สารพัดเทคนิคที่จะช่วยให้การเริ่มอาหารใหม่ให้ลูกวัยเบบี๋สัมฤทธิ์ผล แบบที่ลูกหม่ำได้ และยังได้สตาร์ทนิสัยการกินที่ดีไปด้วยในตัวด้วยค่ะ
1. วัย 6 เดือนเป็นช่วงที่คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำให้อาหารเสริมได้ นอกเหนือจากนี้คุณแม่สามารถสังเกตความพร้อมของลูกได้จากท่าทีเหล่านี้ค่ะ
2.บรรยากาศต้องดี เลือกช่วงเวลาที่คุณเองไม่เครียดหรือรีบร้อน และลูกดูผ่อนคลาย เพราะถ้าเป็นบรรยากาศเครียดอาจทำให้ลูกไม่กินอาหารและไม่เกิดการเรียนรู้การกิน
3.เลือกที่ที่คนไม่พลุกพล่าน เพื่อดึงความสนใจในการกินของลูก เพราะหนูวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
4. เวลาในการเริ่มอาหารเสริมทำได้หลายวิธีแล้วแต่ความชอบของหนูๆ แต่ละคนค่ะ
เมื่อลูกยอมรับอาหารแล้วค่อยปรับเวลาให้อาหารเสริมมาเป็นช่วงก่อนให้นม คือหลังกินอาหารเสริมแล้วก็ปิดท้ายด้วยนมจนลูกอิ่ม
5.การให้อาหาร 1 มื้อแรกแนะนำให้เป็นมื้อเช้าค่ะ เผื่อฉุกเฉินว่าลูกมีอาการผิดปกติอะไรจะได้เกิดในช่วงกลางวัน ซึ่งสะดวกในการดูแลแก้ไขมากกว่ากลางคืน
6.ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องเริ่มอาหารชนิดใดก่อน เพียงแต่ถ้าเป็นข้าวหรือธัญพืชโอกาสที่ลูกแพ้จะมีน้อยกว่าอาหารชนิดอื่น
7.การป้อนอาหาร แม่ควรนั่งในท่าสบาย อุ้มลูกให้อยู่ในลักษณะกึ่งนั่งศีรษะสูง ใช้ช้อนปลายมน ตื้นและขนาดเล็กพอเหมาะกับปากลูก
8. เริ่มให้ทีละน้อย แค่ติดปลายช้อนหรือ 1-2 ช้อนเล็กก็เหลือเฟือสำหรับขั้นเริ่มต้น แต่ถ้าลูกดูจะรับอาหารใหม่ได้ดีจะเพิ่มไปมากกว่านี้บ้างก็ไม่ผิดค่ะ
9. เริ่มให้ธัญพืชชนิดใหม่ทุก 5-7 วัน และทิ้งช่วงไว้ 2-3 วัน ระหว่างนี้อย่าเพิ่งให้ธัญพืชหลายชนิดรวมกัน จนกว่าจะแน่ใจว่าลูกไม่มีอาการแพ้
10. ถ้าลูกชอบหรือคุ้นกับข้าวแล้ว ควรเริ่มให้อาหารบดหรือต้มเปื่อยชนิดอื่น ควรเริ่มที่ผักก่อนผลไม้ เพื่อสอนให้ลูกพอใจในผักที่มีรสชาติอ่อนกว่าผลไม้
11. การให้อาหารชนิดใหม่ทุกครั้งไม่ควรผสมกับอาหารชนิดอื่น เพื่อง่ายต่อการสังเกตอาการแพ้หรืออาการผิดปกติของลูก
12. เว้นระยะถ้าลูกปฏิเสธไปสัก 2-3 วันหรือ 1 สัปดาห์ค่อยเริ่มใหม่ การฝืนใจให้ลูกกินเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สวยเท่าไหร่ เพราะคุณกำลังสร้างความรูสึกไม่ดีต่ออาหารและการกินให้ลูกอีกอย่างการปฏิเสธนั้นไม่ได้หมายความว่าลูกไม่ชอบ แต่อาจเป็นเพราะไม่คุ้นเคยกับอาหารนั้น
13. จำไว้ว่าไม่มีอาหารชนิดไหนที่ไม่มีอาหารอื่นทดแทน ยิ่งอุดมสมบูรณ์อย่างบ้านเราด้วยแล้วยิ่งมีตัวช่วยให้เลือกแทนชนิดที่ลูกขอบายได้ตั้งหลายชนิด
14. อย่าถอดใจไปเสียก่อน ถ้าเห็นลูกกินน้อยหรือไม่ยอมกิน นั่นเพราะเขาต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ที่จะจัดการกับอาหารแปลกใหม่ ตั้งแต่วิธีการรับอาหารเข้าปาก รับรสชาติใหม่ไปจนถึงกลืนอาหาร
15. เรียนรู้การแสดงออกของลูกต่ออาหาร เช่น ถ้าป้อนอาหารแล้วลูกดุนอาหารออกมากกว่ากินเข้าไปแสดงว่าลูกยังไม่พร้อมรับอาหารใหม่ ถ้าหิวหนูๆ มักจะแสดงอาการกระตือรือร้นโดยเคลื่อนไหวมือไปมา เตะเท้า เมื่อเห็นอาหารจะอ้าปากและเอนตัวเข้าหา แต่ถ้าไม่หิวจะปิดปากและขยับศีรษะออก