Over No.1 สัตว์ประหลาดในห้องนอน
คุณคิด ? “เหลวไหลทั้งเพ สัตว์ประหลาดไม่มีจริงสักหน่อย”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “พวกมันจะมาตอนกลางคืน ทั้งบนกำแพง ในตู้ ใต้เตียง มีพวกมันซ่อนอยู่เต็มเลย น่ากลัวจังแม่จ๋า”
เด็กๆ เชื่อว่า มีสัตว์ประหลาดอยู่ในห้องนอนจริงๆ ค่ะ ไม่ได้เป็นการแต่งเรื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจแต่อย่างใด สารพัดเงาในห้อง เสียงติ๊กต่อกของนาฬิกา เสียงพื้นไม้ลั่นดังเปรี๊ยะ เสียงพัดลมหมุนหึ่งๆ หรือแม้แต่เสียงกรึ้งๆ ของคอมเพลสเซอร์แอร์ ที่พอรวมเข้ากับความมืดยามค่ำคืนแล้ว พาให้ลูกน้อยรู้สึกวังเวง จินตนาการถึงสัตว์ประหลาดตัวใหญ่น่ากลัวจับใจได้ค่ะ
*หาเวลาเข้าไปสำรวจ ห้องนอนของลูกในยามค่ำคืน แล้วสังเกตดูว่า ภาพเงาต้นไม้จากนอกห้อง เงาสะท้อนของกระจก หรืออะไรก็ตามที่คุณเห็น ดูน่ากลัวเป็นเงาตะคุ่มๆ เหมือนสัตว์ประหลาด หรือมนุษย์ต่างดาวจากนอกโลกที่แสนน่ากลัวหรือเปล่า
ถ้า ใช่ลองย้ายเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นต้นกำเนิดความน่ากลัว เปิดไฟดวงเล็กทิ้งไว้ยามค่ำคืน และพูดให้ลูกมั่นใจว่า คุณจะรีบมาหาทุกครั้งที่เขาต้องการ เท่านี้ก็ช่วยให้ลูกมั่นใจก่อนเข้านอนแล้วค่ะ
Over No.2 ร้อนจริง เย็นจัง
คุณคิด ? “โอ้โฮ... อาหารอุ่นๆ ทำไมต้องทำเหมือนร้อนจัดขนาดนั้นด้วยนะ เวอร์จริงๆ เลยลูกเรา”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “โอ๊ย... ร้อนจังเลย”
สังเกต มั้ยคะว่า เด็กวัยนี้ชอบบ่นงอแงเกี่ยวกับอาหารที่ร้อนจนเกินไป หรือไม่ก็บ่นอุบตอนอาบน้ำว่า จ๊ากๆ ว๊ากๆ น้ำเย็นจัง ลองนึกย้อนตอนคุณเป็นเด็กสิคะ อย่าบอกนะว่าคุณไม่เคยคายอาหารที่แม่ป้อนออกจากปากเพราะรู้สึกร้อนจนลิ้นแทบ พอง หรือตอนอาบก็ไม่เคยร้องจ๊ากเพราะน้ำเย็นเจี๊ยบ
*วัยเตาะแตะแม้จะ ต้องการแสดงความเป็นตัวตน และมั่นใจสุดโต่งบางเรื่อง แต่ยังหวาดกลัวกับเรื่องอุณหภูมิร้อนจัดเย็นจัดอยู่ค่ะ คุณจึงต้องทำความเข้าใจลูกให้มาก อย่าคิดว่าสิ่งที่ลูกทำโอเวอร์จนเกินเหตุ และดุว่า ตะคอกลูก เพราะนอกจากลูกจะคิดว่าคุณไม่เข้าใจแล้ว เขายังเกิดความกลัวจนไม่อยากจะกินอาหารต่อ แม้คุณจะคะยั้นคะยอป้อนให้ หรืออาบน้ำให้ได้ค่ะ
Over No. 3 หนูไม่รู้จริงๆ นะ
คุณคิด ? “ลูกทำไมต้องตัดรูปถ่ายที่เราเพิ่งไปเที่ยวกันมาด้วย”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “หนูไม่รู้ รู้แต่ว่า ต้องตัดน่ะ”
เคยรู้สึกไหมว่าทำไมลูกถึงทำอะไรที่ดูไม่มีเหตุผล พอถามก็ได้คำตอบว่า “หนูไม่รู้” หรือเปล่าคะ?
อย่า คิดว่า พฤติกรรมต่างๆ ที่ลูกวัยนี้ทำมีเหตุผลไปเสียหมด เพราะความจริงแล้วเขาทำโดยไม่รู้เหตุที่ทำจริงๆ อย่าประหลาดใจที่อยู่ๆ ลูกจะลุกขึ้นมาตัดผมตุ๊กตา หรือผมตนเองเล่นจนแหว่งเป็นจุดๆ ฉีกภาพถ่ายแสนประทับใจในอัลบั้มจนแทบเกลี้ยง บี้มด กินอาหารปลา ฯลฯ
*จริง อยู่ค่ะว่าพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คุณแทบคลั่ง แต่สิ่งที่คุณควรทำความเข้าใจคือ พฤติกรรมหุนหันพลันแล่นทำอะไรโดยไม่คิดนั้นเป็นสัญลักษณ์ของวัยเด็ก และแฝงไว้ด้วยการทดลองสิ่งแปลกใหม่ด้วยตัวเอง จนลืมถามคุณไปว่า “ทำนี่ได้มั้ยแม่?”
คุณจึงต้องเข้าใจความคิดของลูกวัยนี้ค่ะ และจับตาดูพฤติกรรมแปลกๆ ของลูกไม่ให้เกินขอบเขต เพราะพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การทดลองหยิบถั่วยัดจมูก เอามือแหย่ปลั๊กไฟ กระชากหางสุนัข ดึงหูแมว ฯลฯ อาจนำมาซึ่งอันตรายได้
Over No. 4 แมลงน่าตื่นตาตื่นใจจัง
คุณคิด ? “ยี้... ลูกไปนั่งจ้องหนอน กับไส้เดือนนานๆ ได้ยังไง ขยะแขยงจัง”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “โห... ตัวอะไรเนี่ย ยาวๆ”
เด็กวัยนี้ชอบดูแมลงค่ะ เมื่อไรที่ได้ไปเล่นตามสวนสาธารณะ เป็นต้องตื่นเต้นกับพวกผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง หนอน ไส้เดือน ฯลฯ พอเจออะไรแปลกใหม่ก็รีบจับ รีบหยิบมาให้คุณดู จนโดนต่อย โดนกัด หรือบางทีก็ขยี้จนบี้แบนด้วยความไม่ตั้งใจ
*แนะนำว่า สำรวจโลกไปพร้อมลูกดีที่สุดค่ะ เพราะเขายังไม่รู้ว่าแมลง หรือสัตว์อะไรที่มีพิษ อะไรจับได้ ไม่ได้ ที่สำคัญ คุณจะได้อธิบายให้ลูกรู้จักชื่อของสัตว์ต่างชนิด และพฤติกรรมให้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น อ้อ... อย่ากังวลกับเรื่องเลอะเทอะของลูกนะคะ เพราะการบ่นลูกเรื่องเล่นสกปรก หรือตามดูแลลูกไม่ให้กระดิกกระเดี้ยวทำอะไรเพราะกลัวเลอะนั้น จะไปปิดกั้นการเรียนรู้ของลูกค่ะ แต่สิ่งที่คุณคสวรทำคือเวลาลูกสนุกก็ต้องทำตัวให้สนุกตามลูกค่ะ
Over No. 5 พูด “ทำไม” บ๊อย บ่อย
คุณคิด ? “ขี้สงสัยจริงๆ เลย”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะแม่ แล้วทำไม...?”
ความเข้าใจในเรื่องใหม่ๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกวัยนี้ค่ะ ลูกมักพูด “ทำไม” อยู่บ่อยๆ ที่ลูกพูดอย่างนั้นไม่ได้แกล้งทำหรอกค่ะ แต่เป็นเพราะพวกเขาสงสัยจริงๆ และต้องการคำตอบด้วยสิ
*ดัง นั้น คุณควรให้เหตุผลแบบง่ายๆ และเข้าใจได้ เช่น ถ้าลูกถามว่า “ทำไมหนูบินไม่ได้เหมือนนก” ก็ตอบว่า “เพราะหนูไม่มีปีกไงจ๊ะ” อย่าทำเป็นหูทวนลมกับคำถามลูกเชียวค่ะ เพราะยิ่งคุณเงียบ ลูกก็จะยิ่งยิงคำถาม “ทำไมๆๆ” อยู่ไม่ยอมเลิกรา หากไม่รู้จะหยุดความคับข้องใจนี้ยังไง แนะนำว่า ชวนลูกคุยสิ่งที่เขาสนใจ หรือหันเหความสนใจไปที่สิ่งอื่นจะดีกว่าค่ะ อ้อ...ไม่ควรดุด่าว่าถามไร้สาระเป็นอันขาดนะคะ เพราะจะทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง จนกลายเป็นเด็กไม่กล้าถามอีกเลย
Over No. 6 เพื่อนในจินตนาการ
คุณคิด ? “พักนี้พูดคนเดียวบ่อยจัง เป็นอะไรหรือเปล่าเนี่ย”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “เดี๋ยวเราไปเล่นอะไรกันต่อดีนะ”
รู้นะว่าคุณรู้สึกแปลกๆ ที่เห็นลูกนั่งเล่นป้อนข้าว ป้อนน้ำ พูดคุยประจ๋อประแจ๋กับเพื่อนที่ไร้ตัวตนมองไม่เห็น
*เด็ก วัยเตาะแตะจะเรียนรู้ประสบการณ์ทางสังคมที่หลากหลายผ่านปฏิสัมพันธ์หลากรูป แบบค่ะ การเลียนแบบพฤติกรรม การเข้าสังคมผ่านการเล่นคนเดียวของลูก จะช่วยให้ลูกเกิดความมั่นใจมากขึ้น
ปล่อยให้ลูกวัยนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไป กับการเล่นคนเดียวบ้างก็ไม่ผิดค่ะ เพราะการปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อนในจินตนาการจะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของ ลูก เตรียมพร้อมก่อนลุยเล่นกับเพื่อนจริงๆ ได้
Over No. 7 อะไรก็ “ไม่ ไม่” ซะโอเวอร์
คุณคิด ? “ทำไมเลี้ยงยากจัง”
เจ้าตัวน้อยคิด ? “ไม่เอา หนูไม่ทำ ไม่!!”
พฤติกรรม อะไรก็ “ไม่” ปฏิเสธทุกสิ่งที่คุณอยากให้เขาทำก็เพราะเขารู้สึกเป็นตัวของตัวเองค่ะ เนื่องจาก ตอนนี้ลูกทำทุกอย่างได้เองแล้วทั้งยืน เดิน นั่ง หยิบ คล่องแคล่ว จนอยากทดลองสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเอง อีกทั้งพอหนูจะเดิน จะทำ จะนั่ง พ่อแม่ก็คอยมาดู มาสั่งให้ทำนู่นนี่บ่อยๆ เรียกว่าอะไรก็ห้ามไปหมด ทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นมาค่ะ
*เพราะฉะนั้น คุณต้องทำความเข้าใจว่า พฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการวัยเตาะแตะ แต่ก็ไม่ปล่อยจนทำให้เกิดพฤติกรรมด้านลบ เอาตัวเองเป็นใหญ่นะคะ
ถ้าวัน ใดวันหนึ่งลูกหงุดหงิด ไม่ทำตาม พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น โดยเบี่ยงเบนให้ลูกสนใจสิ่งอื่น หรืออธิบายให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งที่คุณต้องการให้ลูกทำนั้นดีกับเขาอย่างไร และคุณจะดีใจแค่ไหนที่ลูกได้ทำสิ่งนั้นๆ ค่ะ
วัยเตาะแตะเป็นวัยแห่งความ สดใส ร่าเริงค่ะ หากคุณยอมรับ เข้าใจ และแอบอมยิ้มไปกับพฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากทำให้ลูกมั่นใจ เกิดการเรียนรู้เชิงเหตุผลแล้ว คุณก็ไม่ต้องมานั่งกลุ้มกับพฤติกรรมแปลกๆ ที่คุณก็เคยทำแล้วล่ะค่ะ