ขอเรียนถามลูกชายอายุ 5 ขวบ วันก่อนเขาเล่นในสนามดีๆ มีเด็กผู้ชายสองคนมารบกวนเขา เขาพยายามพูดดีๆ ก็ไม่ไป สุดท้ายเขาเลยเลิกเล่นเดินหนี สองคนนั้นก็เดินตามไม่เลิก เขาหันไปพูดว่า “เดี๋ยวถีบเลย!” หนูได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจเท่าไรนัก เราควรสอนให้ลูกปกป้องสิทธิของตัวเองมากน้อยแค่ไหน และลูกเราเองก็ไม่เข้าข่ายว่าทำรุนแรงเกินไป
หลักการขั้นต้นคือเราควรสอนให้ลูกป้องกันตัวเองได้ และป้องกันสิทธิของตัวเองได้ บางครั้งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะสอนอย่างไร เพราะในแต่ละสถานการณ์มีรายละเอียดและความซับซ้อนต่างๆ กัน ดังนั้นโดยรวมๆคือเรา “ไฟเขียว” ให้เด็กป้องกันตัวเองได้ก่อน
ใช้คำพูดง่ายๆ ได้ครับ เช่น ลูกอย่ายอมให้ใครทำร้ายร่างกายลูกนะ หรือ ลูกอย่ายอมให้ใครมาเอาของของลูกไปโดยที่ลูกไม่เต็มใจนะ เป็นต้น ด้วยวิธีนี้ เด็กจะได้สัญญาณจากคุณพ่อคุณแม่ว่าทำได้ ทำอะไรสักอย่างได้ เขาก็จะได้ทำสักอย่าง แน่นอนว่าเขายังเป็นเด็ก เขาไม่รู้หรอกว่าอะไรที่ทำไปนั้นเหมาะสมหรือเปล่า ดีหรือเปล่า มากไปมั้ย หรือว่าน้อยไป เพราะเขาเป็นเด็กเขาจึงควรได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนา
เราไฟเขียวให้เขาทำ เราจึงควรหาเวลาในตอนเย็นๆ ได้พูดคุยกับลูก เปิดโอกาสให้เขาเล่าว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ทำแล้วดีมั้ยชอบมั้ย รู้สึกอย่างไรบ้าง ไปจนถึงหากครั้งหน้าพบเหตุการณ์แบบนี้อีก ถูกกลั่นแกล้งแบบนี้ ถูกรบกวนแบบนี้ ลูกคิดว่าทำแบบเดิมดีมั้ยหรือจะใช้วิธีไหนดี เราทำท่าสนใจ ใส่ใจ เอามือกุมขมับ ช่วยเขาคิดหัวแทบแตกได้ว่าทำอย่างไรดี เชื่อเถอะครับว่าบางครั้งเราเองก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร แต่การได้พูดคุยกัน เขาจะพัฒนาแน่ บางทีเขาก็ไม่สามารถหาคำตอบที่ดีที่สุดได้ระหว่างที่นั่งคุยหรือนอนคุยอยู่กับเรา แต่สมองเขาทำงานอยู่ เมื่อพบวิกฤตการณ์ใหม่เขาจะพัฒนาไปจากเดิม
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่วิธีไหนดีกว่าวิธีไหนจริงๆ นี่ครับ ดังที่ทราบว่าเราก็ไม่แน่ใจนักหรอกว่าแบบไหนดี ที่สำคัญกว่าคำตอบคือการได้ทดลองทำแล้วประเมิน ที่เราอยากให้ลูกมี อยากให้ลูกเป็น คือความสามารถในการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างแล้วประเมิน ไม่ดีทำใหม่ ดีแล้วทำอีก ดีจนเบื่อก็เปลี่ยนวิธีบ้าง เป็นต้น
การกลั่นแกล้งรวมทั้งการละเมิดสิทธิกันในบริเวณโรงเรียนหรือแม้แต่ที่สนามเด็กเล่นมีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน คือในโซเชียลมีเดีย ยากแก่พ่อแม่ที่จะรู้ไปหมดแล้วตัดสินใจแทนลูก เราควรมีความคิดคำนึงเรื่องการฝึกให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเองแล้วประเมินตนเอง เราทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี ผู้ฟังที่ดีจะเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เขาเห็นตนเอง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล