึงอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำในรอบไข้เดียวกัน รวมถึงอาการชักที่เกิดในเด็กโตที่มีไข้ เพราะในเด็กที่อายุเกิน 6 ปี อาการไข้สูงจะไม่ทำให้เด็กมีอาการชักแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณหมอที่รักษาเกิดเอะใจว่า อาจจะไม่ใช่แค่ชักจากไข้ธรรมดา ต้องตรวจหาโรคลมชักด้วย
ในปัจจุบัน การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(electroencephalography หรือ EEG) ก็เป็นวิธีที่ช่วยบอกความเสี่ยงได้ว่าเด็กคนนั้นมีโอกาสจะเป็นโรคลมชักหรือไม่ การพบคลื่นชักจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะเป็นปัจจัยที่บ่งว่าอาการชักน่าจะเกิดจากโรคลมชัก แต่ในรายที่ไม่พบคลื่นชักก็ไม่ได้แปลว่าเป็นปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในรายที่อาการยังไม่ชัด
ตัวคลื่นสมองที่ผิดปกติหรือคลื่นชักอาจจะยังไม่ปรากฏให้เห็นจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองตามมาตรฐานเป็นระยะเวลาครึ่งชั่วโมง โดยในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักแล้ว จะต้องได้รับการรักษาด้วยยากันชักเพื่อควบคุมอาการชักไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยต้องกินยากันชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ต่างจากอาการชักจากไข้ที่ไม่ต้องรักษาด้วยยากันชัก แต่เน้นการป้องกันอาการชักด้วยการลดไข้เป็นหลัก
ในส่วนของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า หรือในกลุ่มเด็กพิเศษ ก็มีโอกาสที่จะมีภาวะชักจากไข้ และโรคลมชัก ได้ค่อนข้างบ่อยกว่าเด็กทั่วๆ ไปครับ ทั้งนี้เพราะในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการเหล่านี้ มักจะมีความผิดปกติของสมองร่วมด้วย แม้จะไม่มากแต่ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์สมองจนทำให้มีอาการชักได้
ประเด็นสำคัญคืออาการชักในเด็กที่พัฒนาการช้าบางครั้งจะสังเกตได้ยาก เช่น อาการชักแบบเหม่อ ซึ่งไม่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กกำลังเล่นหรือกำลังมองอะไรอยู่ อาการชักแบบตัวอ่อน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยล้มลง และอาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาการทรงตัวไม่ดี หรืออาการชักแบบเกร็งในเด็กซีพี ซึ่งมีอาการเกร็งตัวหรือเหยียดตัวเวลาจะแสดงอารมณ์อยู่แล้ว
อาการชักในรูปแบบเหล่านี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาทางสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษ สิ่งที่หมออยากจะเน้นในกลุ่มเด็กพิเศษก็คือ หากเด็กมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ตอนมีอาการเด็กดูไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือการสัมผัสจากผู้ดูแล ควรจะต้องระวังว่าเด็กอาจจะมีอาการชักร่วมด้วยครับ
กล่าวโดยสรุป อาการชักเป็นอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก โดยอาการชักที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กเวลามีไข้สูงอาจจะเกิดจากภาวะชักจากไข้ได้ แต่ที่ต้องระวังคือการติดเชื้อในสมอง ส่วนในรายที่มีอาการชักเกิดขึ้นโดยที่อาการไข้ไม่ชัดเจนหรือชักโดยไม่มีไข้ จะบ่งถึงโรคลมชักซึ่งจะต้องรักษาด้วยยากันชักอย่างต่อเนื่อง
ในกลุ่มเด็กพัฒนาการช้าหรือกลุ่มเด็กพิเศษจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักและเป็นโรคลมชักได้บ่อยกว่าเด็กทั่วๆ ไป สิ่งสำคัญคืออาการชักในกลุ่มเด็กพิเศษอาจจะสังเกตได้ยาก แต่หากพบว่าเด็กมีอาการแปลกๆ หรือมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม และเกิดขึ้นซ้ำๆ ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่าจะเป็นโรคลมชักร่วมด้วยหรือไม่ครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง