ทุกวันนี้สถานการณ์เด็กอ้วนในไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งมาจากการกินขนมจังก์ฟู้ดแบบถุงทั้งหลายที่อุดมไปด้วยเกลือและ ไขมัน แต่จะห้ามไม่ให้เจ้าตัวเล็กวัยเตาะแตะกินขนมถุงตามพี่ๆ ในช่วงปิดเทอมอย่างนี้ก็คงยาก แต่มีวิธีหนึ่งที่ช่วยเบี่ยงเบนความอร่อยจากขนมกรุบกรอบทั้งหลาย ก็คือฝีมือทำขนมของคุณแม่นี่ล่ะค่ะ
อาหารว่างVSอาหารเสริม
แรกๆ ที่เจอคำถามของบรรดาคุณแม่ว่าอาหารว่างกับอาหารเสริมต่างอย่างไร Madame ก็ถึงกับอึ้งกิมกี่ไปเหมือนกัน แต่พอค้นข้อมูลและพูดคุยกับผู้รู้บ่อยๆ เข้าถึงรู้ว่า อาหารว่างหรือของว่างนั้นไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าทางสารอาหารครบ 5 หมู่เหมือนอย่างอาหารเสริมค่ะ เช่น เด็กอายุ 8 เดือนคุณแม่ก็ให้ลูกกินผลไม้สัก 1 อย่าง เช่น มะละกอ กล้วย ฯลฯ เป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารเสริม 2 มื้อได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นลูกวัย 1 ปีขึ้นไปอาหารว่างก็มักจะมีการปรุงแต่ง เพื่อดึงดูดให้น่ากินมากขึ้น คราวนี้ล่ะค่ะของว่างแบบจังก์ฟู้ดที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปจะเข้าถึง ตัวลูกไปโดยปริยาย
กินของว่างดี...จริงอ่ะ
คำตอบคือจริงค่ะ เพราะนอกจากช่วยสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูก ไม่กินจุบกินจิบ อาหารว่างระหว่างมื้ออาหารไม่ว่าจะเป็นช่วงสายๆ หรือบ่ายๆ นี่ยังช่วยในการกระจายพลังงานของลูก ไม่ให้กินหนักมื้อใดมื้อหนึ่ง หรือหากมื้อหลักลูกกินอาหารได้ไม่ครบ 5 หมู่คุณแม่ก็ยังเสริมสารอาหารนั้นในมื้อว่างได้ แถมเวลาที่เจ้าตัวเล็กกระโดดโลดเต้นเล่นซนจนเหนื่อยอาหารว่างก็ไปช่วยเติม พลังให้สมอง ทำให้เซลล์สมองไม่ขาดสารอาหารไปหล่อเลี้ยง เจ้าตัวเล็กจะได้เติบโตสมวัยด้วยค่ะ
ของว่างแบบนี้ที่ต้องเลี่ยง...
แม้ของว่างจะมีข้อดีมากมายสำหรับลูก แต่ก็มีของว่างบางประเภทที่ไม่เหมาะให้เจ้าตัวเล็กกินเหมือนกันค่ะ
* แป้งปรุงรส เช่น โดนัท แครกเกอร์ เพรสเซล คัพเค้ก คุกกี้ ฯลฯ เพราะขนมพวกนี้มีเพียงแป้งและสารที่ให้พลังงานเป็นส่วนประกอบเสียส่วนใหญ่ แต่ไม่มีโปรตีน
แทนที่ด้วย...คุกกี้แบบไขมันต่ำ เค้กแบบไขมันต่ำ แครกเกอร์แบบไขมันต่ำ หรือถ้าจะให้ลูกกินขนมปังควรเป็นแบบมีไส้ที่มีโปรตีน เช่น หมูหยอง ทูน่า ฯลฯ และต้องไม่ใช่ไส้ครีมและแยมค่ะ
* ธัญพืชหรือผักต่างๆ ปรุงรส เช่น มันฝรั่งทอดแบบต่างๆ เพราะทอดด้วยน้ำมันเยอะ แถมยังมีเกลือและสารปรุงรสต่างๆ หากลูกกินบ่อยๆ จะติดรสหวาน มัน เค็ม จนไม่กินอาหารจืด แทนที่ด้วย...ซีเรียลต่างๆ เช่น ข้าวโอ็ต ข้าวโพดอบ (ถ้าทำเองก็เลือกใช้ไขมันที่ดีในการอบ เช่น ใช้เนยสดแทนมาการีน เพราะมาการีนเป็นไขมันที่มีการดัดแปลงไม่ดีต่อสุขภาพ) ผักและผลไม้อบแห้ง เป็นต้น
* เนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น เบคอน แฮม ฯลฯ ไม่ควรกินล้วนๆ แต่ควรทำเป็นไส้ขนมปัง หรือทำสลัดจานเล็ก เพราะมีไขมันเป็นส่วนประกอบมากกว่าโปรตีน
แทนที่ด้วย...โยเกิร์ตรสธรรมชาติหรือใส่ผลไม้สด หรือชีส
* น้ำตาล เช่น น้ำหวาน สแน๊คบาร์ ช๊อคโกแล๊ค น้ำอัดลม ลูกอม ฯลฯ เพราะขนมกลุ่มนี้มีน้ำตาลที่ร่างดายดูดซึมและนำไปใช้ได้ทันทีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกอิ่มตลอดเวลา และไม่อยากกินอาหารมื้อหลัก แทนที่ด้วย... แทนที่ด้วยผลไม้สดต่างๆ แต่คุณแม่ต้องให้ลูกกินในปริมาณที่พอเหมาะค่ะ เช่น ลูกอม 1 ลูกแทนที่ด้วยส้ม 1/3 ลูก เป็นต้น
ทั้งหมดที่ว่ามาเชื่อว่าคุณแม่คงจะเห็นความจำเป็นของอาหารว่าง และรู้แล้วว่าของว่างที่ขายอยู่ตามท้องตลาดเป็นอย่างไร และเพื่อช่วยให้คุณแม่มีเมนูของว่างทางเลือกเพื่อเจ้าตัวเล็ก Madame มีของว่างรสชาติดีมาเสนอซึ่งถ้าได้ลองแล้วเด็กๆ น่าจะถูกปากติดใจด้วยค่ะ
*********************
Notes
* อาหารว่างควรห่างจากอาหารมื้อหลักประมาณ 2-3 ชั่วโมง
* ถ้าลูกกินอาหารมื้อหลักที่ให้พลังงานน้อย เช่น โจ๊กหมูสับ ข้าวต้มทรงเครื่อง คุณแม่ก็เติมพลังงานในอาหารมื้อว่างด้วยอาหารทอด เช่น ข้าวตัง ข้าวเกรียบ ฯลฯ แต่ถ้าคุณแม่เห็นว่าอาหารมื้อหลักของลูกให้พลังงานเพียงพอแล้ว อาหารมื้อว่างก็ไม่ควรเป็นอาหารทอด เพราะอาหารที่ทอดจะมีพลังงานมาก ควรเลือกเป็นประเภทอบหรือนึ่งแทน เช่น แซนวิชด์ทูน่า กระเบื้องแก้วรวมมิตร ปั้นก้อนนึ่ง เป็นต้น