ภายในช่องปากเล็กๆ ของลูก มีปัญหาและสิ่งที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังมากมาย เจ็บไข้วัยเด็กคราวนี้จึงขอรวบรวมปัญหา top 10 มาคลายข้อสงสัยของคุณแม่กันค่ะ
1. ลิ้นเป็นฝ้าขาว
หลังจากลูกกินนมแล้ว หากไม่ทำความสะอาดคราบนมเกาะอยู่ตามสันเหงือก กระพุ้งแก้มก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ เกิดฝ้าขาวที่เพดานปาก ลิ้น และฟันผุ
ดูแลอย่างไรดี : หลังจากดื่มนมทุกครั้งให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันที่นิ้วเช็ดที่บริเวณลิ้น และเพดานปากลูก
2. ฟันน้ำนมขึ้นไม่ครบ 20 ซี่
ฟันน้ำนมมีพัฒนาการตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ตอน 6 สัปดาห์ โดยการรวมตัวของเนื้อเยื่อเกิดเป็นหน่อฟัน อยู่ภายในบริเวณที่จะเจริญเป็นกระดูกขากรรไกรบน 10 หน่อ และขากรรไกรล่าง 10 หน่อ และถ้าหากหน่อฟันสร้างไม่ครบ 20 หน่อก็จะทำให้จำนวนฟันน้ำนมผิดปกติไป เด็กบางคนมีฟันน้ำนมไม่ครบ 20 ซี่หรือมีฟันแฝดคือ ฟัน 2 ซี่เชื่อมติดกัน
ดูแลอย่างไรดี : ไม่จำเป็นต้องแก้ไขหรือรักษาแต่อย่างใด แต่จำนวนฟันที่ไม่เท่ากันอาจมีผลต่อพื้นที่ที่กว้างไม่พอเพียงต่อขนาดของฟัน แท้ที่อยู่ข้างใต้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนหรือเกได้
3. ฟันน้ำนมผุตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี
โรคฟันผุพบในเด็กตั้งแต่อายุก่อน 1 ปี และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเด็กอายุ 1-3 ปี เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้ ทำให้ฟันน้ำนมผุง่ายกว่าฟันแท้เพราะมีเคลือบฟันบางกว่า รวมถึงมีแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบน้อยกว่าฟันแท้ บริเวณโพรงประสาทฟันน้ำนมมีชั้นของเคลือบฟันและเนื้อฟันปกคลุมอยู่บางๆ การผุของฟันน้ำนมจึงลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็ว
ดูแลอย่างไรดี : การที่ฟันผุตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลให้รักษายาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรป้องกันด้วยการตรวจและดูแลรักษาความสะอาดฟันของลูกตั้ง แต่ลูกอายุก่อน 1 ปี โดยเฉพาะการตรวจคราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟัน บริเวณคอฟันของฟันหน้าบน ฟันน้ำนมที่ผุระยะเริ่มต้นจะลุกลามไปเป็นรูผุได้ในเวลา 6-18 เดือน
4. ฟันซี่ไหนผุง่าย
ตำแหน่งที่ฟันผุง่ายมี 2 จุดคือ ฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง บริเวณที่พบมากคือคอฟันที่อยู่ติดกับเหงือกเนื่องจากเด็กดูดนม รวมถึงเป็นบริเวณที่มีน้ำลายไหลผ่านน้อย การชะล้างตามธรรมชาติจากน้ำลายจึงทำได้ไม่ดีนัก ขณะที่ฟันหน้าล่างอยู่ใกล้รูเปิดของต่อมน้ำลายใต้ลิ้น น้ำลายจึงหลั่งออกมาชะล้างฟันได้มาก
อีกจุดก็คือฟันกรามด้านบดเคี้ยวมีหลุมและร่องฟันลึก บริเวณซอกฟันระหว่างฟัน 2 ซี่ก็เป็นตำแหน่งที่ผุได้ง่าย เพราะปลายขนแปรงสีฟันเข้าไปทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ดูดนมจากขวด ทำให้ฟันแช่อยู่ในนมนาน ยิ่งเป็นนมหวานฟันก็จะผุง่ายขึ้น
ดูแลอย่างไรดี : เด็กควรเลิกดื่มนมจากขวดเมื่ออายุ 12-18 เดือน ควรฝึกให้เด็กดื่มนมจากถ้วย เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการดื่มนมจากถ้วยน้อยกว่าการดื่มนมจากขวด เวลาที่นมตกค้างในช่องปากจึงลดลงไปด้วย และหลีกเลี่ยงนมรสหวาน
5. อุ๊ย...เสียวฟัน
ฟันผุในระยะเริ่มแรกที่ชั้นเคลือบฟัน เด็กจะไม่มีอาการใดๆ เมื่ออาการผุลุกลามไปสู่ชั้นเนื้อฟัน จึงเริ่มรู้สึกเสียวฟันหรือปวดฟันเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเย็น ถ้าไม่อุดฟันการผุจะลุกลามเข้าสู่ชั้นโพรงประสาทฟัน อาจเกิดการติดเชื้อ บวมและมีตุ่มหนองบริเวณเหงือกเหนือฟันซี่ดังกล่าว เด็กจะมีอาการปวดฟันตลอดเวลา ไม่อยากรับประทานอาหาร งอแง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
ดูแลอย่างไรดี : เมื่อสังเกตอาการผิดปกติของลูก หรือพบว่าลูกเริ่มเสียวฟันควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ประเมินว่าควรอุดฟันหรือไม่
6. พบหลุมร่องฟันเป็นสีดำ...ฟันผุหรือเปล่า
ถ้าในฟันกรามน้ำนมที่ชั้นเคลือบฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำบริเวณหลุมร่องฟัน แต่ยังไม่เป็นรูนั้นยังไม่ต้องรักษา แต่ต้องดูแลแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อยับยั้งไม่ให้ลุกลามเป็นรู และคอยตรวจเป็นระยะเพื่อดูว่ามีการลุกลามของโรคฟันผุเพิ่มขึ้นหรือไม่
ดูแลอย่างไรดี : หากฟันผุลุกลามจนเกิดเป็นรูแล้วแต่ไม่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน แพทย์จะรักษาด้วยการอุดฟัน ส่วนการผุที่ลุกลามถึงโพรงประสาทฟันต้องรักษารากฟัน พร้อมบูรณะฟันน้ำนมให้อยู่สภาพเดิมโดยการใส่ครอบฟันซึ่งเป็นเหล็กไร้สนิม เพื่อให้เด็กได้ใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
7. ครอบฟันน้ำนมจำเป็นไหม
ถ้าคุณแม่ไม่สังเกตอาการฟันผุของลูก ปล่อยให้ลูกสูญเสียเนื้อฟันจนถึงรากฟัน ถือเป็นขั้นสุดท้ายที่จะให้คุณหมอพิจารณาว่า เราจะต้องรักษาฟันซี่นั้นไว้หรือไม่
ดูแลอย่างไรดี : ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาว่ารากฟันน้ำนมเหลือแค่ไหน หากสูญเสียไปมากแล้ว หมอก็ไม่แนะนำให้ครอบฟัน การดูว่ารากฟันเหลือแค่ไหน ไม่ได้ดูที่อายุเด็ก เพราะว่าเด็กแต่ละคนฟันขึ้นเร็วช้าต่างกัน เด็กเกิดวันเดียวกัน ฟันน้ำนมอาจจะหลุดเร็วช้าต่างกันได้ การครอบฟันให้เด็ก ข้อดีคือ เด็กสามารถใช้กัดฉีกอาหารได้ พูดได้ชัด ฟันล่างซี่ที่ตรงกันไม่ยื่นออกมา (เพราะว่าฟันบนต้องคร่อมฟันล่าง)
8. ฟันแท้ไม่ขาวเหมือนฟันน้ำนม
ลักษณะของฟันน้ำนมจะมีขนาดเล็กกว่าฟันแท้และมีสีขาวมากกว่า ส่วนฟันแท้จะมีสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย เพราะฟันน้ำนมมีส่วนประกอบเป็นน้ำมากกว่า
ดูแลอย่างไรดี : การที่ฟันมีสีเหลืองเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการขัดฟันหรือฟอกสีฟันแต่อย่างใด
9. ฟันบิ่น-ฟันหัก
ถ้าความซนของลูกทำให้ฟันของลูกไปกระแทกกับสิ่งของแข็งๆ จนแตกหัก หรือบิ่น หลังจากรักษาแผลและห้ามเลือดแล้ว ควรทำอย่างไรกับฟันที่บิ่นและหักนั้น
ดูแลอย่างไรดี : ส่วนใหญ่ฟันที่ได้รับการกระแทกมักเป็นฟันหน้า ถ้าฟันที่ถูกกระแทกนั้นบิ่นไปเพียงเล็กน้อย เลือดไม่ออกที่ฟันแสดงว่าฟันยังไม่หักจนทะลุโพรงประสาทที่อยู่ในฟัน กรณีนี้ให้พาลูกไปพบทันตแพทย์ โดยพยายามหาเศษฟันที่แตก เพราะอาจบูรณะฟันขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้าฟันบิ่นมาก มีจุดเลือดออกที่บนฟัน นั่นแสดงว่าฟันหักจนทะลุโพรงประสาท ต้องรีบไปพบทันตแพทย์ทันที
10. ลูกกลัวหมอฟัน
เด็กๆ ส่วนใหญ่จะกลัวหมอฟัน เนื่องจากเด็กจะจินตนาการว่า หมอฟันใส่หน้ากากปิดปากน่ากลัวแถมมีอุปกรณ์แปลกๆ มากมาย รวมไปถึงการทำฟันจะทำให้เด็กเจ็บปวดได้
ดูแลอย่างไรดี : ควรเริ่มต้นพาลูกไปพบหมอฟันตั้งแต่ลูกยังไม่มีฟันผุ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับหมอฟัน เก้าอี้ทำฟัน และเครื่องมือชนิดต่างๆ ของคุณหมอ ในการตรวจครั้งแรกลูกจะได้นั่งเก้าอี้ของหมอฟัน หมอจะเปิดไฟส่องดูฟัน และใช้กระจกเล็กๆ ช่วยเข้าไปส่องดู และคุณหมอจะขัดฟันให้เด็กด้วยหัวขัดยางกับผงขัด เพื่อให้เด็กเริ่มรู้จักเครื่องมือที่หมุนๆ มีเสียง และการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปาก เมื่อคุ้นเคยและไม่ได้เจ็บตัวตั้งแต่พบกันครั้งแรก ก็จะช่วยทำให้อาการกลัวหมอฟันไม่เกิดขึ้นได้ค่ะ
เพียงใส่ใจดูแลกันสักนิดลูกตัวน้อยของคุณก็จะเป็นเจ้าของฟันแข็งแรง ยิ้มสวยมั่นใจแล้วล่ะค่ะ