เพื่อให้การกินของเด็กวัย 1-3 ปี ได้ผลลัพธ์ ทำให้ลูกมีร่างกายที่เติบโตแข็งแรง พัฒนาการดี อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ และเสริมด้วยวิธีปฏิบัติดังนี้
1 ฝึกให้กินอาหารสามมื้อเหมือนผู้ใหญ่ โดยให้ร่วมโต๊ะพร้อมทุกคนในบ้าน และต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรับประทานให้เด็กวัย 1-3 ปี เห็น อย่าเลือกหรือแสดงอาการไม่ชอบอาหารต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกไม่ชอบการกินได้
2 อาหารที่เตรียมสำหรับเด็กวัย 1- 3 ปีใน 1 วัน ควรมีให้ครบทั้งห้าหมู่ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเคร่งครัดว่าใน 1 มื้อต้องมีให้ครบทั้ง 5 หมู่หรอก ใช้วิธีประเมินรวมๆใน 1 วันละกัน
3 ลักษณะอาหารของเด็กวัย 1-3 ปี ต้องไม่แข็งหรือเหนียวเกินไป แต่ไม่จำเป็นต้องสับเสียจนละเอียด เพราะเด็กจะไม่ได้ฝึกเคี้ยวอาหาร อาจกลายเป็นเด็กกินอาหารยากในอนาคตได้
4 เด็กวัย 1-3 ปีเป็นช่วงที่เริ่มกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้บ้างแล้ว ต้องหัดให้กินอาหารแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยกิน โดยเริ่มให้ทีละอย่าง ครั้งละน้อยๆ ก่อน และหากเด็กปฏิเสธอย่าเพิ่งถอดใจ ให้หยุดไปสัก 1 อาทิตย์ก่อน แล้วลองใหม่
5 เด็กวัย 1-3 ปี ยังไม่ชัดเจนเรื่องชอบหรือไม่ชอบอาหารประเภทใดนัก ฉะนั้นควรปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้หลากหลาย มีสีสัน หน้าตาแปลกตา รสชาติใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ จะช่วยทำให้เด็กตื่นเต้นและสนใจในการกินมากขึ้น
6 อย่าให้เด็กกินจุบจิบ ขนมหวาน ช่วงใกล้มื้ออาหาร เพราะจะทำให้กินอาหารหลักได้น้อยลง ถ้าลูกหิวก่อน คุณแม่อาจเริ่มเร็วสักหน่อย หรืออาจให้ผลไม้ไปก่อนก็ได้
7 เด็ก 1-3 ปี ไม่ได้ต้องการอาหารมากอย่างที่คิด แล้วเด็กแต่ละคนก็ต้องการอาหารมากน้อยไม่เท่ากัน ฉะนั้นอย่าไปคะยั้นคะยอให้เด็กกินเยอะๆ เพื่อความสบายใจของตัวเองเท่านั้น
8 เด็กวัย 1-3 ปี กำลังสนใจโลกรอบตัว อะไรที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากอาหารตรงหน้าต้องตัดออกให้หมด
9 ไม่ควรใช้รางวัลล่อใจ เพื่อต่อรองให้ลูกกิน เพราะเท่ากับกำลังฝึกนิสัยการกินที่ไม่ดีให้ลูก ครั้งหน้าถ้าไม่มีรางวัลจ้างให้ลูกก็ไม่สนที่จะกิน
10 ไม่ควรให้เด็กกินอาหาร ถ้ายังดูเหนื่อยจากการเล่นอยู่
11 เด็กวัย 1-3 ปี ต้องให้เวลาในการกินมากหน่อย อย่าเร่งรัดมากเกินไป ถ้าเห็นว่าเด็กจะเล่นอาหารมากกว่ากินก็ควรเก็บสำรับ เป็นการหัดให้เด็กรู้จักเวลา และปรับตัวกับเรื่องการรับประทานอาหารเป็นมื้อต่อไป
12 ให้สิทธิ์ในการเลือกรับประทานอาหารบนโต๊ะได้ตามใจชอบ และปล่อยให้ลูกได้ใช้มือหยิบหรือใช้ช้อนตักอาหารด้วยตัวเอง อย่าพะวงกับเรื่องเลอะเทอะและคอยช่วยเหลือตามป้อนลูก แค่คอยดู ช่วยเหลือเมื่อเห็นว่าลูกต้องการก็พอ
13 พอเด็กโตขึ้นมาหน่อย ควรให้มีส่วนช่วยทำอาหารบ้างนิดๆ หน่อยๆ เด็กจะสนุกและปลื้ม นึกอยากกินฝีมือตัวเองขึ้นมาบ้าง
14 ถ้าเด็กวัย 1-3 ปี ไม่รับประทานอาหารบ้าง แต่ยังดูแข็งแรงร่าเริงดีก็อย่าเป็นกังวลจนเกินไป เพราะเมื่อเด็กหิวและต้องการ หลังจากเล่นและพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะกินอาหารได้ดีขึ้นเอง