เด็กแต่ละวัยมีพื้นฐานทางอารมณ์และพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน
เด็กวัยแรกเกิด - 1 ปี เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการรับรู้ด้านประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติ การที่ลูกอารมณ์ไม่ดี อาจเกิดจากการได้ยินเสียงบางอย่าง หรืออารมณ์ไม่ดีเวลาเห็นของบางอย่างที่เขาดูแล้วไม่เข้าใจ เช่น ตุ๊กตาไขลาน เพราะเด็กบางอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ทำไมถึงเคลื่อนที่ได้ เมื่อเห็นแล้วก็รู้สึกไม่ชอบสิ่งนั้น
เด็กวัย 2-3 ขวบ เป็นวัยที่ยึดตัวเองเป็นหลัก จะหวงของ ไม่แบ่งใคร เอาแต่ใจตนเอง จึงเป็นช่วงวัยที่มีนิสัยชอบขี้วีนขี้เหวี่ยง
เด็กวัย 3-4 ปี อารมณ์แปรปรวน อ่อนไหว หรือฉุนเฉียวได้ง่าย พ่อแม่บางคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมลูกถึงได้ดื้อนัก ซึ่งตามพัฒนาการของเด็ก วัยนี้จะเริ่มมีความรู้สึกอยากท้าทายผู้ใหญ่ อยากทำตาม อยากค้นหาตัวเอง และเมื่อลูกทำอะไรได้เอง ก็จะเริ่มขัดใจพ่อแม่
เด็กวัย 3-6 ปี เริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองจึงไม่แปลกถ้าเขาจะมีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่มากกว่าเด็กวัยอื่นๆ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ก็อาจไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาช่างเจ้าอารมณ์ยิ่งนัก
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจ และไม่ควรตอบสนองลูกทุกครั้ง เพราะถ้าลูกทำกับพ่อแม่ได้ เขาก็มีแนวโน้มจะไปทำกับคนอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงทักษะสังคมในอนาคตของลูก
หาขอบเขตที่เหมาะสมให้ลูก อาจไม่ใช่การสร้างกฎข้อบังคับเสียทีเดียว แต่เป็นการทำข้อตกลงหรือต่อรองซึ่งกันและกัน ว่าสิ่งไหนที่ลูกสามารถทำได้ สิ่งไหนที่ทำไม่ได้ และถ้าหากลูกไม่หยุดหรือไม่ยอมเชื่อฟัง เขาก็ต้องได้รับบทลงโทษ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พ่อแม่เองต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงกับลูกเช่นกัน เพราะการใช้อารมณ์ ใช้ไม้เรียว หรือแม้แต่คำพูดที่รุนแรงจะทำให้ลูกรู้สึกแย่และเห็นเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ซึ่งเขาก็อาจนำไปใช้กับผู้อื่น หรือมีการต่อต้านพ่อแม่เกิดขึ้น
แม้ว่าในบางครั้งที่ลูกอาจจะก้าวร้าว เกเร ดื้อ ซน แต่ถ้าเขาไม่ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของให้เสียหาย เขาก็ยังสามารถแสดงอาการเหวี่ยงวีนออกมาได้ ตราบใดที่เขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะธรรมชาติของลูกเป็นแบบนั้นค่ะ
อย่าช่วยลูกมากจนเกินไป ควรให้ลูกได้ช่วยเหลือตนเองบ้าง ให้เขาได้แสดงความคิดตามขอบเขตของเขา และไม่ว่าจะผิดหรือถูก ลูกมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น เพียงแต่พ่อแม่ต้องคอยสอนว่าอะไรควรไม่ควร อาจจะให้คำแนะนำ หรือใช้คำถามในลักษณะที่เกิดการต่อยอดหรือเกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา
ไม่ควรห้ามความรู้สึกของลูก เพราะเรื่องของความรู้สึกเราห้ามกันไม่ได้ ยิ่งเด็กๆ ที่มักจะอารมณ์อ่อนไหวง่าย ในยามโกรธ เสียใจ ทุกข์ใจ พ่อแม่ต้องไม่ปิดกั้นอารมณ์ของลูก เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกมีปัญหาได้ คือ เขาจะไม่เชื่อใจตนเอง ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะก้าวร้าวรุนแรง หรือบางคน ก็เป็นเด็กขี้วิตกกังวล ขณะเดียวกันถ้าเด็กคนไหนที่ได้รับการฝึกฝนมาบ่อยๆ พ่อแม่ฝึกมาแล้วจากที่บ้าน เขาก็จะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ดี
อย่างที่บอกไปว่า เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบ และพ่อแม่คือต้นแบบของเขา เวลาที่พ่อแม่สอนลูกแล้วไม่สามารถทำให้เขาเห็นเป็นแบบอย่างได้ จะทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของลูกได้
ยิ่งถ้าลูกต่อต้านพ่อแม่แล้วพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในครอบครัว และอาจส่งผลให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว หรือในทางตรงกันข้ามก็คือ พ่อแม่ยอมตามใจลูกไปเสียหมด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ นานวันเข้าลูกก็จะเคยตัว ที่สุดก็นำพฤติกรรมเหล่านี้ออกไปแสดงให้คนอื่นเห็น
ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรคาดหวังกับลูกมากเกินไป แต่ควรเปิดใจเรียนรู้ และสัมผัสพื้นอารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน โดยเฉพาะช่วงวัย 0-6 ปี ถ้าเราดูแลพื้นอารมณ์ลูกได้ดี ลูกก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์และพัฒนาการอย่างแน่นอน