หนูพยายามให้ปู่ย่า(หรือตายาย) อ่านที่คุณหมอเขียนหรือที่คุณหมอท่านอื่นๆ เขียนเพจ ท่านไม่ยอมอ่านบอกว่าเหลวไหลไร้สาระ พวกชั้นเลี้ยงแกมาแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร ป้อนข้าว ดูทีวี ไม่ให้เล่นสกปรก พวกแกก็โตมาได้
จุดตัดสำคัญน่าจะอยู่ที่ปี 2000 คือเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ เป็นช่วงเวลาโดยประมาณที่ประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย มีเราต์เตอร์ มีเกมออฟไลน์ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ตไร้สาย มีไวไฟ มีเกมออนไลน์ ตามด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์คเริ่มจากไฮไฟว์มาจนถึงเฟซบุ๊คโลกเปลี่ยนไปแล้ว
การเลี้ยงลูกตามมีตามเกิดเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ในจังหวัดพระนครที่มีทีวีสองช่องคือช่องสี่บางขุนพรหมและช่องเจ็ดกองทัพบก ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี พศ.2526 มีช่องเดียวคือช่องเจ็ดสีทีวีเพื่อคุณ แต่การเลี้ยงลูกบนโลกที่มีทีวีมากกว่า 200 ช่องและโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีพลังทะลักทะลวงเข้าหาลูกของเราใต้ผ้าห่มตอนตีสองหรือในห้องส้วมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว
เด็กสมัยก่อนอาจจะไม่ต้องมีความสามารถควบคุมตนเอง self-control หรือกำกับตนเอง self-regulation อะไรมากมาย เดินป้อนข้าว ดูทีวี เลี้ยงมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม พวกเขาก็อาจจะรอดได้ เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าวแผ่นดินของเราร่วมด้วยช่วยกัน
แต่วันนี้เด็กที่ไม่มี EF ไร้ความสามารถที่จะบังคับตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้อง พวกเขาไม่น่าจะรอด ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าในน้ำไม่มีปลาในนาไม่มีข้าว มีไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด น้ำพิษและหมอกควันพิษ เราไม่ช่วยกันอีกต่อไปแล้ว รัฐยังไม่ช่วยเราเลย ใครดีใครได้
การป้อนข้าวกลายเป็นประเด็น เราพบว่าเด็กที่นั่งกินข้าวด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยช้อนหรือด้วยมือ จะมีความสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่าในวันหน้า และพัฒนาการด้านอื่นๆ ดีๆตามๆกันมาเสมือนโดมิโน่
การดูทีวีก่อน 2 ขวบกลายเป็นประเด็น ทีวีมิได้มีแค่ทีวีแต่ยังมีหน้าจอทุกชนิดคือคลิป ยูทู้บ และบิลบอร์ดบนถนน เหล่านี้กระทบการก่อร่างสร้างตัวของวงจรประสาทและการวางขดลวด (wiring) ของเส้นประสาทในสมอง ซึ่งเปรียบเสมือนฐานราก สถานี ชานชาลา และรางรถไฟที่ดีของ EF ในอนาคต
ปู่ย่าตายายเป็นผู้มีพระคุณ ท่านรักหลานโดยไม่มีเงื่อนไขแต่ประโยคที่ว่า “รักลูกให้ถูกทาง” ยังคงเป็นความจริงเสมอ ปู่ย่าตายายเป็นบุคคลที่เราสมควรเคารพและแสดงความกตัญญู
แต่ประโยคที่ว่า “รักพ่อแม่ให้ถูกทาง” ก็มีประเด็นด้วย การที่เราสปอยล์ (spoil) ปู่ย่าตายายมากเกินไปสามารถก่อปัญหาอื่นตามมาได้เช่นกัน ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าไวไฟและสมาร์ทโฟนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของปู่ย่าตายายด้วย มิเพียงโลกที่เปลี่ยนไป ปู่ย่าตายายก็เปลี่ยนไป
เราควรเจรจาต่อรองกับปู่ย่าตายาย เจรจาต่อรองหมายถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า สินค้าบางชนิดเราไม่ควรเอาไปแลก เช่น การป้อนข้าว การดูหน้าจอ สินค้าบางชนิดเราอาจจะพอแลกได้บ้าง เช่น เลี้ยงลูกมดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม การแลกเปลี่ยนสินค้ามิได้หมายถึงการแลก 1 ต่อ 1 แต่เราพิจารณามูลค่าของสินค้าได้ด้วย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล