ซึ่งทักษะ EF นี้จะพัฒนาได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เด็กได้รับ และเด็กแต่ละคนก็พัฒนา EF ได้ไม่เหมือนกัน แต่กิจกรรมต่อไปนี้ จะช่วยให้พ่อแม่มีวิธีพัฒนาทักษะ EF ให้ลูกค่ะ
1. ทำอาหารร่วมกัน สอนให้ลูกรู้จักวัตถุดิบต่าง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เครื่องปรุงต่างๆ พาลูกไปจ่ายตลาดเพื่อให้เห็นของที่หลากหลายและแยกเป็นหมวดหมู่ และรู้จักรอคอย เช่นรอจ่ายเงินหรือรอให้พ่อแม่ซื้อของให้เสร็จ จากนั้นคือขั้นตอนของการทำอาหาร ที่ลูกจะได้เห็นแต่ละขั้นตอน ทำอะไรก่อนหลัง และอดใจรอเมื่ออาหารเสร็จแล้ว
พัฒนา EF.. Working Memory Inhibit Focus/Attention และ Planning/Organizing
2. พาลูกไปเจอสัตว์เป็นๆ และอยู่กับธรรมชาติ เด็กๆ มักจำสิ่งที่เป็นของจริงได้มากกว่าเห็นแค่รูปภาพหรือภาพในทีวี การให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จริง จะทำให้เขาจำเรื่องเล็กน้อยๆ ลักษณะพิเศษของสิ่งๆ นั้นได้มากกว่า ทั้งจำได้ถึงประสบการณ์ร่วมของตัวเอง พ่อแม่ และสิ่งที่พบเจอได้ด้วย
พัฒนา EF.. Working Memory และ Focus/Attention
3. เบี่ยงเบนความสนใจเวลาที่ลูกอารมณ์ไม่ดี เช่น ขณะแม่ขับรถอยู่ และลูกนั่งในคาร์ซีท หากลูกอารมณ์ไม่ดีร้องไห้งอแงจะออกจากคาร์ซีท พ่อแม่อาจชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้นับ 1 – 10 ให้นับเสาไฟ ให้นับนกที่บินผ่าน หรือแม้แต่บอกสีรถคันที่ขับผ่านมา จะช่วยให้ลูกเกิดความยับยั้งชั่งใจ ทั้งช่วยตอกย้ำความจำในเรื่องต่างๆ ได้ด้วย
พัฒนา EF.. Working Memory Inhibit และ Focus/Attention
4. ให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด เช่น พ่อแม่ห้ามลูกไม่ให้กระโดดลงจากม้านั่ง เตือนแล้วว่าถ้ากระโดดลงมาแล้วล้ม เจ็บแล้วจะไม่มีคนโอ๋ หากลูกยังดึงดัน พ่อแม่ก็ต้องทำตามที่พูด ลูกจะเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงผลของการกระทำของตัวเอง แต่ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ
พัฒนา EF.. Working Memory Inhibit และ Emotional Control
5. ปล่อยให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การขอร้องให้ลูกช่วยเรื่องต่างๆ หรือสร้างสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกรู้จักและฝึกแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาของลูกในสถานการณ์ที่เหมือนกันนั้น อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งได้
พัฒนา EF.. Working Memory Shift Cognitive Flexibility Emotional Control Initiating Goal-directed Persistence และ Planning/Organizing
6. ให้ลูกฝึกคิดเลขได้มากกว่าการคิดเลข การซื้อของไปแจกเพื่อนๆ ในห้อง อาจจะได้มากกว่าแค่ถามลูกว่าเพื่อนมีกี่คน ต้องซื้อของกี่ชิ้นจึงจะพอ เช่น ขนมมีซองละ 5 ชิ้น ในห้องรวมลูกแล้วมี 21 คน ลูกจะมี 2 ทางเลือก ว่าจะซื้อ 4 ซอง 20 ชิ้น หรือ 5 ซอง 25 ชิ้น ลูกอาจจะบอกว่าซื้อแค่ 4 ซองพอ เขาไม่กินก็ได้ เสียสละให้เพื่อน นอกจากจะได้เรื่องคณิตศาสตร์ ยังแสดงให้เห็นว่าลูกคิดอะไรอยู่อีกด้วย
พัฒนา EF.. Working Memory Shift Cognitive Flexibility และ Initiating
7. ฝึกความจำด้วยกิจกรรม 3 อย่าง ให้ลูกลองทำภารกิจ เช่น ให้ลูกไปเอาน้ำในตู้เย็น ขนมในถุง และกระดาษทิชชู่ แล้วคอยดูว่าลูกจะเอามาให้ได้ทั้งหมดหรือไม่ นอกจากลูกจะต้องจำภารกิจให้ครบหมดแล้ว ยังต้องรู้จักวางแผนให้การเดินไปเอาด้วยว่า จะหยิบอะไรก่อนหลัง หรือถือแค่สองมือไม่พอ ต้องเอามาวางก่อนแล้วกลับไปเอาอีกที เป็นต้น
พัฒนา EF.. Working Memory Shift Cognitive Flexibility Goal-directed Persistence และ Planning/Organizing
8. สร้างเงื่อนไขสร้างนิสัยดี เด็กวัยนี้หากอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ มักมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ และโมโห พ่อแม่ควรสร้างเงื่อนไขที่แก้ไขอารมณ์ลูก และสร้างนิสัยดีไปพร้อมๆ กันได้ เช่น แม่กำลังล้างจานอยู่ แต่ลูกจะให้แม่หยิบขนมให้ แม่ยังหยิบไม่ได้ เลยบอกลูกว่าให้ลูกรอแม่ล้างจานเสร็จก่อน และต้องพูดเพราะๆ กับแม่ด้วย ถ้าลูกยังดื้อไม่ทำตาม แม่ก็ล้างจานต่อไป เมื่อไหร่ที่ลูกยอมทำตามเงื่อนไขของแม่แล้ว ลูกก็จะได้เรียนรู้จักหักห้ามใจตัวเอง และทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ด้วย
พัฒนา EF.. Working Memory Shift Cognitive Flexibility และ Inhibit
กิจกรรมพัฒนา EF ให้ลูกน้อย พ่อแม่ต้องทำต่อเนื่อง ปรับใช้ให้เข้ากับลูกตัวเองโดยอาจไม่เห็นผลในทันทีทันใด แต่จะเห็นผลในระยะยาวค่ะ